นักวิชาการเกษตร ม.มหิดล เพาะ “เมล็ดผักหวานป่า” ในขวดพลาสติก แก้ปัญหางอกยาก รากงอ โตช้า

ผักหวานป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 5-10 เมตร ต้นที่โตเต็มที่สูงถึง 13 เมตร ที่พบ ทั่วไปมักมีลักษณะเป็นไม้พุ่มใหญ่อายุหลายปี เนื่องจากมีการตัดแต่งกิ่ง การหักกิ่งเด็ดยอด เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิ่งและยอดอ่อน ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้บริโภค

ใบผักหวานป่า มีสีเขียวเข้ม เนื้อใบกรอบ เนื้อมาก ขอบใบเรียบ ปลายใบป้าน ฐานใบเรียวสอบถึงแหลม ขนาดของใบ ประมาณ 2.5-5 x 6-12 เซนติเมตร ในยอดและใบสดที่รับประทานได้ 100 กรัม ประกอบด้วย น้ำ 76.6 กรัม โปรตีน 8.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 10 กรัม เยื่อใย 3.4 กรัม เถ้า 1.8 กรัม แคโรทีน 1.6 มิลลิกรัม วิตามินซี 115 มิลลิกรัม และพลังงาน 300 กิโลจูล (KJ)

ต้นกล้าที่เติบโตดี รากไม่คดงอ

จากการพูดคุยกับแม่ค้าที่ขายผักหวานป่าโดยตรง พบว่าราคาผักหวานป่าค่อนข้างดีมาตลอด โดยราคาผักหวานป่าจะแพงมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมาจนถึงเดือนมกราคม หลังจากนั้น ราคาจะเริ่มตกลงเล็กน้อย และมีราคาทรงตัวจนไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคมราคาจะลดลงไปอีก เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่มีผลผลิตผักหวานป่าออกมามาก

จากข้อมูลราคาผักหวานป่าของตลาดสี่มุมเมือง พบว่า ราคาโดยเฉลี่ยของผักหวานป่า ในปี 2553 อยู่ที่ 120 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนในปี 2554 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 123 บาท ต่อกิโลกรัม ถือว่าราคาดีพอสมควรเลยนะคะ ส่วนต้นกล้าผักหวานป่าก็มีราคาดีไม่แพ้กัน ราคาต้นกล้าสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ขายอยู่ที่ราคาต้นละ 15-20 บาท แล้วแต่ฤดูกาล

ผักหวานป่า พืชซาดิสม์
การขยายพันธุ์ทำได้ยาก

ต้นกล้าผักหวานป่าในขวดพลาสติก

เมื่อมีราคาดี ผักหวานป่าจึงเป็นพืชที่มีคนสนใจกันมากทำให้ต้นผักหวานป่ามีราคาสูง สิ่งหนึ่งที่ทำให้ต้นผักหวานป่าราคาสูงก็เพราะพืชชนิดนี้ขยายพันธุ์ได้ยากมากๆ ปกติแล้ววิธีการขยายพันธุ์ให้ได้ต้นผักหวานป่ามีหลายวิธี ซึ่งล้วนแต่มีปัญหาจุกจิกกวนใจและให้ผลผลิตน้อย เช่น การตอนกิ่งผักหวานป่าต้องใช้เวลานานกว่าพืชชนิดอื่น คือต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนขึ้นไป การออกรากก็จะไม่ออกมากเหมือนพืชชนิดอื่น

ส่วนการตัดชำ มีเปอร์เซ็นต์การออกรากต่ำมาก นอกจากนั้น ยังมีวิธีขยายพันธุ์ผักหวานป่าแบบซาดิสม์ที่เรียกว่าวิธีการสกัดราก ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มจำนวนต้นผักหวานป่า ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีต้นผักหวานป่าที่มีอายุหลายปีแล้ว และมีรากบางส่วนโผล่ขึ้นมาบนดินใช้สันมีดหรือจอบทุบลงไปบนรากที่โผล่ขึ้นมาให้เปลือกที่หุ้มรากแตก ประมาณ 1 เดือน ต้นผักหวานป่าจะแตกขึ้นมาเป็นต้นใหม่ได้

ส่วนการชำราก เป็นวิธีที่เหมาะกับผักหวานป่าที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยใช้วิธีการเปิดหน้าดินแล้วตัดรากขนาดใหญ่เป็นท่อนๆ นำไปเพาะในถุงดำ ประมาณ 1-2 เดือน รากจะแทงรากใหม่แล้วแทงยอดขึ้นมาเป็นต้นกล้า หรืออีกวิธีใช้การขยายพันธุ์แบบแยกหน่อ คือการตัดรากขนาดใหญ่ให้เป็นแผลแล้วทาแผลด้วยปูนกินหมาก เมื่อปูนแห้งจึงกลบดินกลับเหมือนเดิม รดน้ำสม่ำเสมอ ประมาณ 1-2 เดือน ก็จะมีหน่อผักหวานแทงขึ้นมา เมื่อหน่อโตก็ให้ขุดย้ายมาชำในถุงต่ออีก

แต่วิธีการขยายพันธุ์โดยใช้รากทั้งหลายที่บอกมา เกษตรกรจะต้องมีต้นแม่พันธุ์ในปริมาณมาก จึงจะขยายพันธุ์ได้มาก และการขยายพันธุ์ด้วยรากแบบนี้อาจทำได้ไม่มาก เนื่องจากจะทำให้ต้นแม่พันธุ์โทรมเร็วและเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค

ยอดผักหวานป่าที่มีขายทั่วไป

การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

การขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยวิธีการเพาะเมล็ดเป็นอีกวิธีที่นิยมทำกัน ผลของผักหวานป่าเป็นผลเดี่ยวที่มีรูปไข่ ถึงค่อนข้างกลม ผลอ่อนสีเขียว มีนวลเคลือบโดยรอบต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองครีมหรือเหลืองอมส้มเมื่อแก่ เปลือกบาง เนื้อฉ่ำน้ำ มีเมล็ดเดี่ยว วิธีเพาะเมล็ดผักหวานป่าโดยทั่วไปคือ  ใช้เมล็ดผักหวานป่าที่สุกแล้วเปลือกจะมีสีเหลืองสด นำมาเอาเนื้อของผลผักหวานป่าออก แล้วเพาะในภาชนะที่เตรียมไว้ประมาณ 2 เดือน จึงจะเริ่มงอก

ปัญหาจากการขยายพันธุ์ผักหวานป่าโดยการใช้เมล็ดก็คือ เปอร์เซ็นต์การงอกต่ำ นอกจากนั้น การที่รากผักหวานจะเจริญเติบโตได้เร็วจะทำให้รากผักหวานป่าโค้งงอภายในภาชนะที่ใช้เพาะชำ ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลเสียอย่างมากเมื่อนำผักหวานป่าไปปลูกในสภาพแปลง เพราะจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโตเป็นเวลานาน

เพาะเมล็ดผักหวานป่าในขวดน้ำพลาสติกใส วิธีง่ายๆ แต่ได้ผล

ที่กาญจนบุรี มีนักวิชาการท่านหนึ่งคือ ว่าที่ร้อยตรีสมยศ นิลเขียว นักวิชาการเกษตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ประยุกต์ใช้วิธีง่ายๆ ในการเพาะขยายพันธุ์ผักหวานป่า

“ผมพบว่า การเพาะขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยเมล็ดในขวดน้ำพลาสติกใส นอกจากจะเป็นการช่วยโลกนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่และช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเพาะขยายพันธุ์พืชชนิดนี้ด้วย”

เทคนิคการเพาะเมล็ดผักหวานป่าของ ว่าที่ร้อยตรีคุณสมยศ ทำได้ง่ายๆ ดังนี้

ขวดน้ำพลาสติกใสนำมาเจาะรูใช้เป็นภาชนะเพาะชำ

อุปกรณ์

1. ชวดน้ำพลาสติกใส ขนาด 1.5 ลิตร
2. เมล็ดผักหวานป่าเท่ากับจำนวนของขวด
3. ดินผสมที่ใช้ในการเพาะ (ดินร่วน 1 ส่วน ทราย 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน)
4. มีดปอกผลไม้
5. ตะปู หรือเหล็กแหลม เพื่อใช้ในการเจาะรู

วิธีการเพาะ

1. นำผลสุกมาแช่น้ำไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อที่จะทำให้เปลือกและเนื้อของเมล็ดผักหวานหลุดออกได้ง่าย

2. ล้างน้ำขยี้เปลือกและเนื้อของผลเททิ้งให้เหลือเฉพาะเมล็ดลักษณะคล้ายเมล็ดบัว

3. ล้างให้สะอาดอีกครั้ง เพื่อความมั่นใจว่าเนื้อลอกออกไปหมดแล้ว เพราะเนื้อผลผักหวานมีรสหวาน มดแมลงชอบเข้ามากัดกิน ทำให้เมล็ดไม่สมบูรณ์ อีกอย่างก็คือ เชื้อรา ถ้าเกิดเชื้อราแล้วเมล็ดจะไม่ค่อยงอกหรืออาจจะเสียได้

4. นำเมล็ดที่ล่อนแล้วไปผึ่งลมให้แห้ง สามารถเก็บไว้ได้ 15 วัน (ห้ามโดนแดด) ผสมวัสดุปลูกให้เข้ากัน

5. เจาะรูที่บริเวณก้นขวด เพื่อให้มีการระบายน้ำและใช้มีดปาดที่คอขวด แต่ไม่ให้ขาดเพื่อจะได้ใส่ดินให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

6. นำดินที่ผสมดีแล้ว ใส่ลงไปในขวดจนถึงบริเวณคอขวดที่ตัด แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

7. นำเมล็ดลงปลูกลงในขวด ฝังให้แค่พอมิด รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 1 เดือน รากของเมล็ดผักหวานป่าจะงอก

8. เมื่อต้นผักหวานป่ามีอายุได้ประมาณ 2 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน สามารถที่จะนำไปปลูกลงแปลงได้

 

ข้อได้เปรียบของการเพาะเมล็ดผักหวานป่า
ในขวดน้ำพลาสติกใส

ว่าที่ร้อยตรีสมยศเล่าว่า ข้อดีของการเพาะเมล็ดผักหวานป่าในขวดพลาสติกมีหลายอย่าง นอกจากจะเป็นการรียูธ เอาขวดพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ช่วยลดขยะแล้ว สิ่งสำคัญที่เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากการขยายพันธุ์ผักหวานป่าวิธีนี้คือ การเพาะเมล็ดผักหวานป่าในขวดพลาสติกใสทำให้รากไม่งอ เพราะการเพาะเมล็ดผักหวานป่าในถุงเพาะชำสีดำที่เราเคยชินนั้น เราจะมองไม่เห็นรากว่าเจริญเติบโตไปขนาดไหนแล้ว

ผักหวานป่า เป็นพืชป่าที่มีระบบรากแข็งแรงและลงรากลึกเมื่อเพาะเมล็ดจนงอกแล้วรากของผักหวานจะเจริญได้เร็ว หากมีสิ่งกีดขวางจะทำให้รากคดงอทำให้เกิดปัญหาเมื่อนำไปปลูกลงดินในสภาพสวน เพราะจะเจริญเติบโตช้า แต่การเพาะเมล็ดผักหวานป่าในขวดน้ำพลาสติกใสจะมองเห็นการเจริญของราก ซึ่งจะช่วยลดปัญหารากคดงอไปได้ระดับหนึ่ง นอกจากนั้น การที่มีคอขวดเป็นฝาปิดจะช่วยปกป้องต้นอ่อนผักหวานป่าไม่ให้โดนแมลงมารบกวนได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

เจริญเติบโตได้ดีเมื่อปลูกในสภาพแปลง

“ผมมีแปลงผักหวานป่าที่ปลูกไว้ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เป็นต้นผักหวานป่าที่ได้จากการเพาะเมล็ดในขวดน้ำพลาสติกทั้งหมด ซึ่งพบว่ามีการเจริญเติบโตดีในสภาพแปลงปลูกที่ปล่อยให้เป็นลักษณะธรรมชาติ ไม่ต้องมีการดูแลรักษามากนัก”

ว่าที่ร้อยตรีสมยศ ฝากบอกทิ้งท้ายว่า “ผมทดลองการเพาะเมล็ดผักหวานป่าในขวดน้ำพลาสติกมาหลายปีแล้ว พอจะสรุปผลได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้ได้ผลในเรื่องการแก้ปัญหางอกยาก รากงอ โตช้า ของผักหวานป่า ใครที่สนใจจะนำวิธีการนี้ไปใช้ก็ได้ไม่ว่ากัน”

หรือใครสนใจต้นกล้าผักหวานป่า หรือจะพูดคุยกับ ว่าที่ร้อยตรีสมยศ ติดต่อได้ที่โทร. 087-082-9088