4 อภินิหาร ผักฆ่าน้ำตาล ที่มีงานวิจัยสนับสนุน

โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อ่านแล้วก็อย่าเพิ่งท้อใจไป เพราะถึงแม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถอยู่ร่วมโรคบนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข ตราบใดที่เรายังสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ตามเกณฑ์ ย้ำว่า…สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข เหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่เป็นโรคเลย ถ้าสามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ตามเกณฑ์ นี่คือเป้าหมายที่สำคัญค่ะ

ผู้ป่วยบางคนขาดความเข้าใจถึงความร้ายแรง หรือผลเสียของโรค ทำให้ละเลยการปฏิบัติดูแลตนเอง สำหรับใครที่สนใจจะรับประทานสมุนไพรเพื่อรักษาเบาหวาน ก็ขอแนะนำว่าสมุนไพรเหล่านี้เป็นเพียงทางเลือกเสริม โดยเฉพาะในคนที่รับประทานยาแผนปัจจุบันแล้วยังไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ลงมาอยู่ในค่าเป้าหมายได้ การติดตามผลน้ำตาลและโรคแทรกซ้อน โดยการไปพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น รวมถึงการแจ้งแพทย์เกี่ยวกับสมุนไพรที่เราเลือกใช้เสริมเข้ามา เพราะแพทย์จะได้พิจารณาปรับยาให้ผู้ป่วยให้ได้อย่างเหมาะสม

4 อภินิหาร ผักฆ่าน้ำตาล

เป็นผักที่มีงานวิจัยสนับสนุนว่าช่วยในการลดน้ำตาลได้ จึงมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานควบคู่กับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นพืชผักที่รับประทานกันอยู่แล้ว หาได้ง่าย และมีความปลอดภัยสูง โดยผู้ป่วยอาจเลือกใช้ผักเหล่านี้ชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยอาจใช้สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ในคนที่คุมน้ำตาลได้ดีอยู่แล้วด้วยยาของแพทย์ อาจรับประทานเพียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดตกมากเกินไป

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

มะระขี้นก

มีผลกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ยับยั้งการสร้างกลูโคส ทำให้มีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ วิธีใช้คือ คั้นน้ำจากผลสดมื้อละ 2-3 ผล โดยเอาเมล็ดในออก ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย ปั่นคั้นเอาแต่น้ำดื่ม 3 เวลา ก่อนอาหาร หรือนำเนื้อมะระผลเล็ก (มีตัวยามาก) ผ่านำเมล็ดออก หั่นเนื้อมะระเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาชงกับน้ำเดือด (มะระ 1-2 ชิ้น ต่อน้ำ 1 ถ้วย) ดื่มเป็นน้ำชา ครั้งละ 1-2 ถ้วย วันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร หรือรับประทานในรูปแบบแคปซูลครั้งละ 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง

มะระขี้นก จะมีรสขมมากกว่ามะระจีน วิธีลดความขมของมะระขี้นกทำได้ด้วยการต้มน้ำให้เดือดจัด ใส่เกลือประมาณหยิบมือ แล้วลวกมะระในน้ำเดือดสักครู่ จะทำให้ความขมลดลง

มะระที่สุกแล้วจะมีสารซาโปนิน (Saponin) ในปริมาณมาก การรับประทานอาจทำให้มีอาการอาเจียน ท้องร่วงได้ ดังนั้น ควรรับประทานผลอ่อน ข้อควรระวังคือ คนท้อง เด็ก และคนที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำไม่ควรรับประทาน และควรรับประทานในปริมาณที่พอดี อย่าทำอะไรเกินเลย เพราะความขมจัดของมะระขี้นก อาจทำให้ตับทำงานหนักขึ้น

ชะพลู

มีงานวิจัยมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับ “ชะพลู” หรือ “ช้าพูล” ที่พูดถึงฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด

มีงานวิจัยพบว่าน้ำชะพลูลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายปกติได้

ทั้งนี้ ถ้ากินเป็นผักหรือเป็นอาหารก็มีความปลอดภัย แต่ถ้ากินเป็นยาเพื่อหวังผลในการลดน้ำตาล แนะนำว่าจะต้องสังเกตอาการน้ำตาล เช่น มีอาการหน้ามืด ใจสั่น เหงื่อออกมือ มีอาการหวิวๆ เหมือนจะเป็นลมหรือไม่ เพราะแสดงว่าน้ำตาลในเลือดของคุณกำลังต่ำเกินไป จึงไม่ควรทานช้าพลูนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต เพราะใบช้าพลูมีส่วนประกอบของแคลเซียมออกซาเลท (Calcium oxalate) ซึ่งการกินในปริมาณมาก จะไปสะสมที่ไต และทำให้ไตทำงานหนักขึ้น

วิธีใช้ นำชะพลูทั้งต้นตลอดถึงราก 1 กำมือ พับเถาเป็น 3 ทบ ใช้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น 3 เปลาะ ใส่หม้อต้มกับน้ำพอท่วม ต้มจากน้ำ 3 ส่วน เหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ผักเชียงดา

มีผลช่วยป้องกันการดูดซึมของน้ำตาล ฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน และลดน้ำตาลในเลือดได้ วิธีใช้ให้ใช้ใบแห้งชงดื่มเป็นน้ำชา ครั้งละ 4 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง หรือรับประทานเป็นผักในมื้ออาหาร

ตำลึง

มีการใช้เป็นยารักษาเบาหวานมานานนับพันปี จากการทบทวนผลการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของทีมนักวิชาการจาก Harvard Medical School พบว่า ตำลึงและโสมมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลที่ดีที่สุดจากการที่มีการออกแบบการทดลองได้อย่างเหมาะสม ตำลึงแสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในสัตว์ทดลองและในคน ตำลึงให้ผลลดน้ำตาลทั้งส่วนที่เป็นใบ ราก ผล โดยใช้เถาแก่ๆ ประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ หรือน้ำคั้นจากผลดิบ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

ทำความเข้าใจ “เบาหวาน”

โรคเบาหวานเกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ หรือสร้างออกมาแล้วทำงานได้ไม่ดีพอ การทำงานของอินซูลิน คือทำหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายเพื่อสร้างพลังงาน ดังนั้น ถ้าร่างกายผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอินซูลินไม่เพียงพอก็จะทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ผู้ที่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจนคือ หิวน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยและมาก น้ำหนักตัวลดลงโดยที่ไม่มีสาเหตุ ควรเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีเกณฑ์ว่าถ้าเจาะหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง แล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรรือสุ่มเจาะน้ำตาลในเลือดโดยที่ไม่ได้อดอาหาร แล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็จะถือว่าคนผู้นี้เป็นเบาหวาน

แต่สำหรับคนที่ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง อยู่ในช่วง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือสุ่มเจาะน้ำตาลในเลือดโดยที่ไม่ได้อดอาหาร แล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่าคนผู้นี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน แพทย์อาจยังไม่เริ่มยา แต่ผู้ป่วยควรควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเพิ่มขึ้น

ทั้งคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานและเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน จะต้องควบคุมการรับประทานอาหารโดยลดการรับประทานของหวานลง รวมถึงอาหารจุกจิก ขนมนมเนย และไม่รับประทานมากกว่าที่ใช้พลังงาน เพราะพลังงานที่เหลือใช้จากการรับประทานอาหารมากเกินไป ก็สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและไขมันในร่างกายได้ ในคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษา ซึ่งการรับประทานยาต่อเนื่องและมีการติดตามผลกับแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ ควบคู่การควบคุมอาหาร และออกกำลังกายด้วยก็จะทำให้เราควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมาย

โดยเป้าหมายการรักษาเบาหวานจะถือว่าได้ผลดีต่อเมื่อ สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อยู่ระหว่าง 70-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อเจาะระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อสุ่มเจาะน้ำตาลในเลือดโดยที่ไม่ได้อดอาหาร หรือเมื่อเจาะค่าน้ำตาลสะสมหรือที่เรียกว่าค่า HbA1c แล้วได้ค่าไม่เกิน 7%

ซึ่งโดยปกติแล้วค่าน้ำตาลสะสม แพทย์มักจะเจาะตรวจทุก 3-6 เดือน เพื่อดูว่าระดับน้ำตาลของผู้ป่วยระหว่างวันที่ไม่ได้มาพบแพทย์นั้นสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีทุกวันสม่ำเสมอหรือไม่ ค่า HbA1c เป็นค่าที่ค่อนข้างแม่นยำ เพราะแสดงถึงน้ำตาลที่เกาะบนเม็ดเลือดแดง ซึ่งเม็ดเลือดแดงของคนเราก็จะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 120 วัน ค่า HbA1c จึงสะท้อนถึงค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดตลอดช่วงประมาณ 4-12 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ค่อนข้างดี เพราะมีผู้ป่วยบางคนเวลาแพทย์นัดเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว จะอดอาหารก่อนมาพบแพทย์ตามนัดล่วงหน้า 2-3 วัน ค่าน้ำตาลในเลือดก็สามารถลดลงมาได้ เหมือนทำให้ตัวเลขน้ำตาลดูดีขึ้นมาเพียงผิวเผิน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าไม่เคยควบคุมการรับประทานอาหารเลย แต่ถ้าลองมาเจาะค่า HbA1C ก็จะพบว่ามีค่าสูง (นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของผู้ป่วยที่ชอบหลอกหมอ)

หากผู้ป่วยสามารถคุมค่าน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมายแล้ว ผลดีที่จะเกิดขึ้นก็คือ สุขภาพที่แข็งแรงค่ะ ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนที่มักพบตามมาในโรคเบาหวาน เพราะโรคเบาหวานเป็นเพชรฆาตเงียบค่ะ เหมือนจะไม่มีอาการแสดงใดๆ

แต่หากผู้ป่วยหลงระเริงปล่อยปละละเลยไม่สนใจ ยาก็รับประทานบ้าง ลืมบ้าง อาหารก็ไม่คุม เพราะคิดว่าไม่เป็นไร โรคนี้ก็จะค่อยๆ ชักชวนเพื่อนโรคอื่นๆ เข้ามากล้ำกราย เช่น โรคต้อกระจก โรคไต โรคชาปลายมือปลายเท้า โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์อัมพาต หรือเวลาเกิดบาดแผล แผลก็จะติดเชื้อหายช้ามาก บางคนถึงขั้นต้องสูญเสียอวัยวะ เช่น ตัดขา เพราะเกิดแผลเรื้อรังรักษาไม่หาย เพราะฉะนั้น ไม่คุ้มกันเลยนะคะที่จะปล่อยให้โรคต่างๆ แบบนี้เกิดขึ้นกับตัวเรา ทั้งๆ ที่เราสามารถที่จะป้องกันได้ เริ่มตั้งแต่วันนี้ด้วยการคุมน้ำตาลให้อยู่ในค่าเป้าหมายแค่นั้นเอง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354