ยอดส่งออก”ข้าวนึ่ง”ไทยวูบหนัก ถูกโรงสีตัดราคาขายแย่งแชร์50%-แขกผลผลิตพุ่ง

“ข้าวนึ่งไทย” ระส่ำ ยอดส่งออก 9 เดือนวูบ 13.6% หลังกำลังซื้อตลาดแอฟริกาซบ ผู้ส่งออกหน้าเก่าอ่วม โดนโรงสีที่หันมาทำธุรกิจส่งออก เล่นเกมหั่นราคาดึงมาร์เก็ตแชร์ตลาดข้าวนึ่งไป 50% ซ้ำผลผลิตอินเดียออกมาถล่มอีก 106.5 ล้านตัน 

นายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ยอดส่งออกข้าวนึ่งของไทยในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) 2559 มีปริมาณ 1.44 ล้านตัน ลดลง 13.4% ถือเป็นชนิดข้าวที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด (ดูตาราง) และยอดตัวเลขการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2557 ที่เคยส่งออกได้สูงสุด 3.7 ล้านตัน เป็นผลจากตลาดนำเข้าสำคัญยังน่าห่วง โดยเฉพาะแอฟริกา มีกำลังซื้อปรับตัวลดลง

ล่าสุดข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ระบุว่า ปริมาณการผลิตข้าวเปลือกของอินเดีย ซึ่งกำลังเก็บเกี่ยวในขณะนี้ มีปริมาณสูงถึง 106.5 ล้านตัน จากปกติมีเพียง 100 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคข้าวของอินเดียมีไม่ถึง 100 ล้านตัน ทำให้มีซัพพลายส่วนเกินเหลือมากกว่า 6.5 ล้านตัน ผลผลิตข้าวจำนวนมากของอินเดียจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งไทยมากที่สุด อาจจะทำให้การแข่งขันส่งออกข้าวนึ่งหลังจากนี้จะรุนแรงมากขึ้น

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และประธานกลุ่มกมลกิจ ผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายสำคัญของไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวนึ่ง

ปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณ 2 ล้านตัน จากภาพรวม 9.5 ล้านตันใกล้เคียงกับปี 2558 โดยปัญหาหลักของข้าวนึ่งที่ผ่านมา เกิดจากความต้องการของตลาดลดลง แต่การแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นโรงสีของไทย ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และสามารถตั้งราคาส่งออกได้ต่ำกว่า จึงดึงส่วนแบ่งตลาดส่งออกไปจากผู้ส่งออกข้าวนึ่งรายเดิม

“ตลาดข้าวนึ่งลดลงมาก มาไม่ถึงผู้ส่งออกเดิม ๆ เพราะไปอยู่กับผู้ส่งออกหน้าใหม่ ๆ ที่เป็นโรงสี เช่น ธนสรรไรซ์ และแสงฟ้าเป็นหลัก สัดส่วนการส่งออกกลุ่มนี้อาจจะมี 50% ของยอดส่งออกข้าวนึ่งทั้งหมด เหตุผลสำคัญเพราะลักษณะของตลาดข้าวนึ่งเป็นสินค้าส่งออกครั้งละมาก ๆ ไม่สามารถจะผลิตเป็นข้าวมีแบรนด์แบบข้าวหอมมะลิได้ ดังนั้นจึงต้องแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก ต้องยอมรับผู้ส่งออกที่เป็นโรงสีจะได้เปรียบผู้ส่งออกเดิม เพราะทำราคาได้ดีกว่า อย่างน้อย ๆ 3-5 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือมากกว่านั้น ถือเป็นวิวัฒนาการวงการธุรกิจค้าข้าว คนที่มีวงจรการทำธุรกิจแบบห่วงโซ่ (Value Chain) สามารถดึงเอากำไรจากส่วนนั้นมาโปะส่วนนี้ได้ ขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดมีกำไรก็เอามาเฉลี่ยจุดอื่น”

สำหรับการปรับตัวของผู้ส่งออกข้าวนึ่งเดิม หากยังต้องการรักษายอดการส่งออก จำเป็นต้องปรับตัว บางรายต้องย้อนกลับไปทำธุรกิจโรงสี หรือไปร่วมทุนกับรายอื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบริษัทว่าจะทำอย่างไร ในส่วนของกมลกิจไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะกมลกิจเคยทำโรงสีมาก่อน แต่ตอนนี้คิดว่าไม่พร้อมจะกลับไป หากจะกลับไปต้องปฏิรูปทั้งหมดเลย อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดข้าวนึ่งในระยะยาวโครงสร้างราคาจะปรับเปลี่ยน เพราะสภาวะของต่างประเทศเองก็ไม่เอื้อให้ซื้อข้าวราคาแพง

ทั้งนี้ หากผลผลิตข้าวนึ่งอินเดียทะลักออกมา 106.5 ล้านตันอีก คาดว่าจะทำให้ปริมาณซัพพลายข้าวนึ่งโลกเพิ่มขึ้น การแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เพราะโดยปกติราคาข้าวนึ่งอินเดียจะต่ำกว่าไทยอยู่แล้วประมาณตันละ 15 เหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ราคาส่งออกเอฟโอบีข้าวนึ่งไทยตันละ 350 เหรียญสหรัฐถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากที่สุดในรอบหลายปีแล้ว

“ผู้ซื้อปลายทาง ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่นำไปขายต่อจะเลือกข้าวอินเดียที่มีราคาต่ำกว่า จะทำให้เขามีกำไรมากกว่าข้าวนึ่งจากไทย ประกอบกับผู้บริโภคที่ปลายทาง เช่น แอฟริกา กำลังซื้อลดลง ไม่สามารถสั่งซื้อข้าวราคาแพงได้อย่างในอดีต”

อย่างไรก็ตาม ผลจากมาตรการยกระดับราคาข้าวเปลือกเจ้าของรัฐบาลมีผลดีกับราคาข้าวนึ่งในประเทศ กล่าวคือ ข้าวเจ้าเป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวนึ่ง เมื่อรัฐบาลตั้งราคารับจำนำยุ้งฉางรวมค่าใช้จ่ายอื่นไว้ตันละ 10,500 บาท ส่งผลให้ราคาข้าวนึ่งทรงตัวอยู่ที่ตันละ 11,200 บาท

“โดยปกติราคาข้าวนึ่งกับข้าวขาว 5% ห่างกันไม่มาก แต่ตอนนี้ราคาข้าวขาว 5% ตันละ 11,000 บาท ข้าวนึ่งลงมาเรื่อย ๆ ต่ำสุดที่ 11,200 บาท เมื่อราคาข้าวนึ่งลงไปมาก ๆ ไม่ผลิตก็ได้ ไม่มีดีมานด์ก็ไปทำข้าวขาว เพราะกระบวนการสั้นกว่า มีตลาดรองรับขายได้ดีกว่า ข้าวนึ่งใช้ข้าวขาวเป็นวัตถุดิบ ดังนั้น พอรัฐบาลมีมาตรการทำให้ราคาข้าวนึ่งหยุดลง และต้องรอดูว่าสัปดาห์ถัดไปจะขยับขึ้นได้หรือไม่”

สำหรับทิศทางการส่งออกข้าวนึ่ง ปี 2560 คาดว่าหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้น จะส่งผลให้ประเทศผู้บริโภคข้าวนึ่งมีกำลังซื้อมากขึ้น จะช่วยผลักดันยอดการส่งออกให้ดีขึ้นได้ ส่วนปัญหาการแข่งขันในประเทศระหว่างโรงสีที่เป็นผู้ส่งออก และผู้ส่งออกก็ยังรุนแรงเช่นเดิม