ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 9 มีนาคม 2560 ที่วัดเด่นโบสถ์โพธิ์งาม หมู่ 1 ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก ทางวัดร่วมกับชาวบ้านในชุมชน ได้ร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน ต.บ้านกร่าง ด้วยการทำกังหันลมโบราณ ขนาดใหญ่ เพี่อนำไปติดตั้งภายในชุมชนและที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก เพื่ออนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในชุมชนที่มีมาช้านาน ประกอบกับปราชญ์ชาวบ้านที่มีก็เหลือน้อย ทำให้เยาวชนที่จะสามารถทำไปสืบทอดก็มีโอกาสน้อยลงเช่นกัน
พระครูมนูญ บุญวาท เจ้าอาวาสวัดเด่นโบสถ์โพธิ์งาม เล่าว่า ตำบลบ้านกร่าง มีประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าขานสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน พร้อมทั้งยังมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะการทำกังหันลมโบราณ ที่มีขนาดใหญ่ ที่โบราณผ่านมานั้นชาวบ้านจะทำไว้กลางหมู่บ้านเพื่อให้เป็นสัญญลักษณ์และเครื่องบอกทิศทางลมฟ้าลมฝน เนื่องจากกังหันลมโบราณนี้จะมีเสียงดังมาก หากมีลมแรงและจะมีฝนตกลงมาได้ ทำให้ชาวบ้านก็จะสามารถเก็บทรัพย์สินมิให้เสียหายจากลมฟ้าลมฝนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันผู้ที่สืบทอดถือว่าน้อยมาก ทางวัดก็ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก ได้นำปราชญ์ชาวบ้านที่ยังหลงเหลืออยู่คือ นายออง เขียวมี ผู้สูงอายุภายในหมู่บ้าน ที่ได้สืบทอดการทำกังหันลมโบราณ หรือกังหันลมหญ้าคา และผู้สูงอายุที่มีฝีมือในด้านจักรสานมาร่วมกันทำกังหันลมที่มีขนาดใหญ่ได้
ด้านคุณลุงออง เขียวมี ปราชญ์ชาวบ้าน ต.บ้านกร่าง กล่าวว่า ตนเองทำกังหันลมโบราณ หรือ กังหันลมหญ้าคา มาตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยเรียนมาจากพ่อของตนเอง โดยวิธีการทำกังหันนั้น ไม่ยาก เริ่มที่ทำจากไม้ไผ่และหญ้าคา ที่มีอายุการใช้งาน2-3 ปี ตัวกังหันที่หมุนทำจากไม้ไผ่ลำใหญ่นำมาผ่าซีกแล้วเหลาให้บาง ความยาว 1.5 เมตร ปลายกังหันที่เหลาแล้วติดหลอดเสียง การทำหลอดเสียงจะยาวประมาณ 8-9 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้ว นำมาติดกับปลายกังหันทั้งสองข้าง เวลากังหันหมุนเมื่อมีลมแรง อากาศเข้าหลอดเสียงจะทำให้เกิดเสียงดัง…หวู๊ดๆๆๆๆ หรือจะใช้วิธีการปาดที่ปล้องไม้ไผ่ ด้านใดด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งให้ใช้ปล้องไม้ไผ่ ทำให้ลมเข้าได้ด้านเดียว วิธีนี้ก็ทำให้หลอดเสียงมีเสียงดังเช่นกัน
“จากนั้นเจาะรูตรงกังหันตรงกลางให้กว้างพอสมควร แล้วจับมัดหญ้าคา โดยหาเหล็กแหลมยาว 12 นิ้ว มัดรวมกับหญ้าคาให้อยู่ใส้ตรงกลาง นำใบกังหันมาเสียบตรงรูตรงกลางแล้วหาตัวล๊อค จากนั้นตัด ไม้ไผ่ยาว 12-15 นิ้ว ใส้กลวงลำกว้างหน่อยมัดตั้งฉากกับตัวหญ้าคาเพื่อเป็นตัวตั้งและฐานกังหัน จากนั้นนำไปเสียบไม้ไผ่ ยาวๆ สัก 4-5 เมตร แล้วนำกังหันหญ้าคาที่ประกอบแล้วไปติดที่ห้างนาหรือต้นไม้สูงๆ กระบอกไม้ไผ่ที่ทำตัวฐานของกังหัน จะทำหน้าที่หมุนไปรอบ ลมมาทิศใดกังหันจะหมุนตามทิศทางลม” ลุงออง กล่าว
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภวรรณ พันธุ์จันทร์ หัวหน้าศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก บอกว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้จัดศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้แหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนและนักเรียน โดยจากศึกษาก็พบว่าในตำบลบ้านกร่าง ได้มีปราชญ์ชาวบ้านในการทำกังหันลมโบราณ ที่เคยนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการดูทิศทางลม การใช้กังหันในการฝัดข้าว ที่ยังหลงเหลืออยู่ จึงได้ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ ทำกังหันลมขนาดใหญ่มาติดไว้ที่ศูนย์การเรียนเรียน พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากพลังงานลม ที่นอกเหนือในอดีตที่ใช้ในศึกษาทิศทางลมและวัดแรงลม ของชาวบ้านมาโดยตลอด ซึ่งหากเป็นไปอาจพัฒนาให้เป็นกังหันลมที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมไม้ไผ่อีกด้วย