ไข่เค็มสมุนไพรใบเตยบ้านมะค่า สร้างรายได้เดือนละแสน

การทำไข่เค็ม เป็นการถนอมอาหารไว้รับประทานนานๆ โดยไม่เน่าเสีย และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรอีกทางหนึ่ง และหากเกษตรกรได้ใช้ภูมิปัญญาในการคิดค้นสูตรได้รสชาติที่เอร็ดอร่อยจนได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ก็ยิ่งสร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น กลุ่มผู้ผลิตไข่เค็มสมุนไพรใบเตยบ้านมะค่า หมู่ที่ 1 ตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

คุณทัศกานต์ แฝงสาเคน อายุ 46 ปี ประธานกลุ่มผู้ผลิตไข่เค็มสมุนไพรใบเตยบ้านมะค่า และเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมะค่า (ส.อบต.) โทร. (097) 170-8621, คุณนิรันด์ สอนเสนา กรรมการกลุ่ม โทร. (061) 063-8136 หมู่ที่ 1 ตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และสมาชิกร่วมกันให้ข้อมูลว่า กลุ่มผู้ผลิตไข่เค็มสมุนไพรใบเตยบ้านมะค่า เกิดจากการที่เกษตรกรในชุมชนได้ประสบอุทกภัยท่วมพื้นที่การเกษตรปี 2560 ต่อมารัฐบาลได้มีโครงการ ๙๑๐๑ ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่ผู้ประสบอุทกภัย ดำเนินการผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรวิชัย

โดยสนับสนุนครัวเรือนละวงเงิน 5,000 บาท สมาชิก 40 คน ดำเนินการในรูปกลุ่ม เป็นเงิน 200,000 บาท ได้จัดเวทีประชาคมและมีมติเลี้ยงเป็ดไข่ (พันธุ์กากีแคมเบล) ได้ซื้อเป็ดสาวพร้อมที่จะออกไข่จำนวน 1,000 ตัว เป็นเงิน 150,000 บาท ที่เหลืออีก 50,000 บาท เป็นค่าวัสดุและอาหาร เช่น แผงไข่ มุ้งเขียว ข้าวเปลือก อาหารสำเร็จรูป

ได้เริ่มเลี้ยงเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ระยะแรกปล่อยเลี้ยงไล่ทุ่งให้หากินอาหารในทุ่งนา สลับกับการจำกัดบริเวณในคอก เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะนำไปเลี้ยงในทุ่งนา และให้อาหารเสริมบ้าง เช่น อาหารสำเร็จรูปผสมข้าวเปลือก หยวกกล้วย ฯลฯ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนผลผลิตไข่เริ่มให้ผลผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ระยะแรกวันละ 600 ฟอง ต่อมาเพิ่มเป็น 700 ฟอง ปัจจุบันวันละ 700-800 ฟอง หรือเดือนละประมาณ 20,000 ฟอง ราคาขายไข่สด แผงละ 100 บาท (30 ฟอง)

สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยไข่เค็มสมุนไพรใบเตย

หลังจากได้ผลผลิตแล้ว ได้ปรึกษาหารือกันมาทำไข่เค็มเพื่อเพิ่มมูลค่า และนำเอาใบเตยมาเป็นส่วนผสมในการทำปรากฏว่า ได้กลิ่นหอม ดับกลิ่นคาวได้ดีมาก เมื่อนำออกจำหน่ายปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างมาก จากขายภายในชุมชน ปัจจุบันเริ่มมีลูกค้านอกชุมชนสั่งซื้อมากขึ้น จากขายไข่สด แผงละ 100 บาท เมื่อทำเป็นไข่เค็ม ขายแผงละ 200 บาท คือเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวเลยทีเดียว สำหรับส่วนผสมและวิธีทำมีดังนี้

วัสดุและส่วนผสม 

  1. ใบเตย ใส่น้ำพอท่วม บดละเอียด
  2. ดินสอพอง 10 กิโลกรัม
  3. เกลือทะเล 1.2 กิโลกรัม
  4. แกลบดำ
  5. ไข่เป็ด 20 แผง (600 ฟอง)

ขั้นตอนการทำ

  1. ล้างไข่เป็ดให้สะอาด นำไปผึ่งให้แห้ง
  2. นำดินสอพอง เกลือ ใบเตยที่บดแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  3. นำไข่เป็ดลงไปคลุกทั่วทั้งผิวของเปลือกไข่ นำไปผึ่งพอหมาด แล้วนำไปคลุกแกลบดำ (พอกทับอีกชั้นหนึ่ง)
  4. นำไปวางไว้ในภาชนะ เช่น โอ่ง กะละมัง ฯลฯ แล้วคลุมด้วยพลาสติกให้มิดชิด ไม่ให้ความชื้นออกมาได้
  5. ปล่อยทิ้งไว้ 7-10 วัน หากต้องการจะนำไปทอดเป็นไข่ดาว ก็ล้างให้สะอาด แล้วนำไปทอดเป็นไข่ดาว ไม่เค็มจัด รสชาติกำลังดี
  6. จะเป็นไข่เค็มเมื่ออายุ 20 วัน นำไปล้างน้ำให้สะอาดต้มให้สุก เก็บในอุณหภูมิปกติได้นาน 1 เดือน หรือหากเก็บตู้เย็นจะได้นาน 2-3 เดือน
  7. บรรจุหีบห่อ ส่งขายตามที่ต่างๆ เช่น ในชุมชน ออกขายตามงานต่างๆ

 

 

การตลาด

ปัจจุบันผลิตไข่เค็มเดือนละประมาณ 20,000 ฟอง ราคาขายไข่เค็มแผงละ 200 บาท, แพ็กถุง 4 ฟอง 35 บาท, ชะลอม 8 ฟอง 100 บาท สามารถทำรายได้เข้ากลุ่มเดือนละกว่า 100,000 บาท

คุณทัศกานต์ บอกอีกว่า ไข่เค็มสมุนไพรใบเตยสูตรนี้จะได้เปลือกไข่ออกสีเขียวนิดๆ ไม่ขาวเหมือนไข่เค็มทั่วไป เนื่องจากสีของใบเตยนั่นเอง ซึ่งจะได้ไข่เค็มที่กลิ่นหอม ไม่คาว และจากการเลี้ยงเป็ดและนำไข่เป็ดมาทำเป็นไข่เค็มนั้น ทำให้สมาชิกมีรายได้เสริมจากการทำนา ทำสวน วันละ 200-300 บาท ต่อคน (หลังหักค่าใช้จ่าย) ในอนาคตจะขอมาตรฐาน อย. และขยายการผลิตมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

คุณสมใจ ผลประสาท เกษตรอำเภอกันทรวิชัย กล่าวว่า อำเภอกันทรวิชัย ได้ประสบอุทกภัยจากพายุเซินกา เมื่อปี 2560 ทำให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหาย 42,095 ไร่ เกษตรกร 4,547 ครัวเรือน ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ ๙๑๐๑ ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย โดยให้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยดังกล่าวเสนอความต้องการฟื้นฟูอาชีพประเภทใดประเภทหนึ่งจาก 4 ประเภท ได้แก่ 1. การปลูกพืชอายุสั้น 2. การเลี้ยงสัตว์ (สัตว์ปีก, แมลงเศรษฐกิจ) 3. การผลิตอาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์ 4. การประมง วงเงินไม่เกินคนละ 5,000 บาท และดำเนินการในรูปกลุ่มโดยมีเกษตรกรร่วมโครงการจำนวน 71 กลุ่ม (71 โครงการ) เป็นเงิน 22,725,450 บาท (มี 1 กลุ่มที่อนุมัติ 4,950 บาท ต่อคน) และขณะนี้ได้สร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น กลุ่มผู้ผลิตไข่เค็มสมุนไพรใบเตยบ้านมะค่า เป็นต้น

ท่านที่เคารพครับ จะเห็นว่าการผลิตไข่เค็มสมุนไพรใบเตยนั้นเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำมาใช้ดับกลิ่นคาว ทำให้น่ารับประทานมากขึ้น เป็นจุดขายสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กลุ่ม จนได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างมาก นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ดังนั้น หากท่านใดสนใจจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่ม ติดต่อ คุณทัศกานต์ คุณนิรันด์ ได้ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้