ผู้ว่าฯกยท. เผยราคายางมีโอกาสขยับขึ้น 70 บาท/ก.ก.

ผู้ว่าฯกยท. เผยแนวโน้มราคายางปรับตัวขึ้นไปถึง 70 บาทต่อกก. มั่นใจกองทุนรักษาราคายาง ทำกลไกสองตลาดดันราคาในทิศทางบวก ลดปัจจัยเสี่ยงจากตลาดภายในนอกประเทศ มากดราคายางเกษตรกรไทย ชี้ได้ผลดีระยะยาวกว่าประกัน จำนำ ระบุ บิ๊กฉัตร วางเป้าใช้ยางในประเทศแสนตันต่อปีดันราคายางเพิ่มมหาศาล”

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคายางพารามีแนวโน้มขยับตัวต่อเนื่องขึ้น จะเห็นว่าราคายางแผ่นรมควันชั้นสาม ขยับจาก 49 บาทต่อกก.ช่วงเดือน ก.ค.ขึ้นมากว่า 58-60 บาทต่อกก.โดยตั้งเป้าราคาไปได้ถึง 70 บาท ทั้งนี้จากที่กองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง เข้าซื้อขายยางทั้งในตลาดซื้อขายจริง และตลาดล่วงหน้า ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของราคาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้ราคาอ้างอิงจากตลางต่างประเทศ ที่ผ่านมามีปัจจัยเสี่ยงมาก เพราะตลาดใหญ่ๆเก็งกำไรค่อนข้างสูง จึงมาส่งผลกระทบราคายางเกษตรกรไทยตกต่ำมาตลอด

“กองทุนยางฯเข้าเทรด ช่วงกลางเดือน ก.ค. เดิมที่กยท.เข้าซื้อด้วยทุนของกยท.เอง มาเดือนส.ค.ได้รับทุนเพิ่มเติม จาก5 บริษัทรายใหญ่ รวมวงเงิน 1.2 พันล้านบาท เข้าซื้อทั้งสองตลาด ซึ่งตลาดซื้อขายยางจริง จะเปิดเวลา11.00 น.ส่งราคาไปทั่วประเทศ ใช้เป็นราคากับผู้ซื้อขายไปซื้อจากเกษตรกร อีกส่วนเข้าซื้อขายในตลาดสัญญาล่วงหน้า(ทีเฟ็ก) สมัยก่อนประเทศไทยใช้ราคาอ้างอิง จากตลาดโตคอม  ไซคอม เซียงไฮ้ นำมาหักลบส่วนต่าง และภาษี มาใช้ซื้อขายในประเทศ ซึ่ง ทำให้เราไปพึ่งราคาภายนอกสูงมากไป รับความผันผวนจากตลาดเก็งกำไร ค่อนข้างมาก บางวันการซื้อขายไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยพื้นฐาน ทำให้เราเกิดความเสี่ยงมาตลอดไปอ้างอิงตลาดนี้”นายธีธัช กล่าว

ผู้ว่าฯกยท.กล่าวว่ากยท.ทำให้เกิดราคาอ้างอิงทั้งสองตลาดในไทยอยู่ในทิศทางมีส่วนทำให้ราคาไปทางทิศทางบวก เป็นการใช้กลไกด้านการตลาดในประเทศ ผันผวนน้อย ต่างจากในอดีตเลือกใช้งบประมาณไปประกันราคาหรือจำนำ ซึ่งไม่ได้ผลเสมอไป ยังเพิ่มภาระกับงบประมาณแผ่นดินภายหลัง สต็อกเพิ่ม มีการทุจริต

“ใช้ความร่วมมือเอกชนรายใหญ่ ออกเงินมาร่วมลงขัน  ดันราคายางไปตามเป้าหมาย 60-70 บาทต่อกก.ในเดือนก.ย.เพื่อเกิดเสถียรภาพ ตามที่กองทุนฯตั้งไว้ วันนี้ก็มาใกล้แล้ว ทำให้เกษตรกรสวนยาง อยู่ได้ จากต้นทุนล่าสุดที่สำนักงานเศรษฐฺกิจการเกษตร(สศก.)สรุปตัวใช้การคำนวน 50.30 บาทต่อกก. บวกกำไรตามปกติ 15-20% ราคาขายอยู่ประมาณ 60 บาท เมื่อได้ราคา70 บาท จะได้กำไร สูงเกินค่าเฉลี่ยขึ้นไปอีก”นายธีธัช กล่าว

ผู้ว่าฯกยท.กล่าวถึงมาตรการใช้ยางในประเทศ ล่าสุด กยท อนุมัติงบเพิ่มเติม 29 ล้านบาท นำผลทดสอบการนำน้ำยางมาราดถนน ที่ทำจริงเป็นค่ามาตรฐาน ไปให้ทุกหน่วยอ้างอิง ในการตั้งทีโออาร์ จัดซื้อจัดจ้าง ขณะเดียวกัน บางหน่วยงานไม่จำเป็นไม่ต้องใช้ กรมชลประทาน นำยางราดทำถนนคลองแนวเขื่อน ซึ่งมีมาตรฐานของกรมชลฯเอง ซึ่งหน่วยทหาร ต่างๆได้รับงบสนับสนุน ทำถนนภายในหน่วยงาน ภายใน2-3 เดือน จะออกมาเป็นรูปธรรม โดยปีนี้ ใช้ยาง 2-3 หมื่นตัน ในปีหน้า รมว.เกษตรฯให้แต่ละหน่วยงาน ส่งตัวเลขเป้าหมายใหม่ หากได้ 1 แสนตัน ราคาดีขึ้นมหาศาล  เมื่อเทียบกับทั่วโลกใช้ยางปริมาณ 12 ล้านตัน ไทยส่งออก 3 ล้านกว่า ผลิตได้ 4.4 ล้านตัน ที่ผ่านมาใช้ในประเทศ 6 แสนตัน หากเพิ่มใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น สัดส่วนส่งออกน้อยลง ผู้ใช้ต้องการของ ก็จะให้ราคาเพิ่ม นอกจากนี้ในวันที่ 15 ก.ย. ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีสามประเทศ ผู้ผลิตยาง เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทั้งได้ทำหนังสือเชิญประเทศเวียดนาม ที่ปลูกมาก อันดับสามมาร่วมด้วย เพื่อวางมาตราการเตรียมรองรับความความผันผวนด้านราคา และมาตรส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกยาง สร้างเสถียรภาพยางในกลุ่มประเทศสมาชิก