น้ำหอมฟีโรโมนแพะ เสริมเสน่ห์ “เซ็กซี่-ยั่วเย้า” ต้นทุนผลิตหลักร้อย ขายได้หลักพัน

แพะ เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ นอกจากจำหน่ายในลักษณะน้ำนมแพะและเนื้อแพะเพื่อการบริโภคแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ ได้มากมาย ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร และเป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวชั้นดี ล่าสุดสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยแพะในรูปแบบ ผลิตภัณฑ์น้ำหอมฟีโรโมนแพะ เป็นรายแรกของประเทศไทย ที่สำคัญน้ำหอมฟีโรโมนแพะมีต้นทุนผลิตหลักร้อย แต่ขายได้หลักพันอีกด้วย 

น้ำหอมแพะ สกัดมาจากขนแพะ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งในฟาร์ม นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

ฟีโรโมน คืออะไร  

หลายคนอาจรู้สึกงงๆ ว่า ฟีโรโมน คืออะไร โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายมนุษย์และสัตว์สามารถสร้างและหลั่งฟีโรโมน ออกมาตามธรรมชาติ ลักษณะคล้ายเหงื่อหรือน้ำมันเพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น ผีเสื้อตัวเมียจะปล่อยฟีโรโมนที่เรียกว่า บอมบายโกล (Bombygol) เพื่อกระตุ้นความต้องการทางเพศ (Sex Attractant Pheromone) เพื่อดึงดูดตัวผู้ให้มาหาและกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์ ขณะเดียวกัน สุนัขมักปล่อยฟีโรโมนพร้อมฉี่เพื่อแสดงอาณาเขต (Territory Pheromone) ของตนเอง เป็นต้น

วงการน้ำหอมระดับโลก ได้สกัดฟีโรโมนจากต่อมเพศของสัตว์นานาชนิด เช่น กระรอก สกังก์ ม้า ฯลฯ มาใช้ผลิตหัวน้ำหอมมานานหลายปีแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น GIVENCHY, GUESS, น้ำหอมบริทนีย์ นอกจากนี้ น้ำหอม ปารีส ฮิลตัน ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มน้ำหอมฟีโรโมนกลิ่นแรงที่ทั่วโลกรู้จักกันดี สกัดมาจากต่อมเพศของม้า มีกลิ่นหอม ให้ความรู้สึกเซ็กซี่ เช่นเดียวกับ ชาแนล NO.5 หนึ่งในน้ำหอมขายดีระดับโลก ว่ากันว่า หากฉีดน้ำหอมกลิ่นนี้ไปท่องราตรียามค่ำคืน เวลามีกลิ่นเหงื่อ กลิ่นเหล้าหรือบุหรี่ จะเกิดกลิ่นเร้าเฉพาะตัว เสริมเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงข้ามได้ดี กลุ่มนักท่องราตรีจึงนิยมใช้น้ำหอมกลิ่นนี้กันมาก

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต (ที่ 2 จากขวา) ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ (วว.) โชว์ผลงานน้ำหอมแพะ

น้ำหอมฟีโรโมนแพะ

ย้อนกลับมาที่เรื่องน้ำหอมฟีโรโมนแพะกันต่อ ขนแพะ มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีกลิ่นฉุนแรง แต่ในความฉุนนั้นมีกลิ่นเฉพาะตัวที่สามารถนำมารังสรรค์เป็นน้ำหอมที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและลอกเลียนแบบยาก ดร. ขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้ตั้งเป้าหมายศึกษาวิจัยเรื่อง “การสกัดไขน้ำมันจากขนแพะ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นน้ำหอมที่มีกลิ่นเฉพาะตัว” จนได้น้ำหอมฟีโรโมนแพะที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ มหาวิทยาลัยแพะนานาชาติ ศรีผ่องฟาร์ม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

น้ำหอมแพะ

ดร. ขนิษฐา เล่าว่า ไขน้ำมันจากขนแพะอยู่ในกลุ่มของกลิ่น Musk และ Amber ซึ่งเป็นกลิ่นธรรมชาติ มีกลิ่นหอมที่อบอุ่น โดยกลิ่นแรกจะคล้ายกลิ่นของ Goat Cheese ส่วนกลิ่นที่สอง จะเป็นกลิ่นคล้าย Deer Musk ใช้เพียงปริมาณเล็กน้อย แต่ให้ความสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของ Animalic Pheromone และเป็น Fixative Base Note ของน้ำหอมในทางวิทยาศาสตร์ น้ำหอมที่มีกลิ่นในกลุ่ม Animal Notes จะมีความหอมอันเป็นเอกลักษณ์และมีความแตกต่าง 2 อย่าง คือ ปลุกความสดชื่นยินดีของตัวบุคคลที่ใช้และฟีโรโมนที่ได้มาจากสัตว์มีความซับซ้อน เลียนแบบยาก ผู้ที่ใช้น้ำหอมในกลุ่มนี้เชื่อว่ามีความแข็งแรง และมีความกล้าหาญ และให้ความรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ

ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล (คนที่ 2 จากขวา) ปลัดกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) ร่วมชื่นชมผลงานน้ำหอมแพะ

การสกัดน้ำหอม ฟีโรโมนแพะในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก คุณชวน ภูเก้าล้วน นายกสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ จัดหาขนแพะทั้งเพศผู้และเพศเมียที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ มาใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คำนวณต้นทุนการผลิตน้ำหอมฟีโรโมนแพะอยู่ที่หลักร้อย แต่สามารถขายได้หลักพัน นับเป็นนวัตกรรมงานวิจัยที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขนแพะเหลือทิ้งในฟาร์มได้เป็นอย่างดี

วว. คาดหวังว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหอมต้นแบบจากขนแพะเหลือทิ้ง จังหวัดกระบี่จะช่วยเพิ่มมูลค่าขนแพะ ยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียนและรายได้ การสกัด perfume essences เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มูลค่าสูง (Creation values) ดังเช่น น้ำหอม goat hair essence และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ นักวิจัย วว. อยู่ระหว่างการพัฒนาขนแพะที่เหลือจากการสกัดเป็นอุปกรณ์เพื่อเสริมความงาม เช่น ขนแปรงอ่อนนุ่มปัดแก้มหรือปัดแป้ง ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากเส้นใยขนแพะทดแทนการใช้พลาสติกและโพลิเมอร์ น้ำหอมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากขนแพะที่มีศักยภาพต่ออุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางในอนาคต เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่อุปทาน สร้างรายได้ต่อชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชนจังหวัดกระบี่และประเทศไทยในระยะยาว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำหอมทั่วโลก มีมูลค่าถึง 38.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 48.0 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2024 และมีมูลค่าเพิ่มถึง 3.6% หลังจาก วว. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาน้ำหอมต้นแบบที่มีกลิ่นเฉพาะตัวจากไขน้ำมันขนแพะเหลือทิ้งได้สำเร็จ ก็วางแผนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนและชุมชน สังคมไทยให้ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยนี้ต่อไปในอนาคต

ดร. ขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัย วว. ผู้ผลิตน้ำหอมแพะ

ผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวหน้าจากนมแพะ

นมแพะ เป็นนมที่มีโปรตีนคุณภาพสูง มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน มวลโมเลกุลของโปรตีนเบาและนุ่ม นมแพะมีเบต้าเคซีน (beta casein) ในปริมาณสูงถึงร้อยละ 62 ทำให้นมแพะมีการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุที่สูงกว่านมทั่วไป กรดอะมิโนจำเป็นที่พบเป็นองค์ประกอบหลักคือ lysine, leucine, valine และ phenylalanine นอกจากนี้ ยังมีกรดอะมิโนชนิดทอรีนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณสูงกว่านมวัวถึง 20 เท่า

ผลิตภัณฑ์แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มจากแพะในรูปแบบต่างๆ

ไขมันนมแพะมีกรดไขมันที่มีขนาดของโมเลกุลเล็กกว่า 5 ไมครอน มีอยู่ถึงร้อยละ 80 ทำให้มีเนื้อสัมผัสผิวที่นุ่ม ดังนั้น ทีมนักวิจัย วว. จึงได้นำ “นมแพะ” มาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตครื่องสำอาง ที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากนมแพะมีคุณสมบัติที่ดีต่อผิวหลายอย่าง มีทั้งวิตามิน A, B2, C และ E ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการบำรุงผิว และนมแพะมีอนุภาคไขมันขนาดเล็กซึมสู่ผิวได้ง่าย ทั้งเครื่องสำอางจากนมแพะยังมีคุณสมบัติเด่น คือช่วยให้ผิวอ่อนนุ่ม ทำให้ผิวขาว เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวจากนมแพะ เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของ วว. ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค เพราะมีประสิทธิภาพในการบำรุงผิวหน้าไม่ให้แห้งตึง ผิวหน้านุ่มลื่น ช่วยลดเลือนริ้วรอย ช่วยให้ผิวกระจ่างใส ลดการเกิดสิว เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่มีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ผลิตภัณฑ์ที่สวยงามและทันสมัย วว. จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่ชุมชนท้องถิ่น คือ กลุ่มผู้เลี้ยงแพะและปศุสัตว์ตำบลคลองยา อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว. กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เยี่ยมชมผลงานวิจัย
วช. สนับสนุนทุนวิจัย แก้จุดอ่อนของอุตสาหกรรมแพะอย่างครบวงจร

……………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่