พัทลุงทำนาข้าวในทะเลสาบ ผลผลิตดี ไม่ต้องใช้ปุ๋ย

บรรพบุรุษชาวประมงริมทะเลสาบสงขลา ฝั่งจังหวัดพัทลุง หมู่ที่ 8 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตออกเรือหาปลาเป็นอาชีพหลัก หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว บ้านเรือนก็ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบ ซึ่งแต่ละรายมีที่ดินบนฝั่งเพื่อประกอบอาชีพเพาะปลูกน้อยมาก จึงคิดค้นหาวิธีการเพาะปลูกพืชในทะเลสาบ หรือริมฝั่งริมทะเลสาบเพื่อเป็นผลผลิตเลี้ยงครอบครัว บรรพบุรุษของชาวประมงนับร้อยปี  จึงได้ทำนาข้าวในทะเลสาบ โดยใช้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบที่ทอดยาวกว่า 9 กิโลเมตร และถ่ายทอดความรู้วิธีการปลูกข้าวในทะเลสาบมาจนถึงยุคปัจจุบัน

คาดว่าการทำนาข้าวแบบนี้มีแห่งเดียวในประเทศไทย

คุณหนูวาด นิยมแก้ว อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 139 หมู่ที่ 8 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษวิธีการทำนาข้าวในทะเลสาบ บอกว่า ตนทำนาข้าวจำนวน 4 ไร่ บริเวณแห่งนี้มาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว และยังมีเพื่อนบ้านอีกจำนวนหลายครัวเรือนทำนาข้าวบริเวณแห่งนี้รวมแล้วเกือบ 200 ไร่ ตามแนวยาวริมฝั่งทะเลสาบของหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร แต่ตลอดแนวริมทะเลสาบ ที่ทำนาข้าวยาวประมาณ 9 กิโลเมตร โดยหนึ่งปีสามารถทำนาข้าวได้หนึ่งครั้งคือการทำข้าวนาปรัง โดยเริ่มปักดำตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนและจะเก็บเกี่ยวผลผลิตปลายเดือนกันยายนของทุกปี ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง ซึ่งในช่วงดังกล่าว น้ำในทะเลสาบจะเป็นน้ำกร่อยมีความจืดมากกว่าความเค็ม หากเกินเวลาดังกล่าวจะไม่ได้รับผลผลิตเนื่องจากน้ำทะเลจะหนุนสูงท่วมต้นข้าวเน่าเปื่อยเสียหาย

“ในช่วงนี้สามารถทำนาข้าวได้ เพราะทะเลสาบไม่มีคลื่นลม เรียกว่าช่วงลมพลัด โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ในช่วงเดือนกันยายนนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวพอดี และจะต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จด้วย เพราะหลังจากเดือนกันยายนแล้ว จะเข้าสู่ช่วงลมนอก แล้วทะเลสาบสงขลาจะมีคลื่นลมแรง หากเก็บเกี่ยวไม่เสร็จข้างจะเสียหายหมด”

วิธีการเพาะปลูกนั้น ต้องหาพันธุ์ข้าวที่ลำต้นแข็งแรง มีรากลึก และต้นข้าวเมื่อเจริญเติบโตแล้วต้องมีความสูง สามารถต้านกับสภาพแรงลมและคลื่นขนาดเล็กที่ซัดเข้าหาฝั่งได้ ดังนั้นจึงนิยมใช้พันธุ์ข้าว กข.33 และพันธุ์ข้าวชัยนาท ผู้ทำนาข้าวในทะเลสาบนั้น จะต้องเตรียมแปลงนาข้าวบริเวณเพาะปลูกเนื่องจากนาข้าวส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่น้ำไม่จมประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำการไถกลบหน้าดินเล็กน้อย อีกส่วนที่จมน้ำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ระดับความลึกของน้ำประมาณ 30 เซนติเมตร  สามารถปักดำได้เลย เนื่องจากเป็นดินเลนและตะกอนที่ทับถม

ขั้นตอน นำเมล็ดพันธุ์ข้าวหว่าน เพื่อเพาะต้นกล้าให้มียาวสูงประมาณ 40-45 เซนติเมตร แล้วนำต้นกล้าปักดำโดยใช้ต้นกล้า 5-6 ต้นต่อหนึ่งกอ  ปักดำให้ลึกลงในดินประมาณ 10 เซ็นติเมตร เพื่อให้มีความแข็งแรงต่อคลื่นขนาดเล็กที่พัดเข้าหาต้นกล้าจะไม่ให้หลุดลอยขึ้นมา และปักดำจนเต็มแปลง สำหรับการดูแลรักษานั้นไม่ยุ่งยากและไม่เปลืองเงินไม่ต้องลงทุน  เนื่องจากการทำนาข้าวในทะเลสาบนั้น ไม่ต้องใช้ปุ๋ย ไม่ต้องไถนา และไม่ต้องใช้ยากำจัดพืช และบริเวณพื้นที่ทำนาข้าวนั้นจะมีแร่ธาตุจากธรรมชาติทับถมอยู่แล้วจากตะกอนที่ถูกพัดพามาจากท้องทะเลสาบนั้นเอง

“ที่สำคัญมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวตลอดฤดูกาลทำนา เพราะการขึ้นลงของน้ำในทะเลสาบ  ซึ่งได้รับผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยคุ้มค่ากับการลงทุน  นอกจากนั้นแล้วเมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตยังเป็นแหล่งอาศัยของจำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา ขนาดเล็กอีกด้วย ส่วนปริมาณข้าวจะได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ชาวนาริมทะเลสาบสงขลา ไม่ต้องซื้อข้าวกิน และบางรายยังเหลือสามารถขายได้ด้วย การทำนาริมทะเลสาบสงขลา”