วช. ส่งเสริมเพิ่มมูลค่า “ผ้าไทย” ด้วยนวัตกรรมสิ่งทอรักษ์โลก

ช่วงนี้เทรนด์ “รักษ์โลก” กำลังมาแรงเป็นอย่างมากในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินอยู่ หรือแม้กระทั่งวงการ “แฟชั่น” มีการนำเส้นใยธรรมชาติ หรือสังเคราะห์จากธรรมชาติมาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้า เครื่องประดับ นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

เส้นใยกล้วย ในงานแฟชั่นสิ่งทอ

ผลงาน “มทร. ธัญบุรี”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธัญบุรี) เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่สนใจกระแสแฟชั่นรักษ์โลก จากเส้นใยกล้วย สิ่งทอ Eco-friendly ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋าถือ หมวก และรองเท้า ฯลฯ ทีมนักวิจัยได้นำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตกล้วยมาพัฒนาเป็นเส้นใยอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการนำเข้าเส้นใยธรรมชาติจากต่างประเทศ และช่วยเพิ่มทางเลือกใช้ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติให้กับผู้ประกอบการแฟชั่นเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอภายในประเทศ

ชุดแฟชั่นจากเส้นใยกล้วยของ มทร. ธัญบุรี ได้รางวัล Platinum Award

นวัตกรรมการแปรรูปเส้นใยกล้วย เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและภาคเกษตรอย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้งานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับรางวัล Platinum Award พร้อมถ้วยรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 ที่ผ่านมา

นอกจากนำกาบกล้วยมาปั่นเป็นเส้นด้าย ที่มีคุณสมบัติพิเศษด้านความแข็งแรงและเงามัน สามารถขึ้นรูปเป็นเส้นด้าย ผลิตเป็นผืนผ้าและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายและเคหะสิ่งทอแล้ว ผศ.ดร. สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร. ธัญบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานวิจัยชิ้นนี้ ยังได้พัฒนาต่อยอดเป็นผ้าจากใยกล้วยบัวหลวง ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีน้ำหนักเบา สวมใส่สบาย สร้างความเป็นอัตลักษณ์ผ้าจากเส้นใยกล้วยของปทุมธานี ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมผลงานผ้าใยกล้วยได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอาชีพวัดไก่เตี้ย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โทร. 094-438-6587

ต้นกล้วย ถูกนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปสิ่งทอ

ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากผ้าทอใยกล้วย

ผลงาน “มหาวิทยาลัยพายัพ”

เนื่องจากงานหัตถกรรมเส้นใยพืชได้รับความนิยมสูงขึ้น ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยพายัพ ประกอบด้วย รศ. เอนก ชิตเกษร และ รศ. พรรณนุช ชัยปินชนะ จึงได้ศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วย ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทยมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ในลักษณะงานหัตถกรรมที่สวยงามเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชนท้องถิ่น โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนโครงการวิจัยเพื่อชุมชนสังคม จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2560

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยพายัพ

ทีมนักวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากผ้าทอใยกล้วยและได้ถ่ายทอดกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วยย้อมสีธรรมชาติสู่กลุ่มทอผ้าจังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดกำแพงเพชร โดยชาวบ้านได้เรียนรู้การทอผ้าโดยใช้เส้นฝ้ายเป็นเส้นยืน และใช้เส้นใยกล้วยเป็นเส้นพุ่ง สามารถใช้ต้นกล้วยได้ทุกชนิด แต่ต้นกล้วยน้ำว้ามีความเหนียวมากที่สุด เมื่อเริ่มทอควรพรมน้ำบนเส้นใยกล้วยที่เตรียมไว้เพื่อให้นุ่มและง่ายต่อการทอ ปรับเพิ่มความถี่ของฟืมเพื่อให้เส้นยืนมีความถี่ รวมทั้งปรับใช้ฟันหวีที่สร้างขึ้นมาโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อฉีกใยกล้วย ให้มีขนาดเส้นใยที่มีขนาดละเอียดมากขึ้น เพื่อใช้ในการทอด้วยกี่กระทบพื้นเมือง

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านได้เรียนรู้เทคนิคการใช้วัสดุย้อมสีธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ใบตะเคียนหนู (ใบเหว) คำแสด (คำเงาะ) เปลือกประดู่ กระเจี๊ยบแดง ต้นขนุน ใบมะม่วง และเทคนิคการย้อมเย็นด้วยสารส้ม จุนสี โคลน น้ำขี้เถ้า และน้ำปูนใส รวมทั้งถ่ายทอดเทคนิคการสร้างลวดลายในการทอมาจากการสอดเส้นใยกล้วยและการสร้างลวดลายที่แตกต่างจากการทอผ้า เพื่อสร้างลวดลายใหม่ๆ ได้ตามความต้องการ

กรีดต้นกล้วยเป็นชิ้นบางๆ
แปรรูปเป็นเส้นใยกล้วย

ทีมนักวิจัยและชาวบ้านได้ร่วมกันพัฒนาการยกระดับผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น กระเป๋าถือสุภาพสตรี หลากหลายขนาด โดยจำหน่ายสินค้ากระเป๋าในราคา ใบละ 3,800 บาท นำไปสู่เศรษฐกิจชุมชนที่ดีขึ้น ชุมชนมีโอกาสได้รับการคัดเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบส่งเสริมรายได้และเศรษฐกิจในชุมชนให้มีมากขึ้น สร้างรายได้ และโอกาสทางการตลาดและช่องทางในการจัดจำหน่ายของผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรม เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั้งในและนอกชุมชน

หัตถกรรมจากเส้นใยกล้วย ผลงาน มหาวิทยาลัยพายัพ

“มทร. กรุงเทพ” พัฒนานวัตกรรมผ้าขาวม้า

สร้างอัตลักษณ์สินค้าไทยทรงดำ ราชบุรี

ดร. พีรยา สระมาลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  (วช.) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าให้มีคุณภาพ สามารถเพิ่มมูลค่าและพัฒนาช่องทางตลาด เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ จังหวัดราชบุรี มีความหลากหลายทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม และประเพณี อันเป็นลักษณะเด่นของท้องถิ่นสืบทอดมาแต่โบราณกาล จังหวัดราชบุรีมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม เช่น ไทยทรงดำ ไทยญวน มอญ กะเหรี่ยง จึงทำให้มีอิทธิพลต่อลวดลาย การออกแบบ ปัจจุบันจังหวัดราชบุรีเป็นแหล่งผลิตผ้าขาวม้าทั้งในรูปแบบอุตสาหกรรมและหัตถกรรมที่ทำในครัวเรือน

ลวดลายผ้าขาวม้าแบบดั้งเดิม (ขวา) กับลวดลายแบบใหม่ (ซ้าย)

สำหรับกลุ่มหัตถกรรมที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ คือ ศูนย์วัฒนธรรมบ้านไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน มีกำลังการผลิตผ้าขาวม้า 1,500 ผืน ต่อเดือน หรือประมาณ 50 ชิ้น ต่อวัน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 กำลังการผลิตลดลงเหลือแค่ วันละ 30 ผืน ทางกลุ่มมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าขาวม้าเดือนละ 800,000 บาท

ทีมนักวิจัยได้นำองค์ความรู้เรื่องทฤษฎีสี คุณลักษณะเส้นใย กระบวนการขึ้นเส้นยืน การแปรรูปผลิตภัณฑ์มาถ่ายทอดให้ชาวบ้าน ออกแบบสีสำหรับลายผ้าขาวม้าในรูปแบบใหม่ โดยวางแถบสีให้น่าสนใจ ฝึกฝนการขึ้นเส้นยืนได้ด้วยตัวเอง โดยใช้หลักการคำนวณเส้นยืน นำความรู้เรื่องคุณสมบัติของเส้นใยชนิดต่างๆ มาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าของแต่ละกลุ่ม ถ่ายทอดความรู้เรื่องการตกแต่งสำเร็จ (Finishing) มาใช้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอของกลุ่ม ทำให้ผ้านุ่มก่อนนำมาวางขาย เป็นต้น

ผ้าขาวม้าที่อยู่ระหว่างการทอ

หลังจากชาวบ้านนำความรู้ไปใช้งานจริง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าของผืนผ้าขาวม้าได้มากขึ้น เพราะคุณลักษณะของเส้นใยที่เลือกมาใช้ เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้ว มีลักษณะภายนอกดูแล้วคล้ายเส้นไหม โดยมีความมันวาว (แต่น้อยกว่าไหม) ผ้าเนื้อนิ่มขึ้น และซึมซับน้ำได้ดีกว่าเส้นใยสังเคราะห์ที่ใช้อยู่เดิม ทำให้ผ้าขาวม้าที่ทอออกมาดูแล้วมีราคาแพงและมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ส่วนเศษผ้าที่เหลือจากกระบวนการผลิต นำมาทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เข็มกลัด สร้อยคอ ฯลฯ ซึ่งเป็นการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างรายได้เพิ่มแก่ชุมชนด้วยคุณค่าทางอัตลักษณ์ที่งดงาม ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าขาวม้าทอมือให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี