สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร

 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองเหรียง อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง

จัดตั้งเมื่อ            วันที่ 26 พฤษภาคม 2534

สมาชิกแรกตั้ง     13 คน

สมาชิกปัจจุบัน    60 คน

ประธานกลุ่ม       นางวันดี เกื้ออาษา

ที่ทำการกลุ่ม       บ้านเลขที่ 201 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง

โทรศัพท์             (074) 606-182

 

ผลงานดีเด่น

ความคิดริเริ่ม

สมาชิกกลุ่ม ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา สวนไม้ผล พืชไร่ และพืชผัก ดังนั้น หลังจากกรีดยางพาราเสร็จแล้วจะมีเวลาว่าง จึงพูดคุยและปรึกษาหารือกันเพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน ได้แก่ กล้วยน้ำว้าและกล้วยไข่ มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน จึงรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร บ้านหนองเหรียง มีการระดมหุ้นจากสมาชิกเพื่อทำกิจกรรม โดยมีเจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตรเป็นที่ปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วยให้แก่สมาชิกกลุ่ม และในปี พ.ศ. 2540 สำนักสงฆ์พุทธโคดม ได้บริจาคที่ดินให้กับกลุ่ม เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารที่ทำการกลุ่ม สมาชิกกลุ่มและคนในชุมชนจึงได้รวบรวมเงินทุนเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีการผลัดเปลี่ยนเวรเพื่อทำการผลิตเป็นประจำทุกวัน

กลุ่มมีการขยายผลต่อยอดนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ ได้แก่ “กล้วยฉาบม้วน” เป็นแห่งแรกของจังหวัดพัทลุง และเป็นสินค้าแบรนด์เนมของกลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ได้แก่ กล้วยเส้นอบเนย กล้วยแว่นอบเนย กล้วยไข่กรอบแก้วรสเค็มและรสหวาน และกล้วยกวน เป็นต้น มีช่องทางการตลาด ได้แก่ ที่ทำการกลุ่ม ร้านค้าในจังหวัด โลตัสพัทลุง OTOP พัทลุง และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ปัจจุบันมีกิจกรรมทั้งหมด 5 กิจกรรม ได้แก่ กลุ่มแปรรูปผลผลิตจากกล้วย กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มกองทุนข้าวสาร และศูนย์จำหน่ายสินค้า

 

ความสามารถในการบริหาร

และการจัดการสถาบัน

  1. กลุ่มมีการแบ่งโครงสร้างการบริหารงานของกลุ่มอย่างชัดเจน มีคณะกรรมการบริหารกลุ่ม จำนวน 9 คน มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก มีวาระ 4 ปี แบ่งเป็นฝ่ายบริหาร และฝ่ายจัดการประกอบด้วย ฝ่ายจัดหาวัตถุดิบ ฝ่ายผลิต ฝ่ายตลาด ฝ่ายบัญชี และฝ่ายการเงิน และมีคณะกรรมการ ที่ปรึกษากลุ่ม ประธานและคณะกรรมการกลุ่มมีความเสียสละ อดทน มุ่งมั่นในการพัฒนากลุ่ม ให้มีความก้าวหน้าเท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนและให้ความร่วมมือจากสมาชิกกลุ่มเป็นอย่างดี
  2. ระเบียบข้อบังคับกลุ่ม มีการกำหนดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน สามารถดำเนินกิจกรรมบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และเป็นที่พึงพอใจของสมาชิก
  3. หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน ให้การสนับสนุนและร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ในส่วนของเรื่องงบประมาณจะช่วยตนเองก่อนเสมอ ซึ่งต่อมาก็ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการ ปัจจัยการผลิต และงบประมาณ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 2,432,500 บาท เป็นต้น
  4. ยึดหลักการทำงานให้บรรลุเป้าหมายโดยมุ่งเน้นการพัฒนา 5 Smart
  5. พัฒนากลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร ด้านเคหกิจเกษตร ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม และเป็นศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการกลุ่มและสมาชิกเป็นวิทยากรเกษตรกร มีการเชื่อมโยงเครือข่ายวัตถุดิบและการตลาดทั้งภายในและภายนอกชุมชน
  6. 6. ระบบเอกสาร มีความโปร่งใส ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้และเป็นปัจจุบัน ได้แก่ สมุดบันทึกการประชุมกลุ่ม ระบบการบัญชีกลุ่มออมทรัพย์ ระบบบัญชีรายรับ-รายจ่ายกิจกรรมกลุ่มระบบการปฏิบัติงานของสมาชิก และสมุดเยี่ยมกลุ่ม/ผู้มาศึกษาดูงาน เป็นต้น
  7. 7. การแบ่งผลประโยชน์จากกิจกรรมกลุ่ม มีการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ปันผลสมาชิกร้อยละ 65 ค่าตอบแทนคณะกรรมการร้อยละ 15 และทุนสวัสดิการสาธารณะร้อยละ 15 นอกจากนี้ ในแต่ละกลุ่มกิจกรรมยังมีการจัดสรรกำไรสุทธิเป็นรายเดือน โดยเก็บเป็นทุนสำรองร้อยละ 5 ปันผลสมาชิกกลุ่มร้อยละ 80 และทุนสวัสดิการร้อยละ 15

 

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน

  1. คณะกรรมการบริหารงาน และคณะกรรมการดำเนินกิจกรรมฝ่ายต่างๆ มาจากการคัดเลือกมีวาระ 4 ปี โดยสมาชิกกลุ่มมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามความเหมาะสม
  2. สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยใช้กระบวนการกลุ่มเปิดให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็น และตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการ โดยมีการประชุมคณะกรรมการและสมาชิกทุก 3 เดือน ตามวาระการประชุมและมีการจดบันทึกการประชุมทุกครั้ง
  3. สมาชิกยอมรับและปฏิบัติตามกฎระเบียบของกลุ่ม รับรู้และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีความเสียสละ ช่วยเหลือและพัฒนากลุ่มให้สามารถปฏิบัติงานสำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี เช่น การมาปฏิบัติงานแปรรูปตามเวลาที่กำหนด และแต่งกายถูกต้องตามข้อกำหนดมาตรฐานการผลิตอาหาร และสมาชิกได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาศักยภาพ เช่น การฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม เป็นต้น
  4. กลุ่มมีแผนพัฒนาธุรกิจ และแผนการให้ความรู้ในการประกอบอาชีพแก่สมาชิกมีการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตการตลาด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในและนอกชุมชน เป็นแหล่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และเป็นจุดสาธิตของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเกษตรประจำตำบลบ้านนา

 

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน

  1. กลุ่มมีการรับสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี พ.ศ. 2534 จำนวน 13 คน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 60 คน ซึ่งร้อยละ 58 ของครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่ เป็นสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร และส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่
  2. การดำเนินกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2534 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยการบริหารจัดการกลุ่มของคณะกรรมการฯ และสมาชิก ภายใต้การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ เช่น กิจกรรมการแปรรูปผลผลิตจากกล้วย กิจกรรมการออมทรัพย์ กิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมกองทุนข้าวสาร และกิจกรรมศูนย์จำหน่ายสินค้า เป็นต้น
  3. กลุ่มมีประวัติการเงินที่ดี เป็นที่เชื่อถือของสถาบันการเงิน ในปี 2559 ได้รับการอนุมัติเงินกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. จำนวน 500,000 บาท ผ่อนชำระ 5 ปี เพื่อเป็นทุนสำรองในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ และขยายกำลังการผลิต ผ่อนชำระแล้ว 120,000 บาท
  4. การเจริญเติบโต และความมั่นคงทางฐานะการเงินของกลุ่ม ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียน 1,170,930 บาท ทุนเรือนหุ้น 20,400 บาท เงินออมทรัพย์ 426,677 บาท รายได้เฉลี่ยของกลุ่ม 1,273,042 บาท
  5. รายได้ของสมาชิกที่ร่วมทำกิจกรรม เช่น การแปรรูปกล้วย เฉลี่ยเดือนละ 4,000-5,000 บาท/เดือน การปลูกกล้วยเพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป เฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท และรายได้จากการปลูกผักสวนครัว เฉลี่ยเดือนละ 1,000 บาท
  6. มีแผนการพัฒนากลุ่มอย่างชัดเจน และมีการดำเนินงานตามแผน ดังนี้ แผนด้านการดำเนินธุรกิจ เช่น เพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นร้อยละ 20 การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย การจัดซื้อเครื่องกรองน้ำเพื่อแก้ปัญหาการซื้อน้ำในการผลิตสินค้า แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น การศึกษาดูงานการแปรรูปผลผลิตจากกล้วย การอบรมมัคคุเทศก์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และแผนพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
  7. คุณภาพชีวิตของครอบครัวเกษตรกรและชุมชนดีขึ้น และมีความมั่นคงด้านอาหาร เช่น สมาชิกมีเวลาดูแลครอบครัวมากขึ้น มีโอกาสเลี้ยงดูด้วยนมแม่มากขึ้น มีบ้านเกษตรสมบูรณ์เพิ่มพูนสุขภาพร้อยละ 83 ของสมาชิกกลุ่ม สามารถลดรายจ่าย มีการทำบัญชีครัวเรือน เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และรู้จักการออมเงิน ลดปัญหายาเสพติด เกิดความเข้มแข็งและสามัคคีภายในชุมชน

 

การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  1. กิจกรรมการผลิตของกลุ่มอยู่บนพื้นฐานการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์พันธุ์กล้วยในชุมชน การใช้เปลือกกล้วยในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำมันพืชที่ใช้แล้วนำไปบำบัดน้ำเสียก่อนทำให้ได้รับมาตรฐานการผลิต ได้แก่ GMP อย. OTOP มผช. และฮาลาล
  2. มีการพัฒนาศักยภาพของผู้นำกลุ่มและสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเป็นวิทยากรให้กับศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเกษตรประจำตำบล และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ในเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย การจัดดอกไม้ การทำปุ๋ยหมัก การออมเพื่อการผลิตด้านการเกษตร และการจัดทำบัญชีครัวเรือน
  3. การใช้ที่ทำการกลุ่มเป็นศูนย์กลางประสานงานให้ความช่วยเหลือในชุมชนด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของอำเภอ ด้านการแปรรูปผลผลิตเกษตรของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชน
  4. ร่วมกับเทศบาลตำบล ผู้ใหญ่บ้าน รณรงค์การไม่ตัดไม้ทำลายป่า และกำชับสมาชิกกลุ่มให้ดูแลไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่
  5. ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์/บริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณกุศล เช่น บริจาคเงินให้แก่สำนักสงฆ์พุทธโคดม และหมู่บ้านหนองเหรียงเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 300 บาท เป็นพลังสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน บริจาคทุนการศึกษาและเป็นวิทยากรให้โรงเรียนตามนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้กับนักเรียนในชุมชน เป็นต้น