“ปลาส้มบาตูมัส” งานสร้างอาชีพ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลาส้มบาตูมัส จังหวัดยะลา

ทะเลสาบฮาลา-บาลา อยู่ที่ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่หากใครมีโอกาสเดินทางมาถึงจังหวัดยะลาก็ต้องหาเวลามาล่องเรือสักครั้งเพื่อชมความงามของธรรมชาติ ได้เห็นความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งสองฝั่งทะเลสาบฮาลา-บาลา ชมวิถีชีวิตของชาวบ้านพื้นถิ่น การทำประมงพื้นบ้านจากแหล่งน้ำที่ธรรมชาติสรรค์สร้าง จนเกิดเป็นอาชีพที่หลากหลายของชาวบ้านในละแวกนี้ มีการนำปลาจากทะเลสาบมาแปรรูปทำปลาส้มกันมากมาย และหนึ่งในนั้นก็เป็นปลาส้มจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลาส้มบาตูมัส ที่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่มีอยู่มาต่อยอดสร้างรายได้ ด้วยสโลแกน “ปลาส้มบาตูมัส อร่อยฟิน ไม่ติดกระทะ”

คุณไซนับ ดอหิง หัวหน้ากลุ่มปลาส้มบาตูมัส อยู่บ้านเลขที่ 404 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในช่วงยางพาราราคาตกมารวมกลุ่มสร้างแปรรูปปลาส้มเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จุนเจือครอบครัว

คุณไซนับ ดอหิง หัวหน้ากลุ่มปลาส้มบาตูมัส

คุณไซนับ เล่าว่า เนื่องจากคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรทำสวนยาง มีรายได้หลักจากยางพารา เมื่อประสบวิกฤตราคายางตกต่ำจึงคิดที่จะหารายได้เสริมมาจุนเจือครอบครัว จึงมีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างรายได้ โดยมีกรมแรงงานเข้ามาเสนอและจะสอนวิธีทำปลาส้มให้ ซึ่งในครั้งแรกทางกลุ่มยังไม่สนใจและปฏิเสธไปก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีคนทำเยอะแล้ว และผลตอบรับก็ไม่ดีเท่าที่ควร จึงไม่มีกำลังใจที่จะทำ แต่ต่อมาก็ทนคำชักชวนของกรมแรงงานไม่ไหวจึงตกปากรับคำให้เขามาสอนทดลองทำ ทำไปทำมาทางกลุ่มเริ่มรู้สึกติดใจเพราะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาชิมปลาส้มที่ทางกลุ่มทำ ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปลาส้มของกลุ่มเราอร่อยกว่าที่เคยกินมา จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจอยากที่จะพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ด้วยการนำประสบการณ์และจุดด้อยมาพัฒนาดัดแปลงทำด้วยกรรมวิธีของกลุ่มเราเอง กลายเป็นจุดเด่นและมีการพูดกันปากต่อปาก ยอดขายดีขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี แล้ว

จุดเด่นปลาส้มบาตูมัส

จุดเด่นของปลาส้มบาตูมัสคือ 1. ปลาที่นำมาแปรรูปเป็นปลาที่มีอยู่ในพื้นที่ ในพื้นที่ของเรามีปลาเยอะมากเพราะเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทะเลสาบฮาลา-บาลา เน้นปลาตะเพียนเป็นวัตถุดิบหลัก เนื่องจากปลาตะเพียนตัวเล็ก เมื่อนำมาหมักเกลือจะทั่วถึงทำให้ปลาไม่มีกลิ่นคาว เนื้อหวาน รสชาติกำลังพอดี ไม่หวาน ไม่เปรี้ยวจนเกินไป ทอดแล้วไม่ติดกระทะ เนื้อไม่แตก ด้วยแนวคิดภูมิปัญญาชาวบ้านใช้พัดลมเป่าไล่น้ำให้ปลาสะเด็ดน้ำ และที่สำคัญข้าวก็จะคั่วใหม่ๆ เพื่อให้ได้กลิ่นหอม นี่คือความแตกต่างกลายเป็นเสน่ห์ของปลาส้มบาตูมัส

คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน

“ปลาส้มบาตูมัส” ทุกขั้นตอนการทำ
ต้องสด สะอาด ได้คุณภาพ

เจ้าของบอกว่า กว่าจะมาเป็นปลาส้มจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้ กรรมวิธีในการแปรรูปต้องสะอาดทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่

ขั้นตอนการเตรียมส่วนผสม

  1. เกลือเม็ด 2. ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละท่าน แต่ทางกลุ่มจะเลือกใช้ข้าวเจ้าเพราะจะทำให้ปลารสชาติไม่เปรี้ยวเกินไป ถือเป็นสูตรที่ลงตัว แต่ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการทดลองหลายๆ สูตร เช่น ใช้ข้าวเหนียวผสมกับกระเทียม จะอร่อยเปรี้ยวได้ใจภายใน 1 สัปดาห์ แต่พอหลังจากนั้นจะเหม็นเปรี้ยวเกินไป ทางกลุ่มจึงหยุดทำ 3. น้ำตาลทราย 4. ข้าวคั่ว

ขั้นตอนการทำ

  1. ต้องเป็นปลาตะเพียน และเป็นปลาที่สดเหงือกแดงเท่านั้น เพราะเคยสั่งปลาที่จับมานานหลายวัน เมื่อนำมาแปรรูปเนื้อจะไม่หวาน หลังจากนั้นจึงต้องย้ำพ่อค้าขายปลาว่าให้ส่งปลาสดมาให้เราอย่างเดียวเพราะอยู่ในพื้นที่เราเอง

    ปลาต้องสดเท่านั้น
  2. ท้องของปลาที่ชำแหละแล้วต้องดูว่าสะอาดและสด เพราะตอนที่รับปลามาพ่อค้าเขาจะทำการผ่าท้องควักไส้ออกมาให้แล้วเรียบร้อย เราจำเป็นต้องตรวจดูความสะอาดอีกครั้ง
  3. ทำการขอดเกล็ด ตัดเหงือก นำมาล้างน้ำให้สะอาดถูกหลักศาสนาอิสลาม ในท้องปลาต้องสะอาดใช้แปรงขัดจนเกลี้ยงไม่ให้มีเลือดติดอยู่แม้แต่นิดเดียว ความพิเศษคือที่นี่จะใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลจากบนเขามาล้างทำความสะอาดปลา ล้างหลายๆ ครั้ง จากนั้นนำไปสะเด็ดน้ำ แล้วนำมาหมักเกลือทิ้งไว้ 1 คืน

    ใช้แปรงขัดจะไม่มีเลือดติดค้างในตัวปลา
  4. ล้างเกลือออกแล้วสะเด็ดน้ำทิ้งไว้ จากนั้นนำข้าวคั่วกับน้ำตาลทรายใส่ลงไปผสมคลุกเคล้ากับปลาที่เตรียมไว้ หมักทิ้งไว้ 10 วัน ต้องปิดให้มิดชิด จนมั่นใจว่าแมลงหรือสิ่งสกปรกไม่สามารถเข้าไปได้

    7 คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน

ข้อควรระวัง

“ความสะอาดต้องมาอันดับหนึ่ง เกลือที่ใช้หมักต้องเลือก ของทางกลุ่มจะสั่งเกลือเม็ดมาจากปัตตานีเลย เพราะถ้าใช้เกลือป่นรสชาติของปลาที่ออกมาจะเค็มจนขม แต่ถ้าเป็นเกลือเม็ดจะเค็มออกหวาน แต่ก็ต้องดูด้วยว่าถ้าเป็นเกลือที่ขาวและเม็ดใหญ่จะเค็มมาก จะให้ดีคือเม็ดต้องเล็กเพราะว่าจะเข้าไปถึงเนื้อได้รวดเร็ว และอีกอย่างคือน้ำต้องถึง ถ้าน้ำน้อยปลาจะไม่สะอาด ทำออกมาแล้วปลาจะเหม็นคาว” พี่ไซนับ กล่าวถึงข้อควรระวังในการทำปลาส้ม

เคล็ดลับง่ายๆ ทอดปลาส้มให้อร่อย เพียงใช้เวลาที่เหมาะสมในการทอด ถ้าเป็นปลาตัวใหญ่ ต้องใช้เวลาทอด ข้างละ 4 นาที ถ้าเป็นปลาตัวเล็กลงมาให้ลดเวลาลงมาเหลือข้างละ 3 นาที เพียงเท่านี้ปลาก็จะออกมาสีเหลือง กรอบนอกนุ่มใน

ข้าวคั่วใหม่ๆ กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์

การตลาดผลตอบรับดี
โควิด-
19 ถือเป็นโอกาส

เจ้าของบอกว่า ตั้งแต่เริ่มรวมกลุ่มแปรรูปปลาส้มขายผลตอบรับก็ดีขึ้นมาเป็นลำดับ จากปกติจะขายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 400 กิโลกรัมขึ้นไป แต่พอเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ขึ้น กลับทำให้ปลาส้มบาตูมัสขายดีเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 750 กิโลกรัม นับเป็นสัญญาณที่ดีในเรื่องของการตลาด กลุ่มลูกค้ามาจากทั่วประเทศ และที่สำคัญกลุ่มลูกค้าที่ลืมไม่ได้เลยและทำให้ปลาส้มบาตูมัสของเรามีชื่อเสียงทุกวันนี้คือกลุ่มตลาดในชุมชนคนในหมู่บ้านที่ร่วมกันอุดหนุนของพื้นถิ่น บอกกันปากต่อปากไปถึงญาติพี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดกัน ทำให้การตลาดเรามาได้ไกลแบบก้าวกระโดด ซึ่งยอดขายอาจจะไม่ได้มากนักถ้าเทียบกับเจ้าใหญ่ๆ ที่เขาทำกัน แต่เกิดเป็นความภูมิใจที่สามารถมีเงินมาจุนเจือครอบครัวได้ตามที่หวังไว้ สมาชิกทั้งหมด 22 คน เริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นจากหลักร้อย ขยับขึ้นมาเป็นหลักพัน หรือในบางครั้งได้มากถึงคนละ 3,000 บาท เฉลี่ยแล้วทางกลุ่มจะมีรายได้จากการขายปลาส้มไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาท ต่อเดือน จากเมื่อก่อนไม่ค่อยจะมีความสามัคคีกัน ตอนนี้มีความสามัคคีมากขึ้น รายได้ก็เริ่มดีขึ้น

ร่วมมือกันทำแข็งขัน

การตลาด มีมาจากหลายแหล่งทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สั่งเข้ามา วางขายตามร้านขายของฝาก และลงขายผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ราคาขายต่อ 1 ถุง ก็ไม่แพง เน้นให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงจับซื้อได้ง่ายในราคาถุงละ 20 บาท บรรจุ 180 กรัม แต่ถ้าขายให้กับร้านส่งทั่วไปจำเป็นต้องเพิ่มราคาขึ้นมาอีกนิด เพราะถ้าขายเท่าเดิมจะได้แต่ทุนยังไม่มีกำไร จึงขึ้นมาในราคาถุงละ 35 บาท แต่ถ้าสั่งมากกว่า 10 ถุง ขึ้นไปลดลงมาเหลือถุงละ 30 บาท และเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาทางกรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามาแนะนำการตลาดให้ลดราคาลงมาอีกสำหรับลูกค้าที่สั่ง 100 ถุงขึ้นไป ผลตอบรับก็ออกมาดีเกินคาด มีลูกค้าหลายคนสั่งทีละ 100 ถุง ซึ่งในอนาคตวางแผนที่จะพัฒนาทำปลาส้มให้มีหลากหลายขนาดมากกว่านี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

ขั้นตอนแพ็กถุงสุญญากาศ

ฝากถึงเกษตรกร

“ถ้าเราทำอาชีพอะไร เราจะต้องคิดดีๆ ไม่ใช่พอเห็นเขาทำปลาส้มแล้วดีเราจะทำด้วย แต่อยากให้ลองพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ใกล้ๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ให้ผู้บริโภคยอมรับ และอย่ามองข้ามความสามัคคีในชุมชน เพราะจริงๆ แล้วการเริ่มต้นการตลาดที่สำคัญที่สุดไม่ต้องไปมองที่ไหนอื่นไกล ตลาดในชุมชนเรานี่แหละจะเป็นกระบอกเสียงให้เราได้ดีที่สุด บอกกันปากต่อปากไปในชุมชน ช่วยเหลือกันจนเกิดเป็นความเห็นใจซึ่งกันและกัน ขายของในราคาที่เขาจับต้องได้ ให้เพื่อนบ้านได้กินทุกคน หรือซื้อไปฝากลูกหลานในราคาเป็นกันเอง เราต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชนก่อน อย่ามองข้าม ทำชุมชนเราให้แข็งแรง ต่อไปจะทำอะไรหรือรวมกลุ่มอะไรก็ง่ายขึ้น” พี่ไซนับ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสนใจสั่งซื้อปลาส้มบาตูมัส ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (098) 039-7359

สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลาส้มบาตูมัส
เนื้อสีเหลือง กรอบนอก นุ่มใน