เผือกหอมทอดกรอบ ผลิตภัณฑ์คุณภาพ สร้างรายได้สู่วิถีมั่นคง ที่สระบุรี

เผือกหอมทอดกรอบ ผลิตภัณฑ์ที่มีความหวาน มัน กรอบ เหมาะเป็นอาหารว่าง กินคู่กับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นที่ได้อรรถรส เผือกหอมทอดกรอบเป็นการนำผลผลิตเผือกหอมของเกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการปลูกเผือกหอมแปลงใหญ่มาแปรรูปเพื่อการเพิ่มมูลค่า เป็นการยกระดับรายได้ของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเผือกหอม ให้ก้าวผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปสู่วิถีการยังชีพที่มั่นคงยั่งยืน

คุณสุพจน์ ประสมทอง เกษตรอำเภอบ้านหมอ เล่าให้ฟังว่า ในเขตอำเภอบ้านหมอสภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการปลูกพืชหลายชนิดได้คุณภาพดี ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ผันแปรนอกจากการทำนาที่เป็นอาชีพหลักแล้วเกษตรกรยังสามารถปลูกเผือกหอมเป็นพืชหมุนเวียนเสริมรายได้เพื่อความมั่นคงในการยังชีพ

คุณสุพจน์ ประสมทอง(ขวา) ส่งเสริมการแปรรูปเผือกหอมทอดกรอบ

เผือกหอม เป็นพืชล้มลุก มีหัวใต้ดินเป็นส่วนสะสมอาหารที่นำมาแปรรูปได้ทั้งอาหารคาวและหวาน ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง เผือกหอมเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในเชิงการค้าที่สร้างรายได้เงินแสนบาทให้แก่เกษตรกร

เมื่อผลผลิตเผือกหอมมีปริมาณมากขึ้น ราคาผลผลิตตกต่ำ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรและประชาชนนำไปแปรรูปเป็นเผือกหอมทอดกรอบเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และส่งเสริมให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มไปขอจดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชน…” ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมในการคิด การทำหรือพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและประชาชนมีการยกระดับรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคงยั่งยืน

คุณสมคิด ภูมิรัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเผือกหอม เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรและชาวบ้านต้นหนอง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ปลูกเผือกหอม หลังจากเสร็จงานนาข้าว นาเผือกหอมแล้ว ก็ไม่ได้ทำงานอะไร

ในช่วงปี 2545 เผือกหอมมีราคาถูกมาก เกษตรกรและชาวบ้านจึงมาจับกลุ่มคุยกันเพื่อหาวิธีการที่จะนำเผือกหอมมาใช้ให้ได้คุณค่าเพิ่มมากขึ้น จึงนำเผือกหอมมาทดลองทำการแปรรูป ในครั้งแรกได้นำเผือกหอมที่ทอดแล้วใส่น้ำตาลปี๊บแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้คิดค้นวิธีใหม่ด้วยการนำเผือกหอมไปทอด แล้วชุบกับน้ำเชื่อมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทราย ทอดซ้ำอีกครั้งทำให้ได้ความหวาน มัน กรอบ เก็บรักษาไว้ได้นาน เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค

คุณสมคิด ภูมิรัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านแปรรูปเผือกหอม

เพื่อก้าวสู่วิถีที่มั่นคง วันที่ 14 กรกฎาคม 2545 แม่บ้านเกษตรกรได้รวมตัวกันขอจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านแปรรูปเผือกหอม มีสมาชิก 24 คน ได้ร่วมลงหุ้น หุ้นละ 100 บาท รวม 30 หุ้น ต่อมาได้ไปจดทะเบียนเป็นชื่อ “วิสาหกิจชุมชนแปรรูปเผือกหอม” ที่สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมอ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 มีสมาชิกทั้งหมด 48 คน รวม 112 หุ้น

วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกใช้เวลาว่างมาร่วมกันแปรรูปเผือกหอมเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ไว้ได้นานขึ้น และเพื่อให้สมาชิกและชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

วิธีการแปรรูป ให้ปอกเปลือกเผือกหอมออกแล้วล้างด้วยน้ำให้สะอาด จากนั้นนำเผือกหอมมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ด้วยมีดปอกผลไม้หรือจะใช้เครื่องสไลซ์เผือกหอมให้เป็นแผ่นๆ ก็ได้ แล้วนำไปทอดด้วยไฟร้อนปานกลางนาน 10-15 นาที ก็จะได้เผือกหอมทอดกรอบ ตักออกใส่ตะแกรงพักไว้พออุ่นเย็นแล้วนำไปชุบกับน้ำเชื่อม ตักขึ้นมาใส่ในภาชนะวางพักไว้สักครู่แล้วนำไปทอดอีกครั้งด้วยไฟร้อนปานกลาง ขณะทอดเมื่อสังเกตดูพบว่าเนื้อเผือกหอมที่ทอดมีสีเหลืองสวยแล้วก็ตักใส่ตะแกรงที่มีกระดาษรองเพื่อซับน้ำมันออก ปล่อยไว้ให้เย็นจะได้เผือกหอมทอดกรอบ หวาน มัน อร่อย แล้วจัดการบรรจุถุงเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายสู่ผู้บริโภค

สูตรการทำน้ำเชื่อม นำน้ำสะอาด 1 ลิตร ใส่ในหม้อ แล้วเติมน้ำตาลทรายลงไป 1 กิโลกรัม ยกตั้งบนเตาไฟปรับความร้อนในระดับปานกลาง ต้มนาน 25-30 นาที ก็จะได้น้ำเชื่อมพร้อมให้นำไปชุบเผือกหอมก่อนนำไปทอด

ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มปลูกเผือกหอมแปลงใหญ่

การแปรรูปเผือกหอมทอดกรอบ วิสาหกิจชุมชนได้เลือกใช้วัตถุดิบเผือกหอมที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่เป็นผลผลิตของสมาชิกและเกษตรกร บางส่วนก็จัดซื้อจากพื้นที่ใกล้เคียง วัตถุดิบเผือกหอมได้รับซื้อจากสมาชิกราคา 18-20 บาท ต่อกิโลกรัม และได้ทำการแปรรูปเผือกหอมทอดกรอบเฉลี่ยครั้งละ 400-500 กิโลกรัม ต่อวัน

คุณสมคิด เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า วิสาหกิจชุมชนได้พัฒนาการผลิตเผือกหอมทอดกรอบมาต่อเนื่องจึงทำให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปเผือกหอมทอดกรอบ และได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย อย.19-2-00855-2-0001 “เผือกหอมทอดกรอบ” กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปเผือกหอม อีกทั้งยังได้รับคัดสรรให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า OTOP Product Champion ระดับสี่ดาว ประเภทอาหาร

ใช้มีดหรือเครื่องสไลด์ฝานเป็นแผ่นบางๆ

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจ การบริหารงานของคณะกรรมการกลุ่ม ความร่วมมือของสมาชิก การได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน ทำให้กิจกรรมวิสาหกิจชุมชนเจริญเติบโต มีความเข้มแข็งและมีความมั่นคง ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 50 ราย และสมาชิกได้ร่วมลงหุ้น หุ้นละ 100 บาท รวม 185 หุ้น รวมเป็นเงิน 185,000 บาท

ตลาด ผลิตภัณฑ์เผือกหอมทอดกรอบคุณภาพ ส่วนหนึ่งวางขายที่วิสาหกิจชุมชน อีกส่วนหนึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไปวางขายที่ตลาดในเมืองและจังหวัดใกล้เคียง หรือที่ศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดสระบุรี เผือกหอมทอดกรอบขนาดบรรจุภัณฑ์น้ำหนัก 130 กรัม ขาย 25 บาท และเผือกหอมทอดกรอบขนาดบรรจุภัณฑ์น้ำหนัก 1/2 กิโลกรัม ขาย 90 บาท และทุกสิ้นปีก็จะนำรายได้ส่วนที่เป็นกำไรมาปันผลให้กับสมาชิก และอีกส่วนนำไปใช้เป็นทุนเพื่อพัฒนาการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ

ทั้งหมดนี้คือกระบวนการก้าวเดินเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ส่วนหนึ่งเกิดจากความสามัคคี ร่วมคิดรู้ทำ รู้เพิ่มมูลค่าผลผลิตเผือกหอม มีการเชื่อมโยงกับสังคม สมาชิกมีรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคงยั่งยืน

จากเรื่อง เผือกหอมทอดกรอบ…ผลิตภัณฑ์คุณภาพ สร้างรายได้สู่วิถีมั่นคง เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อก้าวสู้กับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจให้มีการยังชีพที่มั่นคง สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณสมคิด ภูมิรัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเผือกหอม เลขที่ 31 หมู่ที่ 3 ตำบลหรเทพ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี โทร. (089) 004-9152 กลุ่มโทร. (089) 089-9694 หรือที่ คุณสุพจน์ ประสมทอง สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมอ โทร. (087) 753-6840 หรือ (081) 852-5001 ก็ได้เช่นกันครับ

เผยแพร่ครั้งแรกวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561