กล่องแยกปลา มีไว้ไม่เสียหาย

ปลาที่ได้มาใหม่หากเอาปล่อยลงตู้เลี้ยงรวมเลยนั้นอาจสร้างความเสียหายได้อย่างที่หลายคนไม่เคยคิด เช่น พาเอาเชื้อปรสิต เชื้อไวรัส แบคทีเรีย ฯลฯ ที่ฝังติดตัวจากบ่อเพาะเลี้ยงมาแพร่ในตู้ปลารวม ทำให้ปลาเก่าที่อยู่มาแต่ไหนแต่ไรเริ่มเจ็บป่วยล้มตาย ที่เป็นพยาธิปรสิตต่างๆ ก็แพร่ขยายพันธุ์กันยุ่บยั่บต้องรักษากันวุ่นวายมาก หรือปลาใหม่อาจไม่ได้เจ็บป่วยหรือเป็นพาหะนำโรคแต่อย่างใด หากแค่ยังไม่สามารถปรับตัวได้กับสภาพน้ำที่บ้านได้ดีนัก การปล่อยรวมในตู้เลี้ยงอาจไปสร้างความอ่อนแอ ความเครียดให้กับปลามาใหม่ หรืออาจโดนไล่รังแกจนอาการทรุดและตายภายในเวลาเพียงข้ามคืน

ประโยชน์ของตู้พยาบาลที่สำคัญอีกอย่างคือ เอาไว้แยกรักษาปลาป่วย ในตู้เลี้ยงรวมอาจมีปลาบางตัวอ่อนแอติดเชื้อแบคทีเรีย ในขณะที่ปลาอื่นยังแข็งแรงมีภูมิต้านทานดีอยู่ ครั้นจะรักษาโดยใส่ยาลงไปกับปลาทั้งตู้ก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก เนื่องจากตัวยาจะไปทำลายแบคทีเรียชนิดดีที่ทำประโยชน์ต่อระบบนิเวศในตู้ให้ตายไปด้วย ตู้พยาบาลที่มีเผื่อไว้จึงได้เอามาใช้ประโยชน์กันก็คราวนี้แหละครับ คือแยกเอาเฉพาะปลาตัวที่ป่วยเท่านั้นออกมารักษา เมื่อหายแล้วก็ยังพักฟื้นต่ออีกสักระยะค่อยปล่อยกลับลงตู้รวมตามเดิม ส่วนตู้พยาบาลเมื่อเลิกใช้งานแล้วก็ล้างทำความสะอาด ฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิมหรือเกลือเข้มข้น ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง เตรียมนำมาใช้ในครั้งต่อไป

ตู้พยาบาลไม่ควรเล็กเกินไปนัก อย่างน้อยควรจุน้ำได้สัก 30-50 ลิตร มีระบบกรองง่ายๆ อย่างกรองกระป๋องที่ใช้ควบคู่กับปั๊มลมเพื่อให้ออกซิเจนและกรองเก็บตะกอนในน้ำได้ ยาที่ควรมีติดบ้าน (สำหรับรักษาปลาสวยงาม) ก็ควรมียาในกลุ่มแอนตี้ไบโอติก ยากำจัดพยาธิภายนอก ยาฆ่าเชื้อ เช่น มาลาไคท์กรีน เมทิลินบลู ด่างทับทิม ยาเหล่านี้ไม่ใช่เอามาใช้ทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำปลาอย่างที่หลายคนเข้าใจ (พวกร้านขายปลามักอัดความรู้แบบผิดๆ มาให้จนกลายเป็นคนติดยา ต้องใส่ยาทุกครั้งหลังเปลี่ยนถ่ายน้ำ) หากแต่เอามาใช้เมื่อปลามีความจำเป็นต้องใช้เท่านั้น เช่น เมื่อเกิดอาการครีบเปื่อยกร่อน มีอาการตกเลือดซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียก็ใช้ยาแอนตี้ไบโอติก เมื่อเกิดพยาธิอย่างเห็บระฆัง หนอนสมอ ก็ใช้ยากำจัดพยาธิภายนอก เมื่อเกิดอาการของโรคจุดขาวก็ใช้ยาจำพวกมาลาไคท์กรีนหรือฟอร์มาลิน การใช้ยาควรศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียดเสียก่อน ความเข้มข้นของยาในการรักษาปลาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ปลาบางชนิดแพ้สารเคมีอย่างรุนแรง เช่น เสือตอ อโรวาน่าและปลาในกลุ่มคาราซิน หากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาผู้จำหน่ายหรือสอบถามผู้รู้เสียก่อน

มาว่ากันต่อเรื่องกล่องแยกปลา

มีตู้พยาบาลแล้วทำไมยังต้องมีกล่องแยกปลาอีก นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นประจำเวลาคุยกันเรื่องนี้ หากเปรียบตู้รักษาปลาเป็นโรงพยาบาลแล้ว เจ้ากล่องแยกปลาก็คือห้องที่ใช้แยกผู้ป่วยแต่ละคนออกไม่ให้ปะปนกันนั่นเอง บางครั้งบางคราวปลาในตู้เลี้ยงอาจเจ็บป่วยขึ้นมาพร้อมๆ กันหลายตัว หากอาการไม่มากนักก็เอามารักษารวมได้ในตู้เดียวกัน แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นประจำ ปลาจะมีอาการเจ็บป่วยมากน้อยไม่เท่ากัน บางตัวยังดูไม่ต่างกับปลาปกติ กินได้ ว่ายน้ำยังปราดเปรียว ในขณะที่บางตัวซึม ไม่ว่ายน้ำ บางตัวอาจถึงขั้นเสียสมดุล (ปลาทองนี่เป็นประจำ)

Advertisement

เมื่อนำมาป่วยเหล่านี้มารักษารวม ปลาที่อาการหนักกว่ามักมีอาการแย่ลง ๆ เพราะมันรบกวนกันเอง หรือปลาที่มีอาการเสียสมดุลเนื่องจากการติดเชื้อภายในไม่สามารถว่ายน้ำได้ดี คอยแต่ถูกแรงกระเพื่อมของฟองอากาศจากระบบกรองพัดพาลอยตุ๊บป่องๆ อย่างนี้ไม่มีทางหาย กล่องแยกปลาช่วยจัดการให้ปลาป่วยเหล่านี้อยู่รวมกันได้ในตู้ใบเดียวกัน แต่ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน ปลาที่ป่วยมากก็ไม่ถูกรบกวนจากปลาป่วยน้อย ปลาที่เสียสมดุลก็มีที่มีทางมีกรอบบังคับไม่ให้ลอยเคว้งคว้างไปไหนต่อไหน การกำหนดอาหารของแต่ละตัวก็ง่าย เมื่อรักษาได้สักระยะ ปลาที่ป่วยน้อยจะฟื้นคืนสภาพได้ก่อนก็เอากลับไปเลี้ยงในตู้รวมก่อน ตามลำดับไป

กล่องแยกปลาต้องมีคุณสมบัติลอยน้ำ คล้ายกระชังที่เขาเลี้ยงปลาในคลอง บริเวณโดยรอบเป็นตาข่ายหรือตะแกรง น้ำสามารถไหลผ่านได้ง่าย มีขอบทึบยกสูงกว่าระดับผิวน้ำเพื่อกันปลากระโดดและกันอาหารไม่ให้ไหลหลุดออกไปหรือไหลเข้ามา ทำจากวัสดุที่เรียบไม่ทำอันตรายผิวปลา และสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย

Advertisement

กล่องแยกปลานั้นจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับตัวปลาที่จะเอาออกมาแยกรักษา หากเป็นปลาใหญ่อย่างปลาทอง ปลาหมอสี กล่องก็ควรกว้างและลึกสักหน่อยเพื่อให้ปลาอยู่อย่างไม่คับแคบ แต่ถ้าเป็นปลาเล็กๆ จิ๋วๆ ก็ใช้กล่องเล็กลงไปตามสัดส่วน ที่สำคัญต้องมีตาข่ายหรือตะแกรงที่ถี่ละเอียดพอ กันไม่ให้ปลาเล็กๆ ว่ายหลุดรอดออกไป ผมเคยทำกล่องแยกปลาสำหรับรักษาปลาทองในตู้โรงพยาบาล ตู้นั้นมีปลาป่วยด้วยโรคเดียวกันอยู่สองสามชนิด มีปลาเล็กๆ อย่างปลาแพลตี้ (Xyphophorus maculates) รวมอยู่ด้วย โรคนั้นไม่ร้ายแรง คาดว่ารักษาไม่นานก็น่าจะหายเป็นปกติ การณ์ปรากฏว่าปลาทองไม่ยักหาย ซ้ำยังป่วยหนักกว่าเดิม มาเห็นในวันหนึ่งว่าเจ้าปลาแพลตี้ที่มีอาการดีขึ้นคอยว่ายเทียวเข้าเทียวออกในช่องของเจ้าปลาทอง จิกรบกวนตามตัวสร้างความรำคาญ เมื่อแยกแพลตี้ออกไปแล้วปลาทองถึงค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งก็ใช้เวลาอีกนานหลายวันทีเดียว

กล่องแยกปลานั้นหาไม่ยากเลยครับ ผมชอบใช้ตะกร้าพลาสติกธรรมดาๆ นี่แหละ เลือกชนิดเหลี่ยมๆ ไม่ต้องลึกนัก มีตะแกรงถี่ มีขอบยกสูง ตะกร้าแบบนี้ลอยน้ำได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน ส่วนการกั้นแบ่งเป็นช่องๆ นั้นก็ไม่ยากอีก ผมใช้แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด (หาซื้อตามร้านเครื่องเขียน) มาวัดขนาดและตัดเป็นแผ่น ใช้เสียบกับซี่ของตะกร้าพลาสติกกั้นเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ได้ตามใจต้องการ สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ หรือถ้ามีปลาป่วยเป็นปลาโตๆ ตัวเดียวก็เอาแผ่นกั้นออกทั้งหมด ไม่ยุ่งยากเลย เมื่อใช้เสร็จก็เอามาล้างทำความสะอาดตากแดดเสียหน่อยก็เรียบร้อยแล้ว

แต่บางคนไม่สะดวกจะ D.I.Y. ก็ไปหาซื้อกล่องแยกปลาที่เขามีขายตามร้านขายปลาได้ เดี๋ยวนี้ทำออกมาหลายแบบหลายขนาด มีทั้งพลาสติกใส มีทั้งแบบผ้าใช้หุ้มกรอบโครงพีวีซี มีทั้งอะครีลิกที่เจาะฉลุเป็นรูเล็กๆ มีฝาปิดด้านบนต่างหาก กล่องจำพวกนี้ออกแบบมาให้ใช้ได้หลากหลาย บ้างเอาไว้แยกแม่ปลาที่ใกล้คลอด (พวกปลาออกลูกเป็นตัวอย่าง หางนกยูง, ปลาสอด, ปลาบอลลูน ฯลฯ) แบบนี้จะมีแผ่นตะแกรงยกพื้นสูงขึ้นมาอีกหน่อยเพื่อให้ลูกปลาแรกคลอดหล่นลอดลงไปอยู่ข้างล่าง แม่ปลาจะได้เก็บกินไม่ได้ (ปลาพวกนี้ชอบกินลูกตัวเองน่ะครับ) แผ่นตะแกรงนี้เอาออกได้เวลานำไปใช้รักษาปลาป่วย กล่องบางรุ่นใช้ใส่เลี้ยงปลากัด บางรุ่นใช้แยกลูกปลาหมอสี เลือกซื้อแบบและขนาดตามความต้องการ แต่ถ้าถามผม ๆ ก็ยังชอบใช้ตะกร้าพลาสติกธรรมดาๆ อยู่ดี เพราะใหญ่และปรับแต่งขนาดของช่องแบ่งได้ ราคาก็แสนถูก หาซื้อได้ตามตลาดนัดทั่วไป

ว่างๆ ก็ลองทำไว้ใช้กันบ้างก็ดี