เลี้ยงกุ้งน้ำกร่อย ใช้เทคนิคสร้างสมดุลธรรมชาติ รอดทุกสถานการณ์ ฝีมือเกษตรกรดีเด่น ปี 61

“ขั้นตอนของการเลี้ยงกุ้งที่สำคัญที่สุด คือ การเตรียมบ่อ และคุณภาพน้ำ ดังนั้น บ่อพักน้ำจึงจำเป็นสำหรับการเลี้ยงกุ้งมาก เพื่อให้น้ำมีคุณภาพ นอกจากนี้ คุณภาพของลูกกุ้งที่นำมาก็สำคัญ ต้องเลือกลูกกุ้งจากแหล่งที่ได้ผ่านการรับรองการตรวจคุณภาพและโรคของกุ้ง”

ข้อมูลข้างต้น คุณวศิน ธนภิรมณ์ วัย 68 ปี เป็นผู้ให้ข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งจากการนั่งคุยยาวนานค่อนชั่วโมง ประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งของคุณวศินไม่เป็นรองใคร แม้กระทั่งเพื่อนบ้านรอบข้างหรือคนในอำเภอหนอกจิกที่เคยเลี้ยงกุ้งมาด้วยกัน ล้มเลิก เปลี่ยนอาชีพจากเลี้ยงกุ้งไปทำการประมงชนิดอื่นกันเกือบหมด เพราะประสบภาวะขาดทุนจากการเลี้ยงกุ้ง สำหรับคุณวศินเองไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ประสบการณ์ที่คุณวศินได้รับ ช่วยกระตุ้นสร้างแนวคิดการเลี้ยงกุ้งอย่างถูกวิธี มีเทคนิคการสร้างธรรมชาติการเลี้ยงกุ้งให้เกิดความสมดุล ทำให้บ่อกุ้งที่เลี้ยงมา 30 ปี ยังคงเป็นบ่อกุ้งมาโดยตลอด ไม่ได้เปลี่ยนเป็นทำการประมงชนิดอื่น อีกทั้งปีที่ผ่านมา คุณวศินเอง ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ประจำปี 2561

คุณวศิน ธนภิรมณ์ อยู่บ้านเลขที่ 104/5 หมู่ที่ 1 ซอยภูธร ถนนเพชรเกษม ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีอาชีพเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจนประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งทำงานเพื่อสังคมจนได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ เกษตรกร ให้เป็นผู้นำถ่ายทอดความรู้สู่การสร้างอาชีพ

ปี 2532 เริ่มต้นจากการลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำกับญาติ จำนวน 1 บ่อ เป็นช่วงที่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำมีการขยายตัวในภาคใต้เป็นอย่างมาก ขณะนั้นคุณวศินซึ่งทำงานรับราชการครู ได้ใช้เวลาหลังเลิกงานในการศึกษา เรียนรู้เทคนิคในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยการเลี้ยงครั้งแรกประสบผลสำเร็จ จึงทำให้มีการพัฒนาระบบการเลี้ยงและขยายฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพิ่มขึ้น

เริ่มจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำกับญาติ จำนวน 1 บ่อ คุณวศินใช้เวลาหลังเลิกจากงานประจำในฐานะเรือจ้าง ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และประสบความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เมื่อเกิดการระบาดของโรคหัวเหลืองในกุ้งกุลาดำอย่างรุนแรง คุณวศินเองก็เป็นหัวเรือใหญ่ในการรวมกลุ่มกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดปัตตานี หาวิธีป้องกันและแก้ปัญหา โดยนำฟาร์มกุ้งกุลาดำของตนเองเป็นแหล่งทดลองและเรียนรู้แนวทาง

หลังการเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ประมาณ 19 ปี เกิดการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาวในกุ้งกุลาดำขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกุลาดำได้รับความเสียหายมาก การเลี้ยงกุ้งกุลาดำในระยะนั้นจึงชะลอการเลี้ยงออกไป

ไม่นานนัก มีการนำกุ้งขาวแวนนาไมเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย คุณวศินจึงหันมาให้ความสนใจและเริ่มหาเทคนิคการเลี้ยงกุ้งขาว เมื่อมั่นใจมากขึ้น จึงส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเลี้ยงกุ้งขาวมากขึ้น

แต่ทุกๆ อาชีพ มักประสบภาวะวิกฤต ฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวของคุณวศินก็เช่นกัน เมื่อโรคอีเอ็มเอสระบาดหนัก ทั้งภาคตะวันออก ภาคกลาง ลามลงมาถึงภาคใต้ ก็ถูกโรคอีเอ็มเอสเข้าเล่นงาน จนคุณวศินบอกว่า ถอยไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องหาแนวทางการเลี้ยงและเทคนิคการเลี้ยงกุ้ง เพื่อฝ่าวิกฤตโรคระบาดต่างๆ ในกุ้งให้ได้

“ผมเริ่มจากการศึกษา ดูงาน ตามฟาร์มต่างๆ รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิชาการ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ แล้วนำความรู้ต่างๆ ที่ได้รับมาบูรณาการกับประสบการณ์ที่ผ่านมา จนสามารถคิดค้นระบบการเลี้ยงกุ้งที่เหมาะสมกับฟาร์มของตนเอง คือการเลี้ยงกุ้งแบบสร้างสมดุลธรรมชาติ (สูตรคนจน) โดยเน้นการใช้จุลินทรีย์ (ปม.1) ของกรมประมง การใช้น้ำหมักสับปะรด น้ำปลาหมัก ใช้ปูนมาร์ลในการเตรียมบ่อและใช้ปลาพี่เลี้ยงในการบำบัดน้ำ โดยเทคนิคการเลี้ยงแบบสร้างสมดุลธรรมชาติ ลงทุนน้อยกว่าเลี้ยงกุ้งแบบเดิมกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้ผลผลิตสูง อัตรารอดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องพึ่งยาหรือสารเคมี จนชาวบ้านเรียกติดปาก เลี้ยงกุ้งสูตรคนจน โดยมีหัวใจหลักคือ พอเพียง และ ปม.1”

คุณวศิน เล่าว่า ใช้ ปม.1 ทุกขั้นตอน ตั้งแต่เตรียมน้ำ นำ ปม.1 แบบขวด 2 ขวด และแบบซอง 1 ซอง กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม รำละเอียด 3 กิโลกรัม แป้งมัน ขนาด 1.5 กิโลกรัม 3 ถุง ผสมน้ำ 200 ลิตร เปิดเครื่องให้ออกซิเจน ปิดฝาทิ้งไว้ 36 ชั่วโมง เตรียมน้ำวันแรกถึงวันที่ 5 สาดน้ำหมักทุกวัน วันละ 400 ลิตร (ขนาดบ่อ 4-5 ไร่) วันที่ 6-10 ให้ลดเหลือวันละ 200 ลิตร เพื่อให้เกิดสัตว์หน้าดินเป็นอาหารกุ้งวัยอ่อน ทำให้ 15 วันแรกที่ลงกุ้ง ให้อาหารกุ้งเพียง 10 เปอร์เซ็นต์

ระหว่างการเลี้ยงจนถึงวันจับ ยังคงสาดน้ำหมัก ปม.1 ทุกวัน แต่ปรับเปลี่ยนสูตรหมัก ไม่ต้องผสมรำละเอียดและแป้งมัน และลดปริมาณลง เหลือวันละ 100 ลิตร เพื่อสร้างอาหารธรรมชาติตลอดการเลี้ยง ทำให้กุ้งได้กินทั้งอาหารธรรมชาติ และอาหารเม็ด กุ้งจึงแข็งแรง มีภูมิต้านทาน อัตรารอดสูง ขณะเดียวกันจุลินทรีย์ยังช่วยให้ค่าพีเอชไม่แกว่ง ค่าอัลคาไลน์สูง ช่วยบำบัดน้ำ ต้านทานโรคกุ้งตายด่วน และโรคตัวแดงดวงขาว

“เคล็ดลับง่ายๆ ที่ผมใช้คือ พื้นบ่อจะปล่อยปลานิลเลี้ยงไว้ เพื่อบำบัดตะกอนก้นบ่อ ไร่ละ 400 ตัว ที่สำคัญต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ให้กุ้งได้รับแร่ธาตุจากน้ำใหม่ตลอด ทำให้ไม่ต้องเติมแร่ธาตุเพิ่ม มีผลกระตุ้นให้กุ้งลอกคราบได้ตลอด กุ้งจะแข็งแรง ไม่เป็นโรคขี้ขาว ทั้งยังคุมสีน้ำรวมถึงค่าพีเอชไปในตัวอีกด้วย”

เมื่อเริ่มต้นดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง คุณวศินทดลองเลี้ยงกุ้งด้วยการสร้างสมดุลธรรมชาติ โดยใช้ ปม.1 ของกรมประมงเลี้ยงกุ้ง (สูตรคนจน)

รุ่นแรก ในน้ำความเค็มต่ำ ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2558 จำนวน 1 บ่อ ขนาด 3.4 ไร่ ผลปรากฏว่าประสบความสำเร็จจับกุ้งได้ 12,000 กิโลกรัม หรือเฉลี่ย 3,529 กิโลกรัม/ไร่

รุ่นที่ 2 เลี้ยงช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2558 จำนวน 4 บ่อ ขนาดบ่อเลี้ยง 3.4 ไร่ โดยทยอยลงทีละบ่อห่างกันประมาณ 15-30 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 9,500 กิโลกรัม/บ่อ หรือเฉลี่ย 2,794 กิโลกรัม/ไร่

การเลี้ยงกุ้งแบบสร้างสมดุลธรรมชาตินี้ ยังช่วยควบคุมเชื้ออีเอ็มเอสได้ โดยดูผลจากห้องปฏิบัติการตรวจเชื้ออีเอ็มเอส และจากการที่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ผลผลิตตามเป้าหมาย ติดต่อกัน 6 รุ่น ตั้งแต่ ปี 2558

คุณวศิน เปิดเผยเทคนิคการเลี้ยงกุ้งแบบสร้างสมดุลธรรมชาติว่า เป็นวิธีที่ง่ายมาก หรือเรียกสั้นๆ ว่า การใช้สูตรคนจนเลี้ยงกุ้ง โดยให้ความสำคัญกับ 4 ปัจจัย คือ

  1. พื้นบ่อเลี้ยงต้องสะอาด โดยใช้จุลินทรีย์ ปม.1
  2. การบำบัดน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งโดยใช้ปลานิล
  3. กุ้งที่เลี้ยงสะอาด แข็งแรง มีภูมิต้านทานและปลอดเชื้อ จากการเติมน้ำปลาหมักและน้ำสับปะรดหมักลงในอาหารกุ้ง
  4. น้ำจากการเลี้ยงกุ้งที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมีความสะอาด เพราะไม่มีการใช้ยาตลอดการเลี้ยง

ปัจจุบัน พื้นที่ทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวของคุณวศิน มีเกือบ 80 ไร่ แต่ในจำนวนนี้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่เป็นบ่อสำหรับพักน้ำ เพราะคุณวศินให้ความสำคัญกับระบบน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้ง ส่วนบ่อเลี้ยงกุ้งมีเพียง 7 บ่อ ขนาดบ่อละ 4 ไร่ เท่านั้น

ในพื้นที่ 4 ไร่ ต่อบ่อ สามารถปล่อยกุ้งได้มากถึง 500,000 ตัว และอัตรารอด 80 เปอร์เซ็นต์

สำหรับปัญหาภัยธรรมชาติ ก็ถือเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่จังหวัดปัตตานีประสบ แต่ละปีสามารถเลี้ยงกุ้งได้ 2 รอบเท่านั้น ต้องพักบ่อหรือเผื่อเวลาหากเกิดอุทกภัยไว้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี

คุณวศิน ฝากทิ้งท้ายสำหรับมือใหม่อยากเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งว่า ขอให้ศึกษาเทคนิคและวิธีเลี้ยงกุ้งให้ดี เพราะปัจจุบันไม่ง่ายเหมือนในอดีต หากมีโอกาสเลือก ควรเลือกทำเลที่เหมาะสม และต้องพร้อมรับความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เลี้ยงกุ้งขาวในจังหวัดปัตตานี ปัจจุบัน มีประมาณ 30 ราย เฉลี่ยรายละประมาณ 50 ไร่ พื้นที่เลี้ยงกุ้งขาวในจังหวัดปัตตานีทั้งหมด 1,500 ไร่ ผลผลิตกุ้งที่ได้จากพื้นที่จังหวัดปัตตานี 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ

ข้อมูลดีๆ เช่นนี้ คุณวศิน ธนภิรมณ์ ยินดีเผยแพร่ความรู้ในทุกๆ ด้าน โทรศัพท์ 089-876-4610 หรือขอชมฟาร์มกุ้งได้ที่ เลขที่ 104/5 หมู่ที่ 1 ซอยภูธร ถนนเพชรเกษม ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

เผยแพร่ครั้งแรกวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.256