“วัวหันแม่โจ้” เมนูสูตรอาหารรสชาติสไตล์คาวบอย เลี้ยงฉลองรอบกองไฟ ทุกงานชุมนุมสังสรรค์ที่น่าประทับใจ

แม้ว่าเวลาจะผ่านล่วงมากว่ากึ่งศตวรรษเศษ ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าไปศึกษาที่สถาบันแม่โจ้ แหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เป็นที่หมายปองของยุคเวลานั้น บรรดาชายวัยรุ่นที่อยากเข้าไปสัมผัสในความโด่งดังจากอิทธิพลของนวนิยายของนักเขียนที่จบสถาบันแม่โจ้ จนมีคนคอหนังโชคดีได้ดูภาพยนตร์ที่ผู้กำกับหนังถึงกับลงทุนไปสร้างมา อย่างเช่น เรื่อง “ร้อยป่า” ที่คนอ่านติดกันงอมแงม ว่างั้นเถอะ

เมื่อผมโชคดีได้เข้าไปเรียนในเกษตรแม่โจ้ หรือวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดมาเพื่อเป็นแนวการสอน และให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ซึ่งมีหลายวิชาที่น่าเป็นประโยชน์ และนึกไม่ถึงว่าครูบาอาจารย์เหล่านี้ มีทั้งคุณวุฒิและประสบการณ์มากมายที่สามารถถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มีการเรียนรู้ในห้องและออกไปปฏิบัติของจริงและทำได้

ศ.ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย อดีตอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

แต่ละวิชาที่เล่าเรียนมานั้น ล้วนเป็นวิชาสำคัญ หลังเรียนจบแล้ว ถ้าหากนำไปปฏิบัติ สามารถที่จะประกอบอาชีพส่วนตัว หรือออกไปส่งเสริมชาวบ้านได้ทันที สำหรับใครไปรับราชการ หรือทำงานภาคเอกชน
เพราะผู้เขียนได้มากับตัวเอง ที่ได้เรียนกับอาจารย์ที่มีประสบการณ์ อยากจะขอยกตัวอย่างวิชาพัฒนาชนบท สอนโดย ดร.เปลื้อง อุไรพงษ์ ต้องขอคุยหน่อยว่า วิชานี้ผู้เขียนได้ท็อปสอบจากคะแนนเต็ม 100 ได้ 98 ได้วิชาเดียว ตำราสำหรับนักส่งเสริมที่เตรียมตัวจะเข้าไปพบปะชาวบ้าน

ด้วยเหตุผลอันใดที่ผู้เขียนต้องเผชิญกับงานเกษตรที่ถูกส่งไปช่วยเหลือเกษตรกรในภาคอีสาน หรือที่อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย วิชาที่เรียนรู้มาจากแม่โจ้ สมัยรับราชการใหม่ๆ เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับส่วนกลางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถนำไปใช้ได้ทันที

ตัวอย่างเช่น เกษตรกรให้ไปตอนหมู ไปรักษาหมูที่ถูกควายขวิด ควายป่วยไม่กินหญ้า การฟักไข่ เป็นต้น ด้านพืชไร่ ที่ต้องไปคอยแนะนำและดูแลรักษาไร่ฝ้าย ข้าว ข้าวโพด ฯลฯ ล้วนเป็นวิชาที่ผ่านการสอนมาอย่างดีจากคณาจารย์ที่พร่ำสอนมาแล้วไปใช้ได้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่รอความช่วยเหลือ

อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย ผู้อำนวยการเกษตรแม่โจ้

ส่วนวิชาที่จะกล่าวถึงนั้น เป็นวิชาถนอมอาหาร หลักสูตรวิชานี้อาจจะเป็นวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเท่าไรนัก แต่สำคัญระดับชาวบ้านก็ทำได้ นึกไปถึงการดองไข่เค็ม ผักกาดเค็ม การแปรรูปอาหารต่างๆ โดยมี อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย ตำแหน่งขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้ พวกเรามักจะเอ่ยนามท่านว่า ผอ. หรือ อาจารย์บุญศรี เป็นที่รู้กันว่าท่านเก่งกาจเพียงใดในเรื่องวิชาถนอมอาหาร

ความมีชื่อเสียงของอาจารย์บุญศรี หลังจากจบแม่โจ้รุ่นแรก สมัย อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) ผู้ให้กำเนิดแม่โจ้ เป็นอาจารย์ใหญ่ ส่วนอาจารย์บุญศรี เป็นศิษย์รุ่นแรกของแม่โจ้
ด้วยที่เรียนเก่ง จึงได้ทุนไปเรียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ชื่อมหาวิทยาลัยลอสบันยอส และไปจบปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา

คาวบอยแม่โจ้

กล่าวกันว่า อาจารย์บุญศรี นั้น ท่านสนใจเรื่องการทำอาหารสไตล์ยุโรป อเมริกา สมัยครั้งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ หรือ ลอสบันยอส โดยเฉพาะอาหารฝรั่ง อาจเป็นเพราะฟิลิปปินส์เคยเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา และประเทศสเปน มาเป็นร้อยปี

อิทธิพลของผู้ยึดครองประเทศ ย่อมทิ้งมรดกให้กับประเทศนั้น โดยเฉพาะอาหารของชาวฝรั่งที่สอนไว้ การสืบทอดมรดกทางโภชนาการที่ได้ไปศึกษาย่อมเป็นประโยชน์กับอาจารย์บุญศรีอย่างแน่นอน

กล่าวกันว่า อาหารประเภทเนื้อ ปิ้ง ย่าง หรือ บาร์บีคิวขนานแท้ อาหารประเภทนึ่ง อบ ตุ๋น มีหม้อ อุปกรณ์พร้อมครัน ทั้งอาหารสะเต๊ะ สตูลิ้นวัว ล้วนเป็นเมนูของชาวฝรั่งที่ทิ้งมรดกให้ไว้สมัยครองเมืองจนพ้นเป็นเอกราช ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ หรือลอสบันยอส เคยเป็นต้นตำรับมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงสุดในเอเชียในสมัยนั้น

พระพิรุณทรงนาค สร้างโดยแม่โจ้ รุ่น 27

ต้องยอมรับกันว่า ฝีมืออาจารย์บุญศรี สุดยอดระดับเชฟก็ว่าได้ ยังว่ามีเรื่องวัวหัน ที่ใครๆ ก็บอกว่าอาจารย์บุญศรี เป็นต้นตำรับทำสูตรปรุงวัวหัน มาช้านาน จนใครๆ คิดว่าอาจารย์คงได้มาจากฟิลิปปินส์แน่เชียว เพราะประเทศสเปนปกครองฟิลิปปินส์มาก่อน หรือเป็นเมืองกระทิงดุ จึงมีเมนูวัวหันก็อาจเป็นได้ หรือได้ตำราสูตรนี้มา

ก่อนหน้านี้ ชื่อวัวหันแม่โจ้ ยังไม่แพร่หลาย ผู้เขียนก็ไม่เคยเห็น อย่าว่าแต่ลองชิมดูเลย วัวหันเหมาะกับการใช้ในงานเลี้ยงที่สำคัญ ราคาแพง มีคนนับร้อยคน แต่ที่แน่ๆ งานฤดูหนาวประจำปีเชียงใหม่จะมีการออกร้านรวงตามชื่อเสียงของแหล่งเรียน หรือร้านค้า สถาบันที่ทางจังหวัดได้เชิญมาออกร้านย่านสนามกีฬาเก่าช้างเผือก

งานนี้สถาบันแม่โจ้จะมีการออกร้านขายอาหาร การละเล่นต่างๆ ให้ผู้สนใจ ส่วนอาหารนั้นก็คือวัวหันแม่โจ้ ที่ชาวเชียงใหม่ หรือผู้ไปเที่ยวงานจะไม่ผิดหวัง ต่างแวะเวียนมาอุดหนุนทุกคืน

เนื่องจากวัวหันเป็นอาหารหากินยาก ทำยาก หลายขั้นตอน ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ กอปรกับอาหารจากวัวหันนิยมรับประทานในฤดูหนาว เป็นกับแกล้มกับเหล้า เบียร์ ที่อร่อยสุด บรรดาคอสุราจะขาดไม่ได้ ชื่อเสียงวัวหันแม่โจ้ เริ่มคุ้นชื่อกับนักชิมต่างถิ่นมากขึ้น เมื่อมีศิษย์เก่าออกไปเลี้ยงฟาร์มโคนมที่มวกเหล็ก ต่างหันวัวกันเก่งทุกคน

ที่กรุงเทพฯ จะมีในงานวันเกษตร จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีติดป้าย “วัวหัน” ในร้านมหาวิทยาลัย เกษตรกร มีผู้ไปอุดหนุนไม่ขาดสาย ระยะหลังเห็นหายเงียบไปจนถึงปัจจุบัน

ตึกอำนวยการ วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้

ในเช้าวันหนึ่ง ผู้เขียนกับเพื่อนอยู่หอพักในแม่โจ้ เป็นวันหยุด ไม่ได้ไปไหน ถูกตามตัวให้ไปช่วยย่างวัวหัน โดยมีคำสั่งจากอาจารย์บุญศรี สั่งอาจารย์ต่ออีกที ขอแรงที่คนอยู่ว่างมาช่วยอาจารย์ ที่มาตามคือ อาจารย์สราญ เพิ่มพูล ที่เรียนจบแม่โจ้แล้ว ไปต่อที่เกษตรบางพระ มาสอนแม่โจ้เมื่อไม่นาน ต่อมาท่านได้ก้าวสู่อธิการบดีแม่โจ้
สถานที่ทำวัวหัน บริเวณที่ลับตาผู้คน มีอุปกรณ์ย่างวัว ทำด้วยแผ่นสังกะสี มีสร้างเป็นเตาได้มาตรฐาน

ก่อนจะไปถึงสถานที่ ผู้เขียนกับเพื่อนได้มีโอกาสได้ดูการทำวัวก่อนย่าง นำเอาวัวรุ่นอายุ 5-7 เดือน เป็นวัวไทย วิธีการไม่ต้องทำให้เลือดออก คงเดาออกแล้ว เลาะเอาหนังออกเป็นแผ่นกลายเป็นเสื่อ ให้ตัววัวนอนทับลงไปโดยไม่เปื้อนสิ่งสกปรก เห็นโครงร่างวัวไม่ใหญ่ น้ำหนักราว 60-70 กิโลกรัม เสร็จแล้วก็นำหม้อใส่น้ำ สูตรวัวหันที่ผู้อำนวยการปรุงไว้แล้ว คนปรุงและคนทำคงเป็นภารโรงที่ทำอยู่ประจำกันจนคล่องตัวแล้ว ถ้ามีงานเลี้ยงทุกคนถูกฝึกจนชำนาญ

จากนั้นนำกระบอกฉีดยาแต่ใหญ่กว่าของที่ใช้กับคน ที่เรียกว่า “ไซริงจ์” พร้อมเข็มใหญ่ โดยกระบอกที่ติดเข็มแล้วนำมาดูดน้ำยาเข้ากระบอก แล้วนำไปฉีดส่วนกล้ามเนื้อของวัว ที่เลาะหนังหมดแล้ว พอน้ำยาเข้าตัววัวแล้วก็ใช้สากกระเบือไม้ค่อยทุบลงไปให้น้ำยากระจายแทรกซึมเข้าส่วนสำคัญของตัววัวจนครบทุกส่วนเป็นอันเสร็จพิธีการทำวัวหัน ก่อนย่าง

หลังจากนั้น ก็ใช้พริกไทยป่นทาทั่วร่างวัว ก่อนจะขึ้นหันบนเตาย่าง
ก่อนจะย่าง เอาขึ้นเตาตะแกรงสังกะสี อุปกรณ์การย่างต้องก่อไฟที่จะต้องใช้ถ่านอย่างน้อยเตรียมไว้ 1 กระสอบข้าวสาร

พร้อมแล้ว วัวที่หันถูกรัดด้วยไม้ไผ่ ถ่างตัววัวออกมาให้ถูกไฟย่างตั้งแต่หน้า กลาง และท้าย แบะออกจากลำตัว มีไม้ไผ่ยาวยึดเพื่อไว้หมุนพลิกตัววัวขณะย่างที่ต้องใช้เวลานานถึง 7-8 ชั่วโมง เริ่มจากไฟอ่อนก่อน คนปิ้งวัวต้องใจเย็นๆ อย่าใจร้อน จะได้รสชาติวัวหัน

แต่พอย่างไปได้ 2-4 ชั่วโมง ต้องมีน้ำสลัดไว้ทาตัววัว เพื่อทาในส่วนที่อาจจะไหม้เกรียม น้ำมันสลัดจะลงแผลไหม้เกรียม เป็นเงาวาวจนน่ารับประทาน จากเวลาเริ่มย่าง 10 โมงเช้า ถึงเวลา 17.00 น.

สูตรอาหาร อาจารย์เล่าว่า มีน้ำขิง น้ำสับปะรด น้ำปลาญี่ปุ่น น้ำ เกลือ น้ำตาล เสริมด้วยดินประสิว และน้ำซอสใส่ไปให้รสชาติดี หอม
ด้วยความอยากรู้ ผู้เขียน จึงถามว่า “วัวที่หัน จะนำไปใช้งานที่ไหนครับ”

อาจารย์สราญ ตอบว่า ก่อนหน้านี้ทางแม่โจ้ได้ทราบมาจากสำนักพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ต้นเดือนธันวาคม 2509 ที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะ พระมหากษัตริย์ประเทศเดนมาร์ก พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 พร้อมพระราชินี และค่ำวันนี้ ทางแม่โจ้จะนำวัวหันขึ้นไปถวายที่ดอยปุย เป็นวันฉลองพระกระยาหารค่ำ โดยมีอาจารย์บุญศรี และ พ.ต.อ. นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปร่วมในงานนี้ด้วยเท่าที่ทราบมา

อีก 2 วันผ่านมา อาจารย์สราญได้เล่าให้ฟังว่า กษัตริย์ประเทศเดนมาร์ก และพระราชินีทรงโปรดวัวหันมากเดินมาดูใกล้ๆ ที่ย่างวัวหันใช้พระหัตถ์เอื้อมไปฉีกเนื้อวัวหันด้วยพระองค์เองทรงพอพระทัยอย่างยิ่งในรสชาติ เนื้อวัวหันหมดเกลี้ยงในฉับพลันคืนนั้น พวกเราสองคนนักย่างวัวสมัครเล่น ที่มีโอกาสรับใช้อาจารย์ที่ชวนมาช่วยย่างวัวได้สำเร็จ สูตรวัวหันไม่มีน้ำจิ้ม อร่อยอยู่ในตัว

หลังจากเรียนจบหลักสูตรจากวิทยาลัยแล้ว เราก็พอจะทราบวิธีย่างวัวหันแล้ว ส่วนสูตรที่ใช้ อาจารย์สราญ เพิ่มพูล ได้บอกไปหมดแล้วในกระดาษ แต่ไม่ได้ใส่ใจมากนัก เพราะกรรมวิธียากต่อการหาวัตถุดิบมาก คงไม่มีโอกาสได้ทำ

 

ครั้นเมื่อออกไปทำงานรับราชการในชนบทภาคอีสาน ที่กล่าวไว้ว่า วิชาที่เรียนมาได้มาใช้จริงจังเพื่อออกไปช่วยเหลือเกษตรกรนี่แหละ
แม้ว่าจะเดินทางไปทำงานที่อยู่ห่างไกลความเจริญ แต่คนหนุ่มไฟแรงอย่างผู้เขียนก็ไม่เคยประหวั่น ว่างั้นเถอะ เพราะเพิ่งจบมาใหม่ๆ
งานเกษตรที่ออกไปช่วยเหลือก็ได้ทำทุกอย่าง จนชาวบ้านมาขอใช้บริการ บางครั้งไม่ใช่หน้าที่เรา เป็นหน้าที่ของเกษตรอำเภอ หรือสมัยนั้นเป็นกสิกรรมอำเภอ หรือสัตวแพทย์อำเภอ ที่มีหน้าที่โดยตรง ยกเว้นเจ้าหน้าที่มาขอให้ไปช่วยเหลือบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ระหว่างข้าราชการส่วนภูมิภาค กับข้าราชการที่มาจากส่วนกลาง

งานเลี้ยงฉลองปีใหม่ มีนางสาวถิ่นไทยงามเชียงใหม่มาให้เกียรติร่วมงานด้วย ที่ร้านศรีสุรางค์ในอดีต

ครั้นถึงเวลางานเลี้ยงรื่นเริง หน่วยงานที่ผู้เขียนทำงานมีทีมงานและหัวหน้า ถ้ามีงานกินเลี้ยง หัวหน้าก็จะให้ผู้เขียนทำไก่อบฟางเสมอ โดยวิธีใช้สูตรวัวหันฉีดเข้าไปในตัวไก่ อบฟางใช้เวลา 5 นาที วิธีของผู้เขียนต้องทำให้ดี อย่าให้ไหม้ รสชาติหลายคนติดใจเมื่อลองสัมผัสลิ้น

ในเวลาต่อมาขยับมาเป็นหมูแทนไก่บ้าง แต่หมูที่ซื้อมาจากฝั่งลาว ราคาตัวละ 30-40 บาท ตัวเล็กเป็นหมูพื้นเมือง พอย่างแล้วก็หมดเร็ว ต้องใช้ 2 ตัว ในคราวต่อไปถ้างานเลี้ยงมีคนมากขึ้น

ทำไมไม่ย่างวัว เพราะหายาก ไม่มีใครนิยมและราคาแพง คนเมืองเลยรักควายเป็นชีวิตจิตใจจนเป็นกองทัพนายฮ้อยควายไปขายต่างเมือง ส่วนวัวไม่นิยมเลี้ยงกันเหมือนควาย

ครั้งหนึ่งที่กองเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานย้ายมาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เขียนนำไก่หันสูตรวัวหันมางานเลี้ยงปีใหม่ ปี 2516 ที่ตึกพืชพรรณ เฉพาะหน่วยงาน ผู้เขียนเสนอย่างไก่ ย่างสูตรที่ใช้กับวัวหัน เอาไปย่างหลังตึกแล้วนำมาฉลองในตึก ปรากฏว่าทุกคนติดใจสูตรไก่หันผู้เขียน แล้วยังเรียกร้องอยากทำให้อีกถ้าหากมีงานเลี้ยงของสำนักงาน

หลังจากท่องยุทธจักรทำงานราชการ ทำให้มีโอกาสได้ย่างวัวหันครั้งแรกในชีวิต เมื่อสมัยย้ายไปที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราวปี 2515-2516 งานที่ทำตัวเลขบัญชีโคนมของชาวเกษตรอยุธยา ที่เป็นชาวมุสลิมนับถืออิสลาม ได้พอรู้จักคนเลี้ยงโคนมมากขึ้น จังหวะที่เพื่อนจะแต่งงาน เป็นอาจารย์ด้วยกันสอนวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบัน เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ

ผู้เขียนเสนอวัวหัน เพื่อช่วยงานเลี้ยง เพื่อนตกใจแต่ก็ดีใจได้อาหารแปลกมาประดับงานเลี้ยงวิวาห์ สวนใหญ่จะไม่รู้จักวัวหัน  ส่วนลูกโคนั้น ได้ติดต่อกับฟาร์มโคนมชาวมุสลิมที่ใจดีรับทำให้ด้วย ในสนนราคาตัวละ 200 บาท เป็นลูกโคนมตัวผู้ราคาถูก และเหมาะสมกับงานครั้งแรกที่จะแสดงฝีมือว่าจะไปไหวมั้ย

วัว

หลังไปรับลูกโคที่ทำให้เสร็จแล้ว ก็นำมาย่างที่ใต้ถุนบ้านพักอาจารย์ที่มีเรือนยกสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วม ชั้นล่างดูว่างเปล่าใช้สำหรับซักผ้า ตากผ้า แต่การย่างวัวบ้านพักชายโสดไร้ปัญหา เป็นสมรภูมิที่เหมาะจะย่างวัว ต้องใช้เวลานานตามคิวรับ วัวหันแม่โจ้ ถือเป็นเชฟสมัครเล่น ที่เตรียมปรุงน้ำสูตรไว้ล่วงหน้าแล้ว

ขณะที่กำลังขึ้นเตาย่างวัวอยู่นั้น มีเสียงร้องดังมาจากบ้านพักอาจารย์หลังหนึ่งที่อยู่แถวเดียวกัน บ้านเพื่อนอยู่หลังในสุด แต่บ้านที่ร้องนั้นอยู่กลางแถวซอยเดียวกัน เป็นเสียงร้องให้ช่วยเหลือว่า คนเป็นลมไม่ทราบสาเหตุ ต่างกรูมาช่วยปฐมพยาบาลชุลมุน

คณะผู้เขียนที่มีอยู่ 2-3 คน ต่างวิ่งมาที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าเป็นภรรยาอาจารย์ หน้าที่แม่บ้านกำลังซักผ้า เหลือบไปเห็นโครงร่างวัวหัน ทำให้ตกใจเกิดใจหวิวจนเป็นลมขึ้นมา พวกเรารู้จักดี เรียกกันว่าพี่หญิง เป็นหม่อมราชวงศ์หญิง และมีสามีเป็นอาจารย์อยู่ก๊วนเดียวกัน ทำให้คณะเราตกใจและเมื่อพี่หญิงหายตกใจ ได้ยาลมแล้ว พอค่อยยังชั่วก็กลับขึ้นบนบ้านไม่ขอมองไปที่วัวหันที่กำลังย่างอีก งานเลี้ยงฉลองแต่งงานเพื่อนสมฐานะเจ้าภาพที่ได้อาหารแปลกประดับในงานเลี้ยง ผลวัวหันหมดตั้งแต่งานยังไม่เลิกเลย!

.วัวหันแม่โจ้ บนเตาย่างมาตรฐาน ในงานเลี้ยงปีใหม่ที่ร้านศรีสุรางค์ แจ่งหัวริน มกราคม พ.ศ. 2509

ต่อมา วัวหันแม่โจ้ ได้งานใหม่อีกแล้ว คราวนี้เป็นฟาร์มโคขุนของเพื่อนที่อำเภอบ้านบึง อยากให้ผู้เขียนมาทำวัวหันที่ฟาร์ม เพื่อจะไปช่วยงานเลี้ยงฉลองวันเกิดของ ส.ส.คนดัง บ้านบึง ผู้เขียนขับรถไปบ้านบึงทันที นำสูตรวัวหันแม่โจ้ไปด้วย งานนี้ไม่เหนื่อย ลูกมือมาช่วยหลายคนเป็นลูกน้องเพื่อนทั้งนั้น

ได้เวลาตกเย็น เพื่อนและผู้เขียนขนวัวหันไปในงานหลังย่างได้ที่แล้ว มีคนมาร่วมงานมาก มามุงดูกันอย่างแปลกใจ หลังสัมผัสชิ้นวัวที่คนยืนคอยใช้มีดเฉือนให้เป็นชิ้น แต่ไม่ทันใจ ใช้มือฉีกด้วยตนเอง เพียงไม่นาน วัวหันสูตรแม่โจ้เหลือแต่โครงกระดูกตั้งเป็นอนุสรณ์ในงาน เจ้าของวัวหันยิ้มด้วยความยินดีที่มีเสียงชมจากแขกเหรื่อ และเจ้าภาพในงานเลี้ยงมาเสริมบารมี ส.ส. ที่เมนูนี้หารับประทานยาก

จากวันนั้นถึงวันนี้นานกว่า 40 ปี ที่ว่างเว้นจากวัวหัน เมื่อปี 2561 ปลายเดือนมกราคม มีโอกาสไปงานเลี้ยงรุ่นแม่โจ้ที่จังหวัดลำพูน ได้มีรุ่นน้องลำพูน ย่างแพะหันมาให้ในคืนวันสุกดิบ ผู้เขียนมีโอกาสได้ลองชิมดูหลายครั้ง เพราะนานแล้วไม่ได้เจอ แพะหัน รสชาติดี คืนนั้นก็หมดเกลี้ยงไม่เหลือเช่นกัน

ด้วยความประทับใจที่ได้มาเรียนแม่โจ้ ด้วยสปิริตที่สูงส่ง มีอาจารย์ดีมาช่วยสอนวิชาได้ความรู้อย่างน่าซาบซึ้งใจยิ่งนัก ขอสรรเสริญ