ของใช้ชาวบ้าน : ซองใส่ตัวหนัง

หนังตะลุง เป็นศิลปะการแสดงของชาวปักษ์ใต้ สมัยเก่าก่อน เทศกาลงานใด ชาวบ้านมักได้ดูหนังตะลุงกันอย่างสนุกสนาน ผู้เขียนแม้จะเกิดในภาคกลาง ได้ฟังเพลงเหย่อย เพลงพวงมาลัย ลำตัด เพลงอีแซว เรื่อยไปจนถึงลิเก “ลิเกนักรำลีลา ไม่มีใครนำหน้ายุคนี้…ไม่มีใครนำล้ำหน้า ธมศรีวัฒนาหรอกนะ มีศิลปะเปลี่ยนแปลง…”

นอกจากได้ชมสดๆ ยังได้ฟังจากวิทยุกระจายเสียงด้วย

การได้ชมหนังตะลุงจากแดนสะตอ แม้จะนานๆ ครั้ง และถ้อยคำบางถ้อยคำฟังแล้วแปลไม่ได้ แต่ก็พอรู้และรับรสความสนุกสนานได้ไม่ยาก

“ผมอยู่ปักษ์ใต้มานานแล้ว วันนี้เกลอแก้วมาไกล…” จำได้เลาๆ ว่า นายหนังพากย์ประมาณนี้ ส่วนเรื่องราวที่เล่น จำไม่ได้เสียแล้วว่าได้ดูเรื่องอะไรบ้าง

จำได้ว่าแต่ละครั้งคราวที่ดู ต้องหัวร่องอหงาย เพราะเสียงพากย์ของนายหนังนั้นสนุกสนาน เร้าใจ และแสนจะเรียกร้องให้คนเพลิดเพลินไปกับเรื่องราว เอาเข้าจริง หนังตะลุงจะ “หรอย” หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนายหนัง ว่ามีความเชี่ยวชาญและมีมุกร้อยแปดพันเก้าหรือไม่ อย่างไร

เครื่องมือของใช้สำหรับคณะหนังตะลุงอย่างหนึ่งคือ “ซองเก็บตัวหนัง”

ซองเก็บตัวหนัง สมัยก่อนนำไผ่มาจักตอก สานให้เป็นแผ่น 2 แผ่น เท่ากัน แล้วประกบเข้าหากัน ทำให้เป็นซอง ให้พอมีช่องว่างพอที่จะสอดตัวหนังเข้าไปได้ หรือจะสานให้เป็นแผ่นเดียวกัน แล้วพับครึ่งเข้ามา แล้วค่อยเย็บเชื่อมเป็นซองก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

เมื่อได้ซองแล้ว คราวนี้ก็ทำหูหิ้วสำหรับจับถือเคลื่อนย้ายไปมา ตัวหนังแต่ละตัวกว่าจะทำเสร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น จึงต้องเก็บตัวหนังไว้เป็นอย่างดี เวลาเคลื่อนย้ายจะได้ไม่ไปเกาะโน่นเกี่ยวนี่ พลาดพลั้งขึ้นมาหนังฉีกขาด ความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง

เอาเข้าใจริง ถ้าไปเล่นที่ไหนทำตัวหนังขาดไป 1 ตัว ค่าจ้างอาจจะไม่พอกับการหาตัวหนังชั้นดีมาแทนก็อาจเป็นได้

การเก็บตัวหนังในซอง ปัจจุบันเนื่องจากเทคโนโลยีก้าวหน้า สามารถทำซองเอกสารเป็นพลาสติก และวัสดุอื่นๆ ได้อีกมากมาย เป็นเหตุให้การทำซองหนังไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักสานก็ได้ เนื่องจากหาซื้อซองที่เหมาะๆ หรือสั่งทำจากร้านให้ผลิตออกมาก็น่าจะเป็นทางที่ดี

เห็นไหมว่า บางอย่างเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี สะดวกสบายกว่า และคุณภาพดีกว่าก็เลือกของใหม่ได้ แต่กรณีของเก่าอย่างกลอนสนุกๆ บทพากย์ และลวดลายในตัวหนังเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เพราะยิ่งเก่าเท่าใด ก็เหมือนยิ่งมีมนต์ขลัง

สำหรับหนังตะลุงนั้น มีตัวละครเอก เช่น อ้ายเท่ง มันเป็นคนรูปร่างผอมสูง ลำตัวท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง ลงพุง ผิวดำ ปากกว้าง หัวเถิก และผมหยิกงอ ลักษณะเด่นของอ้ายเท่งคือ นิ้วมือขวายาวโตคล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย ส่วนนิ้วชี้กับหัวแม่มือซ้ายงอหยิกเป็นวงเข้าหากัน

แค่ดูตัว “อ้ายเท่ง” อย่างเดียวก็ตลกแล้ว เมื่อได้นายหนังใส่บทพากย์เข้าไป ด้วยชั้นเชิงการพูดที่สนุกสนาน เท่ากับใส่วิญญาณเข้าไปในตัวหนัง แล้วจะไม่ให้แฟนๆ ของนายหนังไม่สนุกสนานไปด้วยได้อย่างไร ว่ากันว่านิสัยของอ้ายเท่ง มันเป็นคนพูดจาโผงผาง ไม่เกรงใจใคร ชอบข่มขู่และล้อเลียนผู้อื่น เป็นคู่หูกับอ้ายหนูนุ้ย

อ้ายหนูนุ้ย ว่ากันว่าเป็นคนซื่อแกมโง่ ผิวดำ รูปร่างค่อนข้างเตี้ย พุงโย้ คอตก ทรงผมคล้ายแส้ม้า จมูกปากยื่นคล้ายปากวัว ไว้เคราหนวดแพะ และยังมีตัวอื่นๆ อีก เช่น นายยอดทอง นายสีแก้ว อ้ายสะหม้อ เป็นต้น

ตัวละครแต่ละตัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเด่นหรือรอง ล้วนแต่ “ถอด” แบบมาจากคนในสังคม สาเหตุหนึ่งที่หนังตะลุงยังอยู่ได้ อาจเพราะสาเหตุนี้

คนดูหนังแต่ละครั้ง เท่ากับได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยของคน และยังได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย ตัวหนัง ไม่ว่าจะเป็นตัวไหน ใหญ่เล็กอย่างไร เมื่อเลิกเล่นแล้ว การเก็บที่ดีคือ เก็บใส่ซองอย่างถนอม เพื่อป้องกันการชำรุด เสียหาย

ส่วนซองที่จะนำมาใส่นั้น จะทำมาจากวัสดุใด เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน