ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ผศ.ดร.ชาตรี หอมเขียว ประจำสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ศรีวิชัย จ.สงขลา เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมความสะดวก รวดเร็ว แต่ไม่คำนึงถึงสุขภาพร่างกายจากโฟม ในอนาคตอาจจะเป็นสาเหตุของโรคร้าย ตนจึงได้ศึกษาวิจัยกล่องบรรจุอาหารจากแผ่นไม้อัดรักษ์โลกแทนกล่องโฟมใส่อาหารขึ้น
ผศ.ดร.ชาตรีเปิดเผยว่า กล่องบรรจุอาหารผลิตมาจากขี้เลื่อยไม้ยางพาราและเส้นใยปาล์ม โดยมีแป้งมันสำปะหลังเป็นตัวประสาน ให้วัตถุทั้งสองยึดติดกัน เป็นผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ 100%จึงปลอดสารพิษ เพราะไม่มีสารเคมีเจือปนหรือปนเปื้อน โดยมีขั้นตอนการผลิต นำขี้เลื่อยไม้ยางพารามาแยกขนาด โดยใช้ตะแกรงร่อนผ่านตะแกรงขนาด 12 เมซ เส้นใยปาล์มยาวประมาณ 1 ซม.คลุกเคล้ากัน น้ำแป้งมันสำปะหลังที่ผสมน้ำแล้วเทผสมกัน คลุกเคล้าวัสดุทั้ง 3 เข้าด้วยกัน เทใส่ในกรอบไม้และแม่พิมพ์ตามขนาด อัดขึ้นรูปโดยเครื่องอัดร้อนด้วยอุณหภูมิ 190 องศา แรงดันอัด 2000 Psi 30 นาที
“กล่องบรรจุอาหารที่แปรรูปจากแผ่นใยไม้อัดรักษ์โลก สามารถบรรจุอาหารแห้งได้โดยไม่มีสารพิษจากกล่องซึมเข้าสู่อาหาร ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีต้นทุนต่ำ เนื่องจากใช้เศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังสามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ซ้ำได้อีก นอกจากเป็นการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่าแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัสดุเหลือทิ้งอีกด้วย” ผศ.ดร.ชาตรีกล่าว