เกษตรกรบ้านแม่หลู้ แพร่ พลิกผืนนาปลูกกาแฟโรบัสต้า พืชตัวใหม่ ให้ผลผลิตสูง

“กาแฟ” (Coffee) เป็นเครื่องดื่มเคียงคู่กับวิถีชีวิตคนไทย และคนไทยรู้จักกันดี กาแฟ ไม่เฉพาะการผลิตผลสดจากเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการสร้างอาชีพให้แก่กิจการขายกาแฟในรูปแบบต่างๆ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องจากกาแฟทั้งในเมืองและชนบทเข้าไปถึงหมู่บ้าน จึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ที่เริ่มจากฐานการผลิตของเกษตรกร แม้ประเทศไทยจะผลิตกาแฟส่งไปขายต่างประเทศ รวมทั้งบริโภคภายในประเทศแต่ปริมาณการผลิตก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ประเทศไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้กว่าปีละ 26,000 ตัน แต่ความต้องการใช้กาแฟมีถึง 90,000 ตัน จึงต้องนำเข้าปีละกว่า 60,000 ตัน จากต่างประเทศเช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนธุรกิจกาแฟเป็นยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2560-2564 ให้เป็นผู้นำการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพในอาเซียนก้าวสู่ตลาดโลก

ต้นกาแฟในประเทศไทยที่นิยมปลูก และเป็นพืชเศรษฐกิจมีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า (Arabica) มีพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตประมาณ ร้อยละ 5 และสายพันธุ์โรบัสต้า (Robusta) มีประมาณ ร้อยละ 95 ตั้งแต่อดีตแต่ไหนแต่ไรมาเราจะเคยได้ยินหรือรับรู้ข้อมูลว่ากาแฟอาราบิก้า ต้องปลูกในพื้นที่ภาคเหนือหรือพื้นที่สูงอย่างที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ฯลฯ ถ้าเป็นกาแฟโรบัสต้าปลูกได้ดีต้องที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ฯลฯ

ดอกสวยและหอม

แต่ที่จังหวัดแพร่ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้ง 2 สายพันธุ์ มีพื้นที่ปลูกรวม 1,602 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 518.8 กิโลกรัม ต่อไร่ รวมผลผลิต 736.70 ตัน (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ มกราคม 2560) จำนวนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจึงยังมีไม่มากนัก มีเกษตรกรรายหนึ่งจากจังหวัดชุมพร มาตั้งหลักปักฐาน มีครอบครัวอยู่ที่จังหวัดแพร่ มีประสบการณ์ในการปลูกกาแฟโรบัสต้า และได้นำพันธุ์กาแฟมาทดลองปลูก เหตุเพราะเมื่อครั้งที่มาอยู่เริ่มแรกนั้น เขาเห็นเกษตรกรแถบแถวบ้านปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการใช้สารเคมีจำพวกยาฆ่าหญ้า ยากำจัดโรคพืช ต้องลงทุนทุกปี ตั้งแต่การไถ แรงงาน ปุ๋ยเคมี สารเคมี แต่เมื่อเก็บผลผลิตไปขาย บวก ลบ คูณ หาร แล้วขาดทุนหรือมีกำไรเพียงเล็กน้อย บ้างก็ว่ามีกำไร แต่ยังไม่ได้หักค่าแรงงานตนเองก็มี เกษตรกรคนนี้จึงปลูกกาแฟให้เกษตรกรอื่นที่ปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เห็น หวังให้มีการปรับเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกกาแฟ โดยใช้ผืนนามาปรับสภาพดิน ลงทุนปลูกกาแฟโรบัสต้า จนมีผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้ผลดี ลงทุนครั้งเดียวเก็บผลไปได้ถึง 30 ปีขึ้นไป มีตลาดรองรับ จึงได้ขยายแปลงปลูกเพิ่มมากขึ้น อายุของต้นกาแฟมีความต่างกันแต่ละแปลง คือ 3 ปี และ 2 ปี เพราะลงปลูกในช่วงต่างเวลากัน ให้ผลผลิตแล้วทุกแปลง เกษตรกรคนนี้และครอบครัวจึงเป็นเจ้าของไร่กาแฟที่มีพื้นที่มากที่สุดในจังหวัดแพร่ และพัฒนาจากการปลูกกาแฟมาสร้างลานตากและโรงสีเครื่องกะเทาะเปลือกกาแฟส่งขายให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการกาแฟ ไม่เพียงแต่การขายเมล็ดกาแฟ เขายังได้เพาะกล้ากาแฟขายให้แก่เกษตรกรที่สนใจ มิได้เพาะกล้าเพื่อขายอย่างเดียว แต่เขายังติดตามไปยังแปลงปลูกของเกษตรกรทุกราย เพื่อดูแลการเปลี่ยนแปลงการเติบโตของต้นกาแฟ และให้คำแนะนำ แล้วรวบรวมมาเป็นกลุ่มเครือข่าย รับซื้อเมล็ดกาแฟสดในราคาตลาด ณ หน้าลานตาก ส่งผลให้มีเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาปลูกกาแฟเป็นจำนวนถึง 50 ครัวเรือน ครอบครัวนี้ประกอบด้วย พ่อตา คือ คุณลุงสมพงษ์ กองเขียว แม่ยาย คือ คุณป้าศรีไหม กองเขียว ภรรยา คือ คุณสุจิตรา กองเขียว และตัวเกษตรกรเองคือ คุณสามารถ ตันสกุล

ตากเมล็ด

คุณสามารถ ตันสกุล หรือเรียกชื่อเล่นกันในหมู่บ้านว่า “หมู” อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 54/1 หมู่ที่ 11 บ้านแม่หลู้ ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โทร. (087) 281-2201 คุณสามารถ เกริ่นนำให้ฟังถึงความเป็นมาที่มาตั้งหลักปักฐานที่บ้านแม่หลู้ ว่า มีคนแนะนำให้มาปลูกยางพารา เห็นเกษตรกรในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ระบบชลประทานก็ไม่มี เห็นว่าการปลูกไม้ผล เช่น กาแฟ น่าจะได้ผลผลิตและรายได้ที่ดีกว่าลงทุนครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้นานกว่า 30 ปี แม้แต่ทั้งครอบครัวตนเองเดิมก็ปลูกมันสำปะหลัง บางปีก็ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ตอนหลังก็ปรับเปลี่ยนมาปลูกกาแฟโรบัสต้ากันทั้งครอบครัว โดยมีตนเองช่วยดูแล มีพื้นที่รวมทั้งหมด 67 ไร่ 2 งาน เป็นแปลงปลูก นับได้ 5 แปลง มีทั้งแปลงปลูกที่ปรับเปลี่ยนมาจากพื้นนา แปลงที่เป็นพื้นที่เดิมจากการปลูกมันสำปะหลัง

เหตุใด? จึงนำเอากาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าที่ปลูกได้ดีที่จังหวัดชุมพร มาปลูกที่จังหวัดแพร่ ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือเขาปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้ากันมาก : ผู้เขียนตั้งคำถาม

คุณสามารถ อธิบายถึงเหตุผลว่า กาแฟโรบัสต้าปลูกง่าย มีความต้านทานต่อการติดเชื้อโรคและแมลงสูง ต้นกาแฟสามารถปรับตัวได้ดีต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ทนต่ออุณหภูมิและระดับความชื้น ให้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ผลสุกเร็ว โดยลักษณะทางกายภาพและสายพันธุ์แล้ว โรบัสต้าชอบดินร่วนซุยที่มีการถ่ายเทอากาศและการระบายน้ำที่ดี ภูมิอากาศ อุณหภูมิก็เป็นปัจจัยที่สำคัญของการเติบโตและให้ผลผลิต ปริมาณฝนและความชื้น ต้นกาแฟโรบัสต้าต้องการความชื้นไม่ต้องมากนัก เพียงช่วงระยะเวลา 8-10 สัปดาห์ เพื่อชักนำการเกิดตาดอก ซึ่งพื้นที่ที่ปลูกกาแฟโรบัสต้า ณ บ้านแม่หลู้ เข้าลักษณะดังกล่าวทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างของผลผลิตกาแฟโรบัสต้าทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ คุณสามารถ มีความเห็นว่า ขึ้นอยู่กับ

  1. สายพันธุ์ของต้นกาแฟ
  2. แหล่งที่ปลูก ดิน น้ำ ความชื้น อุณหภูมิหนาวเย็น พื้นที่สูงต่ำจากระดับน้ำทะเล
  3. การปฏิบัติดูแลเอาใจใส่
  4. การเก็บเกี่ยว การคัดเลือกผลกาแฟ

พลิกผืนนาเป็นไร่กาแฟ 

เครื่องกะเทาะเปลือกกาแฟ

คุณสามารถ อธิบายถึงเหตุผลให้ฟังว่า เหตุที่เลิกใช้ผืนนาที่ปลูกข้าวมาปลูกกาแฟแทน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขต หรือโซน (N) ซึ่งไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว จึงทดลองนำต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้ามาปลูก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดีจากจังหวัดชุมพร มีลูกดก ก้านยาว ข้อถี่ ปรากฏว่าต้นกาแฟเจริญเติบโตดี อายุต้นเพียง 1 ปีครึ่ง ก็ให้ผลผลิตแล้ว และติดผลดกมาก ต้องใช้ไม้ค้ำกันเลยทีเดียว ผลกาแฟก็มีขนาดใหญ่ น้ำหนักดี

กาแฟที่ปรับตัวได้ดีของพื้นที่บ้านแม่หลู้

คุณสามารถ ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ที่ตนเองปลูกกาแฟซึ่งปรับเปลี่ยนจากผืนนา และพื้นที่เดิมของพ่อตาที่เคยปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีลักษณะและคุณภาพดินแตกต่างกัน แต่การปลูก การดูแล ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก การปลูกระยะห่างระหว่างต้น 3×3 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ 177 ต้น การขุดหลุม กว้างxยาวxลึก เท่ากัน คือ 50 เซนติเมตร ขุดหลุมแล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเล็กน้อย จึงนำต้นพันธุ์กาแฟที่เพาะเมล็ดในถุงดำมีอายุต้นได้ 6-8 เดือน มีใบจริง 5-7 คู่ ลงปลูก แล้วใช้ฟางข้าวกลบโคนต้นเพื่อรักษาความชื้น แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนก็ไม่ต้องคลุมโคนต้น เว้นแต่ช่วงออกดอก ติดผล และการพัฒนาของผล ต้องใช้ฟางข้าวคลุมดิน แล้วที่สุดฟางข้าวก็จะสลายกลายเป็นปุ๋ยไปตามธรรมชาติ ส่วนพื้นที่เดิมที่เคยปลูกมันสำปะหลังพื้นที่เป็นเนินเขาคล้ายหลังเต่า ไม่มีน้ำท่วมขัง จัดระยะระหว่างต้นเหมือนกัน แต่เป็นไปตามสภาพพื้นที่และทิศทางของแสงแดด แต่ละต้นที่จะปลูกจะทำเป็นแอ่ง หรือหลุม เพื่อไม่ให้น้ำฝนชะล้างหน้าดิน ปลูกแล้วใช้ฟางข้าวกลบโคนต้น เท่าที่ผู้เขียนลงไปดูพื้นที่ทุกแปลงปลูกก็เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีและไม่ปลูกไม้บัง แต่ประการใด ต้นกาแฟก็ยังมีใบเขียวเข้มโตเร็วมาก

กล้าหมาก

น้ำ คุณสามารถ บอกว่า ไร่กาแฟทุกแปลงไม่ได้วางระบบน้ำแต่อย่างใด เพราะกาแฟโรบัสต้าทนต่อสภาพแล้ง ใน 1 ปี ให้น้ำเพียง 2 ครั้ง โดยสังเกตที่ต้นและใบแสดงอาการเหี่ยวเฉาหรือไม่ อีกประการหนึ่งพื้นที่บ้านแม่หลู้มีระยะห่างของการได้รับน้ำฝนที่พอเหมาะแก่การเติบโต การคงทนของต้นกาแฟ

ปุ๋ย ต้นกาแฟก็ต้องการธาตุอาหารเหมือนไม้ผลประเภทอื่นๆ ก่อนใส่ปุ๋ยต้องกำจัดวัชพืชเสียก่อน ปุ๋ยที่ให้จะให้ตามช่วงระยะเวลา คือช่วงปลายฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ช่วงกลางฤดูฝน และช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว 1 ปี ใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง และปุ๋ยที่นำมาใส่จะซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมเองตามสูตรที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ก็ใช้ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีด้วย

การตัดแต่งกิ่งที่หัก กิ่งพับ กิ่งที่ไม่สมบูรณ์

คุณสามารถ บอกว่า ตนจะเริ่มตัดแต่งกิ่งตั้งแต่ต้นกาแฟมีอายุเพียง 1 ปี เพื่อไว้ทรงพุ่มให้มีแขนงและแตกลำต้นเพิ่มขึ้นมาให้มีกิ่งรอบด้าน แต่ทรงพุ่มจะต้องโปร่ง โล่ง เป็นการป้องกันโรค แมลง ได้ดีอีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อได้มีการเก็บผลกาแฟหมดแล้ว ทุกปีก็จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งเช่นกัน ตัดกิ่งที่หัก กิ่งที่พับ และกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออก ทิ้งช่วงให้ต้นได้พักตัวรอการแตกดอกรุ่นใหม่ 

โรคและแมลง มีน้อยจนถึงไม่พบเห็นเลยในแปลงปลูก

แปลงปลูกกาแฟมองจากมุมสูง

โดยทั่วไปแล้วกาแฟมักจะพบเจอกับโรคและแมลงเข้าทำลาย ได้แก่ โรคราสนิม โรครากขาว โรคเน่าคอดิน โรครากเน่าแห้ง แต่ที่ไร่กาแฟโรบัสต้าของคุณสามารถ คุณสามารถบอกว่ายังไม่พบโรคดังกล่าว ส่วนแมลงศัตรูของต้นกาแฟ ได้แก่ เพลี้ยหอยสีเขียว มอดเจาะผลกาแฟ ไม่พบ เคยพบแต่หนอนเจาะลำต้น และเคยสังเกตเห็นนกมันบินมาจิกกิน เคยพบเห็นที่ถูกเจาะทำลายบ้าง กรณีนี้ก็จะตัดกิ่งนำไปทำลาย ดังนั้น ไร่กาแฟโรบัสต้าแห่งนี้จึงไม่ได้ใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง

การออกดอก ติดผล และเก็บผลกาแฟสด ต้องดูแลเอาใจใส่

การออกดอก คุณสามารถ บอกว่า ต้นกาแฟที่ไร่ของตน อายุแค่ 1 ปีครึ่ง ก็เริ่มออกดอกทุกต้น ดอกจะขาวทั่วทั้งไร่ ดูแล้วสวยงามมาก แต่ถ้าเป็นต้นกาแฟที่เคยให้ผลผลิตแล้ว จะออกดอกเป็น 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 เดือนธันวาคม ชุดที่ 2 เดือนมกราคม คุณสามารถ ตั้งข้อสังเกตว่า ต้นกาแฟโรบัสต้าที่จังหวัดชุมพร จะออกดอกก่อนต้นกาแฟที่บ้านแม่หลู้เพียงไม่ถึง 1 เดือน และจากการสังเกตของตนเห็นต้นกาแฟเหมือนจะรับรู้การสัมผัสของธรรมชาติ ฟ้า อากาศ ร้อน ฝน หนาว ต้องการช่วงแล้งสำหรับสร้างตาดอก พอฝนมาดอกก็จะเริ่มออก แต่ถ้ามีหมอกเหมยตามมาด้วยหรือเริ่มหนาว ต้นกาแฟจะชอบมาก การเก็บผลกาแฟดิบ นับตั้งแต่ดอกกาแฟบานจนถึงผลสุกพร้อมเก็บ จะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานถึง 11 เดือน คุณสามารถ บอกว่า ผลกาแฟจะเริ่มเปลี่ยนสีเขียวเป็นสีแดง หรือผลเชอร์รี่ (Cherry) พร้อมเก็บผลได้ในเดือนพฤศจิกายนยาวไปจนถึงเดือนมกราคม โดยจะต้องเลือกเก็บเฉพาะผลสีแดงถึงแดงเข้ม แต่จุดเด่นของกาแฟโรบัสต้าไร่ของคุณสามารถนั้น แต่ละข้อและปล้อง ผลกาแฟจะสุกพร้อมกัน จึงง่ายต่อการเก็บผล ในรอบปีจะเก็บผลได้ 3 รอบ ขณะที่กาแฟโรบัสต้าในพื้นที่จังหวัดชุมพร จะเก็บผลได้ 2 รอบ หลังการเก็บผลสด คุณสามารถ บอกว่า จะนำผลสดทั้งเปลือกไปตากแดด ณ ลานตากให้เร็วที่สุด จะใช้ช่วงเวลาแดดจัดๆ ตากไว้ 2 สัปดาห์ ระหว่างนั้นต้องคอยเกลี่ยเมล็ดกาแฟ จากนั้นตรวจสอบโดยจับผลที่แห้งเขย่า ฟังเสียง…คลอนๆ…หลวม…เป็นอันว่าแห้งแล้ว อีกวิธีการหนึ่งก็คือ ตรวจสอบโดยการดมกลิ่น…เมล็ดสารกาแฟมีกลิ่นหอม สีมีลักษณะแห้งแบบ Dry processed เมื่อเมล็ดกาแฟแห้งดีแล้วและไม่มีกลิ่นอื่น ก็จะบรรจุใส่กระสอบเก็บไว้ในที่แห้งรอการเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกก่อนส่งขายซึ่งจะเรียกว่า เมล็ดสารกาแฟ

ส่งต้นกล้าให้สมาชิก

เมล็ดสารกาแฟยังเป็นที่ต้องการของตลาด

คุณสามารถ บอกว่า ปัจจุบันตนเองส่งเมล็ดสารกาแฟให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการกาแฟ ทั้งยังมีแหล่งรับซื้อนอกจังหวัดแพร่ ติดต่อขอซื้อส่งเข้าโรงงานแปรรูป ซึ่งปีที่แล้วส่งขายเมล็ดสารกาแฟได้ 1,600 กิโลกรัม เป็นปีที่ 2 นับแต่เริ่มปลูก 

ทำไม?… ต้นกาแฟโรบัสต้า

ที่บ้านแม่หลู้ จึงโตเร็ว ให้ผลดก ผลใหญ่

คุณสามารถ ได้อธิบายจากประสบการณ์ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้กาแฟโรบัสต้าสามารถเพาะปลูก ณ ที่ใดก็ได้ ถ้าพื้นที่นั้นมีปริมาณน้ำฝน มีความชื้นในอากาศ มีการกระจายตัวของฝน มีอุณหภูมิ แสงแดดดี ก็ไม่จำเป็นต้องปลูกในเขตชลประทาน อย่างที่พื้นที่บ้านแม่หลู้ก็ไม่มีระบบชลประทาน และแปลงของตนก็ไม่ได้วางระบบน้ำ แม้จะได้มีการขุดสระน้ำไว้ ก็นำมาใช้เมื่อเจอกับภาวะภัยแล้งจริงๆ ปัจจัยดังที่กล่าวมีผลต่อคุณภาพของเมล็ดสารกาแฟ

ด้วยสภาพลักษณะทางภูมิประเทศของบ้านแม่หลู้ ล้อมรอบด้วยภูเขาและเนินเขา มีแม่น้ำยมไหลผ่าน พื้นที่ราบมีเพียงเล็กน้อยบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งพื้นที่ราบดังกล่าวใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรได้ อยู่ในพื้นที่สูง 173 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (จากภาพถ่ายดาวเทียม) ช่วงของฤดูกาลปกติจะเป็นดังนี้

– ฤดูหนาว ระยะเวลา 4 เดือน จากกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 14 องศาเซลเซียส

– ฤดูร้อน ระยะเวลา 3 เดือน จากกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 37 องศาเซลเซียส

ปลูกทุเรียนแซม เจริญเติบโตดี

– ฤดูฝน ระยะเวลา 5 เดือน จากกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝน 1,000-1,500 มิลลิเมตร (สถิติเฉลี่ย 5 ปี)

ที่นำข้อมูลดังกล่าวมาเสนอฤดูกาลก็เป็นตัวบ่งชี้ถึงพื้นที่แห่งนี้มีความเหมาะสมกับการปลูกกาแฟโรบัสต้า ก็จะสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ที่จะตัดสินใจเปลี่ยนมาปลูกกาแฟ ซึ่งไร่กาแฟของคุณสามารถเป็นแปลงตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึงความดกของผลกาแฟ

ปลูกต้นทุเรียนแทรกระหว่างต้นกาแฟ

และปลูกต้นหมากไว้ยึดต้นทุเรียน

คุณสามารถ เล็งเห็นว่า ในอนาคตต้นทุเรียนอาจกลายเป็นไม้ผลสร้างรายได้ที่ดี หากผลผลิตกาแฟจากต้นที่มีอายุมากขึ้น ก็จะได้ผลผลิตทุเรียนขึ้นมาแทน “ต้นทุเรียนที่ผมปลูกแทรกต้นกาแฟ เป็นทุเรียนที่เพาะจากเมล็ดนะครับ…นำเมล็ดทุเรียนพื้นบ้านมาเพาะในถุงดำ เมื่องอกและอายุต้นได้ 1-2 ปี ก็นำไปปลูกลงดินทำเป็นต้นตอ อีก 2 ปี ต่อมา ผมก็จัดการเปลี่ยนยอดด้วยการเสียบข้างด้วยพันธุ์ทุเรียนหมอนทองทุกต้น ซึ่งหลังจากเปลี่ยนยอดแล้ว ต้นทุเรียนก็เติบโตดี ที่พี่เห็นต้นทุเรียนในแปลง คาดว่าอีก 3-4 ปี ก็จะเริ่มให้ผล”

ติดผลดก ผลโต

ปลูกต้นหมากระหว่างต้นทุเรียน 4 มุม ให้นึกถึงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแต่ละมุม คุณสามารถ จะปลูกต้นหมากไว้ เมื่อต้นหมากโตขึ้นจะใช้เป็นหลักในการยึดโยงต้นทุเรียนไม่ให้โยกเมื่อเจอลมแรงๆ และผลหมากก็ขายได้ ตลาดต้องการ

จะฝากบอกอะไรกับเกษตรกรบ้าง : ผู้เขียนตั้งคำถามตอนท้ายก่อนจบการสนทนา

คุณสุจิตรา ให้ทัศนะว่า กาแฟเป็นไม้ผลตัวเลือกใหม่ที่นำมาปลูกทดแทนพืชอื่น กาแฟที่ปลูกเห็นผลจริง ลบล้างความคิดเดิมๆ ที่ว่า พื้นที่แห่งนี้ปลูกกาแฟไม่ได้ผล จึงต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟ ด้วยสภาพพื้นที่แห่งนี้ไม่อยากให้คนอื่นมีทัศนคติว่า มองไปทางไหนก็เห็นแต่เขาหัวโล้น ปลูกกันแต่พืชเดิมๆ แต่ผลผลิตกาแฟสร้างรายได้ที่มั่นคงจริงๆ

อนาคตที่ฝันไว้

  1. จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกกาแฟโรบัสต้าและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตร เพราะพื้นที่รอบๆ ก็มีแปลงไม้ผลอื่น ทั้งส้มเขียวหวาน ส้มโอ แก้วมังกร เงาะ หม่อน มีอากาศที่บริสุทธิ์ วิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ที่วาดฝันไว้แบบนี้เพราะมีความเชื่อมั่นที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอลอง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปิน และนายอำเภอลอง
  2. สร้างแบรนด์ ไร่กาแฟของตนเองและเครือข่ายว่า “ต้นทางบ้านไร่กาแฟบ้านสวน @ แม่หลู้”
  3. รวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้าบ้านแม่หลู้

ครับ…สนใจจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ คุณสามารถ ตันสกุล หรือ คุณสุจิตรา กองเขียว ที่ให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้ข้างต้น

เผยแพร่ครั้งแรก