กล้วยฉาบปานน้อย…เมืองแพร่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปภายใต้ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ”

ปี 2560 ผลไม้ในภาคเหนือตอนบน มีภาวะผิดปกติที่ราคาตกต่ำกันถ้วนทั่วทุกชนิด ยกเว้นทุเรียน เริ่มจากผลผลิตกล้วยน้ำว้า สับปะรด ลำไย ลิ้นจี่ แก้วมังกร ส้มโอ ส่งผลให้ในปัจจุบันพื้นที่ทำการเกษตรเริ่มลดน้อยถอยลง จำนวนเกษตรกรก็ลดจำนวนลง เหลือแต่เกษตรกรผู้สูงวัย การเกษตรยังมีความเสี่ยงทั้งจากดิน ฟ้า อากาศ การตลาด ราคาผลผลิต ความปลอดภัยด้านสุขภาพ แต่…ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องกิน การเกษตรและการแปรรูปสินค้าเกษตรก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพื่อตอบสนองปัจจัยสี่ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งล้วนแต่พึ่งพาผลผลิตจากภาคเกษตรทั้งสิ้น

ดังนั้น การทำการเกษตรให้ยั่งยืน เกษตรกรในหลายพื้นที่เริ่มปรับเปลี่ยนความคิดจากการผลิตเพื่อขายผลสดมาเป็นผู้ผลิตเอง แปรรูปเอง และขายเอง สู่มือผู้บริโภคโดยตรง ด้วยการตลาดรูปแบบต่างๆ

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ มีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้า ที่ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ประสบปัญหาราคากล้วยน้ำว้าตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี เสียงเรียกร้องของเกษตรกรเป็นข่าวครึกโครม ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ และปัญหาดังกล่าวได้ขยายวงกว้างไปยังอำเภอข้างเคียง แต่อีกภาพหนึ่งผู้บริโภคในเขตเมือง ก็ยังซื้อกล้วยน้ำว้าในราคาหวีละ 25-40 บาท กันอยู่ หน่วยงานหลายฝ่ายในพื้นที่ต่างก็เข้ามาร่วมมือกันแก้ไขปัญหา แต่สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งเกษตรกรได้พยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาเช่นกัน ดังกรณีของเกษตรกรบ้านแม่ปานนอกได้ร่วมกันแปรรูปกล้วย แล้วทดลองขายกันในหมู่บ้านก่อนส่งออกตลาดนอกชุมชน เพราะถ้าไม่ช่วยกัน ปีหน้าปัญหาก็จะตามมาอีก

เกษตรกรจึงใช้วิธีต่างคนต่างนำวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นกล้วยเกล็ดน้ำตาล เพื่อหาจุดเด่น บทสรุปจากสูตรของใครสักคน ในช่วงเวลานั้น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอลอง (ศพก.) ได้จัดฝึกอบรมการแปรรูปกล้วย และต่อมาเทศบาลตำบลแม่ปานก็จัดฝึกอบรมอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มแปรรูปกล้วยจึงได้ดำเนินการแปรรูปกล้วยฉาบเพื่อทดลองตลาดกับผู้บริโภค

จังหวะและโอกาส เดือนกรกฎาคม 2560 มี “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” เข้ามาในพื้นที่ เกษตรกรกลุ่มนี้จึงได้เข้าร่วมโครงการเป็นการต่อยอด เป็นกลุ่มแปรรูปกล้วยฉาบปานน้อย (ชื่อปานน้อย มาจากชื่อหมู่บ้าน)

ผู้เขียนได้ไปพบและเยี่ยมชมกิจการกล้วยฉาบปานน้อย เพื่อสอบถามกระบวนการผลิต ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การแปรรูปการตลาด ตลอดจนกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ

คุณวิลาวัณย์ เกยแก้ว อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38/4 หมู่ที่ 2 บ้านแม่ปานนอก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ประธานกลุ่มได้บอกว่า การแปรรูปกล้วยของกลุ่มมุ่งเน้นในเรื่องของความสะอาดใช้น้ำมันทอดเพียงครั้งเดียว เพื่อคำนึงถึงสุขอนามัยของผู้บริโภคเป็นหลัก สมาชิกทุกคนที่มาทำงานผ่านการฝึกอบรมมาหลายครั้ง วัตถุดิบที่นำมาใช้ เป็นผลผลิตกล้วยในท้องถิ่น มีทั้งกล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก กล้วยหอม ใช้ความแก่ของผลกล้วยที่ 70% แต่มีราคาแพงกว่ากล้วย 2 ชนิดข้างต้น เมื่อได้แปรรูปแล้ว ก่อนออกสู่ตลาดได้แบ่งปันให้ผู้บริโภคได้ชิมก่อนซื้อ จนมีการตอบรับที่ดีแล้วจึงแปรรูปอย่างจริงจัง แต่ไม่ได้แปรรูปทุกวัน สัปดาห์หนึ่งแปรรูป 3 วัน หรือตามคำสั่งซื้อ เวลาที่เหลือปฏิบัติงานในสวน

วัตถุดิบหลัก กล้วยน้ำว้า

สำหรับกรรมวิธีในการแปรรูปกล้วยฉาบปานน้อยนั้น คุณวิลาวัณย์ ให้รายละเอียดดังนี้

  1. ปอกเปลือกกล้วย ถ้ามียางกล้วยมาก จะแช่น้ำโดยใช้น้ำสะอาดผสมเกลือ อัตราเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 10 นาที
  2. นำกล้วยขึ้นมาไสด้วยเครื่องไสให้ได้แผ่นบางๆ ตามความยาวของผลกล้วย
  3. ตั้งกระทะบนเตาแก๊ส เทน้ำมันพืชใส่ลงในกระทะ เปิดแก๊สใช้ไฟร้อน นำกล้วยที่ไสไว้แล้วลงทอด ต้องให้กล้วยที่ใส่ลงกระทะเมื่อโดนน้ำมันร้อนๆ แล้วต้องฟูขึ้น จากนั้นปรับความร้อนเป็นความร้อนปานกลาง ทอดจนกล้วยเหลืองนวล ตักขึ้น พักไว้ในภาชนะให้สะเด็ดน้ำมัน
  4. ขั้นตอนการทำน้ำปรุงรส นำน้ำตาลทราย น้ำสะอาด เกลือ ลงในภาชนะ คนส่วนผสมให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเดียวกัน
  5. นำกล้วยที่ทอดแล้วและพักไว้ ลงคลุกกับน้ำปรุงรสในภาชนะ แล้วนำลงทอดในน้ำมันร้อนปานกลางอีกครั้งหนึ่ง ตักขึ้นใส่ภาชนะรองซับน้ำมัน

เมื่อกล้วยฉาบเย็นลงแล้ว นำบรรจุในภาชนะถุงพลาสติกชั่งน้ำหนัก 3 ขนาด คือ ถุงละ 100 กรัม 400 กรัม และ 1,000 กรัม ติดสติ๊กเกอร์แบรนด์กล้วยฉาบปานน้อย จัดส่งตามคำสั่งซื้อทันที

สะอาดถูกหลักอนามัย

ผลิตภัณฑ์ที่ได้

สูตรและส่วนผสม กล้วยฉาบปานน้อย

  1. กล้วยดิบที่แก่จัด 10 กิโลกรัม
  2. น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
  3. น้ำสะอาด (ไม่ต้องต้ม) 2 ลิตร
  4. เกลือป่น 3 ช้อนโต๊ะ

ไม่ใช้เครื่องปรุงรสหรือชูรสใดๆ

คุณวิลาวัณย์  เน้นย้ำว่า จุดเด่นของกล้วยฉาบปานน้อย ตามที่ผู้บริโภคบอกต่อๆ กันมาก็คือ เรื่องรสชาติ ความกรอบ กินแล้วไม่สากลิ้น

แหล่งจำหน่าย คุณวิลาวัณย์ บอกว่า ส่งตลาดท้องถิ่นอำเภอลองและในจังหวัดแพร่ มีทั้งขายปลีกและขายส่ง ตามน้ำหนักและชนิดของกล้วย ดังนี้

– กล้วยน้ำว้า (แปรรูปเป็นกล้วยเส้น)

– กล้วยหักมุก (แปรรูปเป็นกล้วยแผ่น)

น้ำหนัก 100 กรัม ถุงละ 10 บาท

น้ำหนัก 300 กรัม ถุงละ 35 บาท

น้ำหนัก 1,000 กรัม ถุงละ 100 บาท

– กล้วยหอม (แปรรูปเป็นกล้วยแผ่น)

น้ำหนัก 80 กรัม ถุงละ 10 บาท

น้ำหนัก 200 กรัม ถุงละ 35 บาท

น้ำหนัก 1,000 กรัม ถุงละ 100 บาท

เมื่อสอบถามความคิดเห็นจากสมาชิกกลุ่มว่าสิ่งที่กลุ่มแปรรูปกล้วยฉาบปานน้อย คิดและต้องการจะพัฒนาต่อไปในอนาคตคือ การเพิ่มรสชาติให้มีความหลากหลายมากขึ้น ต้องการจัดซื้อตู้อบ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การหาตลาดผ่านสื่อออนไลน์

และเมื่อถามถึงโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ที่เข้ามาส่งเสริมมีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง คำตอบคือ ช่วยให้มีงานทำช่วงที่ว่างเว้นจากงานเกษตร มีรายได้สำหรับครอบครัว

ผู้เขียนได้สนทนากับ คุณปราณี สุวรรณชัย เกษตรอำเภอลอง ในฐานะเลขานุการคณะทำงานโครงการระดับอำเภอ ว่าโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ มีส่วนช่วยการพัฒนาและเกิดผลเป็นประการใด โดยเฉพาะกับกลุ่มแปรรูปกล้วยฉาบปานน้อย สรุปว่าโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ เน้นการพัฒนาชุมชนในด้านการจ้างแรงงานเกษตรกรในชุมชน ทั้งผู้รับจ้างแรงงานและเกษตรกรในโครงการ ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติดูแลผลผลิต และเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้ว เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากผลผลิตนั้น ทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนในชุมชน

ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ คือเกษตรกรมารวมตัวกัน คิดเอง ทำเอง และบริหารจัดการกันเองได้ในรูปของกลุ่ม ก่อเกิดความสามัคคี มีองค์ความรู้ในกิจการที่ดำเนินการอยู่ มีกิจกรรมต่อเนื่อง มีรายได้และมีกองทุนในชุมชน

เกี่ยวกับกลุ่มแปรรูปกล้วยฉาบปานน้อย คุณปราณี มีความเห็นว่า เป็นการแก้ไขปัญหาราคากล้วยที่เคยเกิดปัญหา เกษตรกรมารวมกัน นำผลผลิตที่เพาะปลูกมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม กิจการที่ทำอยู่จะมีความต่อเนื่อง เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แก้ไขปัญหาแรงงานในชุมชน ลดการเคลื่อนย้ายสู่เมืองใหญ่ การส่งเสริมกลุ่มแปรรูปกล้วยฉาบปานน้อย ต้องการให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ จะเสนอให้ขอเครื่องหมาย อ.ย. ต่อไป

ส่งเสริมจัดทำบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน หาตลาดรองรับเพื่อจะขยายตลาดให้กว้างขึ้น

ท่านใดประสงค์จะขอรายละเอียดหรือสั่งซื้อกล้วยฉาบปานน้อย ติดต่อ คุณวิลาวัณย์ เกยแก้ว โทรศัพท์ (080) 129-5071, (090) 463-8889 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอลอง โทรศัพท์ (054) 581-486