กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง สงขลา เผยแพร่ความรู้เกษตรอินทรีย์-ทฤษฎีใหม่

“บ้านปลักคล้า” คลองหอยโข่ง เป็นพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา คำว่า “ปลักคล้า” มีที่มาจากต้นคล้า ที่มีจำนวนมากตามสายคลองรอบวัด บ้านปลักคล้า เป็นที่ราบ อยู่ใกล้เทือกเขาวังชิง น้ำที่ไหลผ่านได้พัดพาแร่ธาตุสมบูรณ์มาสะสมอยู่ผืนดินแห่งนี้ ทำให้ข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ปลูกในท้องถิ่นแห่งนี้ เช่น ข้าวไทร ข้าวนางหงส์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นข้าวพันธุ์ดีที่มีรสชาติอร่อยและให้ผลผลิตที่ดีมาตั้งแต่สมัยอดีต เช่นเดียวกับปลาช่อนที่เลี้ยงในชุมชนแห่งนี้ ก็มีรสชาติอร่อยเป็นที่สุด

 กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอคลองหอยโข่ง (กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง) จังหวัดสงขลา ภายใต้การนำของ คุณจตุรภัทร  เวชสิทธิ์ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง มุ่งจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมให้นักศึกษาและผู้รับบริการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดอบรมความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในห้องเรียน และพาไปดูงานศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในจังหวัดสงขลา และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง

คุณสมัคร สุวรรณสาม กับคุณพ่อ

คุณกุ๊ก หรือ คุณสมัคร สุวรรณสาม เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (สมาร์ทฟาร์มเมอร์) ที่เข้าร่วมอบรมความรู้กับ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง และเขาได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้พัฒนาที่ดินทำกินของตัวเองจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นเกษตรกรต้นแบบที่ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง ใช้เป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักศึกษา กศน. และผู้สนใจอาชีพการทำเกษตร

คุณจตุรภัทร เวชสิทธิ์ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง เยี่ยมชมสวนปลักคล้า

“ทุกวันนี้ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง ใช้สวนปลักคล้า ของคุณกุ๊ก เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำไร่นาสวนผสม ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ คุณกุ๊กแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุด โดยจัดสรรที่ดินสำหรับปลูกบ้านพักอาศัย มีคอกเลี้ยงสัตว์ มีสระกักเก็บน้ำและใช้เลี้ยงปลา ปลูกข้าว ทำสวนแบบผสมผสาน ปลูกมะนาว และไม้ผลนานาชนิด เช่น ขนุน กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง มะม่วง มะพร้าว ฯลฯ มีผลผลิตออกขายสร้างรายได้ตลอดทั้งปี” ผอ.กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง กล่าว

โบกมืออาชีพมนุษย์เงินเดือน

กลับบ้านเกิดช่วยพ่อทำเกษตร

คุณจตุรภัทร เวชสิทธิ์ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง

คุณกุ๊ก หรือ คุณสมัคร สุวรรณสาม เรียนจบสาขาช่างยนต์ ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนกว่าสิบปี ต่อมาพ่อแม่มีอายุมากขึ้น ทำงานดูแลสวนไร่นาไม่ไหว คุณกุ๊กจึงตัดสินใจลาออกและกลับบ้านมาช่วยพ่อดูแลกิจการสวนยางพาราและไร่นา ซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว

เนื่องจากเขาเป็นเกษตรกรมือใหม่ จึงตั้งใจศึกษาหาความรู้เรื่องการทำเกษตรจากหน่วยงานในท้องถิ่น คุณกุ๊กตัดสินใจสมัครเข้าศึกษาหาความรู้และดูงานเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่กับ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง อย่างสม่ำเสมอ นำความรู้เรื่องหลักเกษตรทฤษฎีใหม่และเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยที่เรียนรู้ระหว่างไปดูงาน เข้ามาประยุกต์ใช้ในที่ดินทำกินเนื้อที่ 3 ไร่ ของตัวเอง ที่ใช้ชื่อว่า “สวนปลักคล้า”

คุณกุ๊ก บอกว่า เดิมทีที่ดินแห่งนี้เป็นที่นาปลูกข้าวมาก่อน เป็นพื้นที่ลุ่ม เสี่ยงกับการถูกน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน จึงต้องปรับสภาพที่ดินใหม่ ยกร่องน้ำ ปรับที่ดินให้สูงขึ้น ให้เหมาะสมสำหรับปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นนานาชนิด รายได้หลักของสวนแห่งนี้มาจากการขายผลและขายกิ่งพันธุ์มะนาวทูลเกล้า มะนาวไร้เมล็ด   ดกพิเศษ แป้นพิจิตร ในราคา 50-100 บาท ขึ้นกับขนาดของกิ่งพันธุ์ รายได้รองลงมาคือมาจากการขายน้ำผึ้งโพรง และการเลี้ยงหมูหลุม ซึ่งได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ มีรายได้จากการขายหมูหลุมและได้ขี้หมูสำหรับเป็นปุ๋ยคอกบำรุงต้นไม้ในสวน

คุณสมัคร โชว์ผลงานการเลี้ยงผึ้งโพรง

“ปีก่อน มะนาวนอกฤดูขายได้ราคาดี ขายได้กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท แต่ปีนี้ ราคามะนาวปรับตัวลดลงขายได้กิโลกรัมละ 50-60 บาท ก็มีรายได้พออยู่ได้  แต่สวนของผมเน้นดูแลสวนมะนาวให้มีผลผลิตตลอด โดยใช้เทคนิคการควบคุมน้ำให้ต้นมะนาวอดน้ำ ก่อนให้น้ำและปุ๋ยบำรุงทางใบผ่านระบบสปริงเกลอร์ กระตุ้นให้ต้นมะนาวผลิดอกออกผลในช่วงระยะเวลาที่ต้องการ ทำให้มีผลมะนาวส่งขายร้านส้มตำและร้านอาหารในหมู่บ้านได้ตลอดทั้งปี” คุณกุ๊ก กล่าว

การเลี้ยงผึ้งโพรง

ทุกวันนี้ คุณกุ๊กเลี้ยงผึ้งโพรง จำนวน 15 ลัง ภายในสวนแห่งนี้ การเลี้ยงผึ้งโพรงนับเป็นอาชีพที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะมีเทคนิคการเลี้ยงดูแลไม่ยาก ลงทุนน้อย แค่ใช้ลังไม้เล็กๆ ให้ผึ้งใช้ทำรัง ดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาด ก็จะได้ผลตอบแทนที่ได้คุ้มกับการลงทุน

สภาพสวนปลักคล้าที่ปลูกพืชผสมผสาน

คุณกุ๊ก บอกว่า เขาไม่ได้ลงทุนหาพันธุ์ผึ้งมาเลี้ยง แต่ใช้วิธีทำลังไม้มาวางล่อผึ้งในสวน เขานำขี้ผึ้งมาป้ายที่ฝาลัง เพื่อส่งกลิ่นดึงดูดให้ผึ้งโพรงบินมาอาศัยในลังดังกล่าว นอกจากนี้ ยังใช้เทคนิคการพ่นรังให้หอม ทำให้ผึ้งโพรงตามธรรมชาติบินเข้ามาทำรังในบริเวณที่จัดไว้ เนื่องจากสวนแห่งนี้ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำมาหากินและอยู่อาศัยของผึ้งโพรง เพราะดูแลสวนแบบเกษตรอินทรีย์ ไร้สารพิษ แถมมีพันธุ์ไม้นานาชนิด ไม้ดอก ไม้ยืนต้น และผลไม้ที่ผลิดอกออกผลทั้งปี จึงดึงดูดให้ผึ้งโพรงมาอยู่อาศัยทำรังในสวนแห่งนี้อย่างสม่ำเสมอ

คุณกุ๊กเก็บน้ำผึ้งโพรงออกจำหน่ายได้ 2 รุ่น ต่อปี คือ ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน และช่วงสิงหาคม – กันยายน โดยจำหน่ายน้ำผึ้งโพรง (700 ซีซี) ในราคา ขวดละ 500 บาท สร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋าได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะขายในราคาถูกกว่าท้องตลาด ซึ่งโดยทั่วโปมีราคาซื้อ-ขายน้ำผึ้งโพรงอยู่ที่ขวดละ 700-800 บาท

เลี้ยงหมูหลุมและไก่บ้าน

ผู้ผลิตน้ำผึ้งบางรายผลิตน้ำผึ้งจากดอกไม้ชนิดเดียวในสวน แต่น้ำผึ้งโพรงของคุณกุ๊กปลูกพันธุ์ไม้หลากหลาย 7 ชนิด ขึ้นไป เช่น มะพร้าว มะนาว เงาะ ขนุน หว้า ฯลฯ ซึ่งผึ้งจะรวบรวมละอองเกสรดอกไม้หลากหลายชนิดไว้ในรัง กลายเป็นน้ำผึ้งแสนอร่อย ซึ่งเป็นอาหารดีที่ส่งตรงจากธรรมชาติ เป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ที่ล้วนแล้วมีดีต่อสุขภาพส่งต่อถึงผู้บริโภค

ปัจจุบัน คุณกุ๊กได้นำน้ำผึ้งโพรงและสินค้าเกษตรนานาชนิดจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ และการนำสินค้าไปวางขายในตลาดสินค้าสีเขียวและงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่หน่วยงานภาครัฐจัดขึ้น ทำให้เขามีฐานลูกค้าจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ

มะนาวปลูกแซมมะม่วง และตะไคร้

เนื่องจากสวนของคุณกุ๊กจำหน่ายน้ำผึ้งโพรงได้ ถือเป็นเครื่องหมายการันตีได้อย่างหนึ่งว่า สวนแห่งนี้ทำเกษตรอินทรีย์แบบปลอดสารพิษ ดีต่อสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพราะพื้นที่เลี้ยงผึ้งโพรงได้นั้นต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดสารเคมีประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง รวมไปถึงการเผาขยะ เนื่องจากผึ้งรับความรู้สึกไวต่อสิ่งแวดล้อมมาก ทำให้คุณกุ๊กสามารถจำหน่ายสินค้าพืชผักผลไม้อินทรีย์ได้ในราคาดี และเป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภคในวงกว้าง

แบ่งปันความรู้สู่ชุมชน

“ผมประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพการทำเกษตรได้ในทุกวันนี้ ต้องยกความดีให้กับ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง ที่พาผมไปเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผมสามารถเก็บเกี่ยวความรู้นำมาประกอบอาชีพและสร้างรายได้สำหรับเลี้ยงดูแลครอบครัวได้อย่างยั่งยืน”  คุณกุ๊ก กล่าว

คุณจตุรภัทร เวชสิทธิ์ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง กล่าวเสริมว่า คุณกุ๊กได้องค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงผึ้งโพรงมาใช้ประกอบอาชีพได้ทุกวันนี้เพราะ กศน.อำเภอคลองหอยโข่ง ได้นำคุณกุ๊ก นักศึกษา กศน. และผู้สนใจไปเยี่ยมกิจการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงปันแต จังหวัดพัทลุง  ซึ่งเป็นเจ้าของภูมิปัญญาเรื่องการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยแบบนวัตกรรม ส่งผลให้ได้น้ำผึ้งคุณภาพสูงมากกว่าแบบเดิม ถึง 3 เท่า และสามารถจำหน่ายน้ำผึ้งได้ในราคาสูงขึ้นด้วย

เลมอน ปลูกง่าย ขายดี

โดยธรรมชาติแล้วการเลี้ยงผึ้งโพรง เกษตรกรจะมีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะผึ้งโพรงไทยมีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อและหา แค่ลงทุนเรื่องอุปกรณ์การเลี้ยง และคอนผึ้งที่พัฒนาเพื่อใช้เลี้ยงผึ้งโพรงโดยเฉพาะ ช่วยให้เกษตรกรเก็บน้ำผึ้งได้ง่ายและได้น้ำผึ้งที่สะอาด โดยไม่สูญเสียประชากรผึ้งและลูกอ่อนผึ้ง  ทั้งยังสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ทันทีไม่ต้องสร้างรังใหม่ การเลี้ยงผึ้งโพรง เกษตรกรสามารถเก็บน้ำผึ้งออกขายได้ตลอด เรียกว่า ลงทุนแค่ครั้งเดียวก็มีรายได้ก้อนโต คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

คุณกุ๊ก นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง และเป็นสมาชิกกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของจังหวัดสงขลา เขาร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ทำงานร่วมกับปศุสัตว์อำเภอคลองหอยโข่ง และโครงการชลประทานสงขลา จัดอบรมความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ หมู่ที่ 2, 4, 8 ตำบลคลองหอยโข่ง, ตำบลโคกม่วง, ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โดยแนะนำองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่และการเริ่มต้นการผลิตตามแผนการผลิตให้เหมาะสมศักยภาพของเกษตรกร ในรูปแบบ 3 ประสาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระดับพื้นที่