ส่องนก “ เหยี่ยวด่างดำขาว ” ที่ จ.เชียงราย

เหยี่ยวด่างดำขาว

ทริปตะลอนเมืองเหนือที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 3 ถึง 12 ธันวาคมศกนี้ เป็นทริปครั้งแรกของฤดูหนาว นอกจากจะไปเก็บข้อมูลประชากรของเหยี่ยวด่างดำขาวที่“ปางฮุ้ง” เวียงหนองหล่ม ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย แล้ว ยังถือโอกาสนำข้อมูลโครงการวิจัยเรื่องระดับตะกั่วในเลือดของนกล่าเหยื่อไทย ที่เก็บตัวอย่างเลือดของเหยี่ยวด่างดำขาวปางฮุ้งไปวิเคราะห์หาระดับตะกั่วด้วย ส่งมอบให้เทศบาลตำบลจันจว้า นำไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านในชุมชนรอบเวียงหนองหล่มรับทราบว่า “เหยี่ยวด่างดำขาว” ในฐานะนกนักล่าที่มาอาศัยใบบุญของเวียงหนองหล่ม นอกจากช่วยควบคุมจำนวนหนูนาทำร้ายข้าวแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นดัชนีบ่งบอกสุขภาพของสิ่งแวดล้อมรอบชุมชนอีกด้วยว่า น้ำในเวียงหนองหล่ม ข้าวในทุ่งนารอบหนองหล่ม ยังคงสะอาดปราศจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว

ด้านประชากรของเหยี่ยวด่างดำขาวก็ยังอพยพมาเป็นจำนวนมากเช่นปีก่อนๆ มากกว่า 100 ตัว ณ ปางฮุ้ง นอกจากนี้ยังพบ“เหยี่ยวทุ่งเอเชียตะวันออก” และ“เหยี่ยวทุ่งยูเรเซีย” ชนิดท้ายสุดเป็นนกเทพ พบเห็นยากในประเทศไทย แต่พบที่ปางฮุ้งเป็นประจำทุกปี 1-2 ตัว จะแอบๆ ปนอยู่ในฝูงเหยี่ยวด่างดำขาว บินลงหลุมนอน พักผ่อนในเวลากลางคืน

นอกจากปางฮุ้งที่ลุงปุ๊ด หรือ“นายพุฒิ ลากะรินทร์” ชาวจันจว้า ผู้ดูแลปกป้องเหยี่ยวด่างดำขาวมิให้มีใครมารบกวน ล่าหรือทำร้าย ยังมี“เกาะควาย” เนินดินสูงนูนขึ้นมากลางเวียงหนองหล่ม ทำให้น้ำท่วมไม่ถึง เหยี่ยวด่างดำขาวอีกหลายสิบตัวจะบินลงไปยืนพักผ่อนอิริยาบถ ก่อนจะบินเข้านอน เช่นเดียวกับที่ลานโล่งหน้าบังไพรปางฮุ้ง (สนใจไปชมเหยี่ยวด่างดำขาว โทรสอบถามที่ 09-2106-4723)

“เกาะควาย” นี้น่าสนใจตรงที่จะพบเหยี่ยวทุ่งยูเรเซียและเหยี่ยวทุ่งแถบเหนือลงพื้นดิน ซึ่งจะไม่พบที่บังไพรปางฮุ้ง เวลาคนเขียนจะไปเก็บข้อมูล ณ จุดนี้ ต้องนั่งเรือข้ามฟากจากริมตลิ่งหนองหน้าวัดป่าหมากหน่อ แล้วเดินเท้าเข้าไปที่กลางหนองบนเกาะควาย ซึ่งยามเย็นของทุกวัน ฝูงควายที่ชาวบ้านในปางควายเลี้ยงปล่อยให้ดำผุดดำว่ายหากินเองในหนอง จะเดินผ่านเกาะควายกลับไปบ้านของมันที่ปางควาย

การสำรวจเหยี่ยวรอบเย็น จะต้องกางบังไพร เพื่อป้องกันมิให้เหยี่ยวระแวงภัยจนไม่กล้าลงพื้น เมื่อแสงตะวันลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลา 17.30 น เป็นต้นไป เหยี่ยวจะทยอยบินกันมาจากทุกสารทิศ มุ่งหน้ามาปางฮุ้งเพื่อจะเข้านอนในหลุมพรุทุ่งหญ้า

พวกที่มาถึงปางฮุ้งก่อน จะบินลงพื้นที่หน้าบังไพรหรือเกาะควายในแต่ละจุด จะมีหัวโจก จ่าฝูง เป็นเหยี่ยวเพศผู้หรือเพศเมียที่เจนประสบการณ์คอยบินวนตรวจตราดูสภาพแวดล้อมที่จะลงพื้นว่าปลอดภัยหรือไม่ ถ้าพบเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น มีเสียงดัง พบเห็นคนเคลื่อนไหว เหยี่ยวจ่าฝูงจะส่งเสียงร้องเตือนสมาชิก เย็นนั้นเป็นอันอด เพราะเหยี่ยวจะแตกฮือ ไม่ลงพื้นมากเท่าวันก่อนๆ เหยี่ยวจ่าฝูง อาจจะเกาะพื้นหรือเกาะบนพุ่มต้นอั้นไม้ยืนต้นทนน้ำท่วม หยั่งเชิงรอดูว่าภัยไม่มีจริงๆ จะร้องอีกครั้งเตือนเหยี่ยวตัวอื่นๆ ให้ลงพื้น แต่ถึงตอนนั้น แสงแทบไม่มีแล้ว

เมื่อเหยี่ยวยืนพักผ่อน สลัดขน นานไม่เกิน 30 นาที ก็จะบินขึ้นไปวนเหนือพรุทุ่งหญ้า เพื่อเลือกหลุมนอนของตนสำหรับค่ำคืนอันหนาวเย็นที่กำลังย่างกรายเข้ามา แล้วทิ้งตัวลงหลุมนอน ตัวใดยังเลือกที่เหมาะๆ ไม่ได้ก็จะบินวนเหนือทุ่งหญ้าอยู่นานหลายนาที ลองนึกภาพเหยี่ยวด่างดำขาว 100-200 ตัว บินวนยามพลบค่ำ จะเป็นภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจปานใด

ต้องบอกว่าในอุษาคเนย์เท่าที่คนเขียนเคยตะลอนดูเหยี่ยวมาหลายประเทศ ก็มีที่นี่ ปางฮุ้งแห่งเวียงหนองหล่ม ที่เราในฐานะมนุษย์ สามารถชื่นชมปรากฏการณ์ธรรมชาติของพฤติกรรมสัตว์ป่า โดยไม่ต้องเบียดเบียน ทำร้ายไล่ล่าให้บาดเจ็บหรือสูญเสียอิสรภาพ ท่าทีเช่นนี้ต่างหากที่มนุษย์และสัตว์ป่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข จริงไหมครับ

ที่มา  :  Haven of Harriers : คอลัมน์ ประสานักดูนก มติชนรายวัน  ผู้เขียน นสพ.ไชยยันตร์ เกษรดอกบัว [email protected]