ชาวท่าช้าง อ่างทอง เลี้ยงปลานิลพร้อมแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว

คุณบุญนำ กีรติวิทยากร อยู่บ้านเลขที่ 39/2 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าช้าง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง มีอาชีพเลี้ยงตะพาบน้ำและปลา แต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ จึงทำให้ตัวเขากับชาวบ้านร่วมอาชีพได้เข้าร่วมโครงการ 9101 ตามรอยพ่อ พร้อมไปกับได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง เพื่อพัฒนาการเกษตรให้ยั่งยืน ด้วยการแปรรูปปลาตามกระบวนการผลิตที่ถูกลักษณะ สะอาด และปลอดภัย สามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกอย่างดี

คุณบุญนำเลี้ยงตะพาบน้ำไว้ขายจำนวนกว่า 600 ตัว ขณะเดียวกัน เลี้ยงปลานิล ปลายี่สก และปลาจีนในพื้นที่ 4 ไร่ และในจำนวนนี้มีปลานิลกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เหตุผลที่เลี้ยงปลาผสมในบ่อเดียวกันเนื่องจากเวลาจับขายรวมกันปลายี่สกจะมีน้ำหนักดีกว่าทำให้น้ำหนักรวมปลาได้มาก ช่วยเพิ่มราคาขาย

ตลอดเวลากว่า 10 ปี อาชีพเลี้ยงปลาและตะพาบน้ำของคุณบุญนำล้มลุกคลุกคลานมาตลอดจากปัญหาเรื่องราคาขายตกต่ำ เมื่อเห็นว่าสัตว์ทั้งสองชนิดไม่ประสบผลสำเร็จ คุณบุญนำจึงเลิกเลี้ยงตะพาบน้ำ แล้วหันมาทุ่มเทการเลี้ยงปลาอย่างเดียวโดยไม่เน้นขายสดแต่จะเปลี่ยนไปใช้วิธีแปรรูปเป็นปลานิลแดดเดียวแทน ซึ่งเริ่มขายมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว (2560) ถือว่าขายดีมาก โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “ปลาแดดเดียว ป.ปลา ท่าช้าง”

ขณะเดียวกัน คุณบุญนำมองว่าการจับปลาสดขายในแต่ละช่วงไม่ต้องรีบ ควรตรวจสอบราคารับซื้อก่อนตัดสินใจ ถ้าหากคำนวณแล้วไม่คุ้มหรือเสมอต้นทุนจะยังไม่ขาย แต่จะเลี้ยงไว้ขุนไว้ก่อน เพราะสามารถจับปลานิลมาแปรรูปขายได้

นอกจากคุณบุญนำจะใช้ปลานิลที่เลี้ยงทำปลาแดดเดียวแล้ว เขายังรับซื้อปลาสดทั้งปลานิล ปลาช่อน จากสมาชิกในราคากิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ยุติธรรม เพื่อมาใช้แปรรูปอีกจึงทำให้มีปลาแดดเดียวจำหน่ายเพียงพอ

การผลิตปลาแดดเดียวของคุณบุญนำไม่ได้ทำทุกวัน จะต้องตรวจสอบจำนวนที่ยังคงมีเหลือเสียก่อนว่าจำเป็นต้องทำเพิ่มหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากเขามองว่าควรเป็นปลาแดดเดียวที่สดใหม่ จึงไม่ต้องการทำไว้มากมาย ยกเว้นในช่วงที่มีปัญหาแดดน้อยอย่างหน้าฝนที่ต้องตากปลาเก็บสต๊อกไว้เพื่อป้องกันการขาดช่วงตามความต้องการของตลาด

นอกจากนั้นแล้ว เขายังมองเห็นศักยภาพของปลายี่สกกับปลาจีนว่าควรจะนำมาทำเป็นปลาแดดเดียวได้ด้วย เพียงแต่ตลาดผู้บริโภคยังไม่ยอมรับ เนื่องจากปลาทั้งสองชนิดไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในรูปแบบปลาแดดเดียว

คุณบุญนำบอกว่าปลาแดดเดียวที่ผลิตจะเน้นและให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มเลี้ยงในบ่อด้วยการใช้รำผสมเป็นอาหารจึงทำให้คุณภาพเนื้อขาวน่ารับประทาน รวมถึงยังใส่ใจกับความสะอาดเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะกับวิธีการทำปลา รวมถึงการบรรจุใส่แพ็ก โดยให้รายละเอียดขั้นตอนการแปรรูปแบบคร่าวๆ ว่าปลาที่นำมาตากควรมีขนาด 3-4 ตัว ต่อกิโลกรัม เพราะเป็นขนาดพอเหมาะกับการบริโภค จากนั้นให้นำมาล้างทำความสะอาดตัวปลา จัดการขอดเกล็ด ควักไส้ ตัดหัว โดยส่วนที่ตัดออกไปนี้นำไปใช้ประโยชน์ด้วยการใช้ทำปุ๋ยหมักใส่พืชเกษตรกรรมที่ปลูกไว้

หลังจากที่ผ่าปลาออกแล้วให้นำไปล้างด้วยน้ำมะกรูดเจือจางเพื่อดับคาวจำนวน 1 ครั้ง แล้วตามด้วยล้างน้ำเปล่า 1 รอบ วางทิ้งไว้เพื่อให้น้ำออกหมดเสียก่อน จากนั้นนำไปคลุกเคล้ากับส่วนผสมแล้วจึงนำไปวางเรียงในโรงตาก โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน (แดดแรง) อย่างไรก็ตาม น้ำหนักปลาสดจำนวน 10 กิโลกรัม เมื่อนำไปแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวแล้วจะเหลือน้ำหนักเพียง 4 กิโลกรัมเท่านั้น

จับปลานิลเตรียมเข้ากระบวนการแปรรูป

ปลาแดดเดียวของคุณบุญนำทำมาได้ประมาณ 6 เดือน ช่วงแรกนำไปลองวางขายที่ตลาดนัดในชุมชนก่อน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาคุณภาพและรูปแบบโดยได้รับการแนะนำ ส่งเสริมทั้งด้านแนวคิด อุปกรณ์ และการตลาดจากทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง เพื่อนำไปวางขายตามสถานที่จัดงานต่างๆ หลายแห่งก็ได้รับความนิยมมาก เขาเล่าว่าเหตุผลที่ลูกค้าชอบรับประทานเพราะเมื่อนำไปทอดแล้วไม่เค็มมาก เนื้อปลามีรสอร่อย กรอบนอก นุ่มใน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นจนทำให้ลูกค้ารายเดิมกลับมาซื้อพร้อมกับชักชวนคนรู้จักมาร่วมซื้ออีกด้วย

ต้องผ่านการล้างด้วยน้ำมะกรูดทุกครั้งเพื่อดับกลิ่นคาว

ปลาแดดเดียวแบรนด์ “ปลาแดดเดียว ป.ปลา ท่าช้าง” บรรจุใส่แพ็กสุญญากาศที่ได้มาตรฐานขนาด 3-4 ตัว ต่อแพ็ก ขายส่งราคาแพ็กละ 50 บาท ได้รับความนิยมจากลูกค้าทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่เป็นอย่างดี แม้สินค้าจะยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน อย. แต่ทุกกระบวนการผลิตมีความเอาใจใส่ทุกขั้นตอนเพราะตระหนักถึงความสะอาด เพื่อให้สินค้าปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค ทั้งนี้ กำลังทดลองนำปลาตะเพียนมาทำแดดเดียวเพื่อต่อยอด แต่เนื่องจากปลาชนิดนี้มีก้างมาก คนนิยมน้อย ก็อาจปรับไปผลิตเป็นการแปรรูปอย่างอื่นแทน” คุณบุญนำ กล่าว

สอบถามรายละเอียดสั่งซื้อปลาแดดเดียวแบรนด์ “ปลาแดดเดียว ป.ปลา ท่าช้าง” ติดต่อโดยตรงได้ที่ คุณบุญนำ กีรติวิทยากร โทรศัพท์ (097) 009-2992

ขอขอบคุณ : คุณสันติ จันทร์สถานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ คุณบุญธรรม ปลูกงาม ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 2 และนักวิชาการจากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอ่างทองทุกท่านที่อำนวยความสะดวกครั้งนี้