พฤกษาในวัฒนธรรมและประเพณี พืชดีดีที่ควร “รักษ์”

ผลหมาก

Biodiversity is life

ความหลากหลายทางชีวภาพคือ ชีวิต

Biodiversity is our life

คือ ชีวิตของเราทุกคน

“ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง ความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนผืนโลก ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อกัน และไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เป็นแหล่งที่มาของอาหาร ยารักษาโรค เชื้อเพลิง และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมถึงเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น”

เป็นข้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในปกหลังของเล่มรายงานการประชุม เรื่อง แนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพืชในวัฒนธรรมและประเพณีของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552 โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ จากหัวเรื่องว่า : 2010 International Year of Biodiversity

จากเอกสารเล่มรายงานการประชุมแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟู พืชในวัฒนธรรมและประเพณีของประเทศไทย ที่กล่าวถึงนี้ มีรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานซึ่งมีบทบาทที่จะส่งเสริมและอนุรักษ์หรือฟื้นฟู และศึกษาวิจัยโดยเผยแพร่ประโยชน์คุณค่าของ “พฤกษาวัฒนธรรมประเพณี” เพื่อจะให้คงอยู่ยั่งยืนต่อมวลมนุษย์ อันจะนำสู่การดำรงชีพของมวลสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกกับความหลากหลายสัมพันธ์ต่อไป โดยการเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากคณะบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ต่อไปนี้

กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 5, 11, 13, 15 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย มูลนิธิสวนหลวง ร.9 และสำนักความหลากหลายทางชีวภาพ

จะเห็นว่าเป็นการระดมสมองจากความหลากหลายเหล่านักวิชาการจากบุคคล คณะบุคคล องค์กร และสำนักหน่วยงาน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และยังคุณค่าให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์พืชที่ควรจะเรียนรู้ต่อไปเป็นอย่างยิ่ง

จากเอกสารรายงานการประชุมฉบับนี้ ทำให้ทราบว่า เรื่องของการรณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายทางชีวภาพนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นหรือรณรงค์ในประเทศไทยเพียงเท่าที่เราได้รู้เห็น แต่ในความเป็นจริง เป็นเรื่องการรณรงค์ในระดับสากลทั่วโลก ดังคำเขียนในคำนำจากเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยประโยคข้อความขึ้นต้นที่กล่าวว่า :

“พันธกรณี ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกมีแนวทางสำหรับดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากพืช หรือที่เรียกว่า กลยุทธ์ทั่วโลกสำหรับการอนุรักษ์พืช (Global Strategy for Plant Conservation) และการดำรงรักษาทรัพยากรอันทรงคุณค่าให้คงอยู่ตลอดไป…ฯลฯ

ความสำคัญและคุณประโยชน์อันทรงคุณค่าความจำเป็นที่มวลมนุษย์ได้รับจากความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นพื้นฐานการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต ทั้งคน สัตว์ และพืชด้วยการปฏิพัทธ์สัมพันธ์กัน มีมาตั้งแต่ชีวิตมีบนพื้นโลก แต่สำหรับมนุษย์เรา วิถีชีวิตของสังคมของชุมชนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนในสังคมหรือชุมชนหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมของชุมชนนั้น เริ่มด้วยการกินอยู่โดยมีการใช้ประโยชน์ของพืชที่แตกต่างกัน เป็นขนมธรรมเนียม จารีตประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจะเชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมที่จะทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ วิถีชีวิตของหมู่คณะจนกลายเป็นประเพณีที่นิยมประพฤติปฏิบัติสืบๆ กันมา จนเรียกกันว่าขนบธรรมเนียมหรือจารีตประเพณี หรือชอบเรียกกันว่า ธรรมเนียมประเพณี ที่ถือว่าเป็นประเพณีธรรมดาสามัญ ถ้าฝ่าฝืนก็ไม่ได้ลงโทษว่าผิดหรือชั่วร้าย เพียงแต่จะสบายใจหากได้ปฏิบัติตามความเชื่อโดยเรื่องราวของพืชที่จะมาเกี่ยวข้องในวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน ก็มีความเชื่อที่สืบต่อเป็นวัฒนธรรมประเพณีเช่นกัน ได้แก่

บัวบูชาพระ

พืชในพิธีกรรม ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การเกิด การตาย

พืชในศิลปวัฒนธรรม ศิลปะไทยที่ถอดแบบจากชิ้นส่วนของพืช วัฒนธรรมภาษา ศาสนา และความเชื่อแต่ละถิ่นภาค

อาจารย์ชุมพล คุณวาสี หน่วยปฏิบัติการวิจัยพรรณไม้ประเทศไทย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนไว้ในเอกสารเล่มที่ได้กล่าวถึงนี้ ในหัวข้อที่ว่า “การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของพืชในวัฒนธรรมและประเพณีของประเทศไทย ซึ่งขออนุญาตสรุปเรื่องราวมานำเสนอ เพื่อจะได้ทราบบทบาทของพืชต่างๆ ที่รู้จักกัน และนำมาใช้ในบริบทของวัฒนธรรมประเพณีใดๆ บ้าง

ขมิ้นชัน

พืชในพิธีกรรมที่นำมาใช้ประกอบพิธี เช่น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีประเพณีปฏิบัติตามแต่ความเชื่อหรือประเพณีในท้องถิ่นภาคนั้นๆ เช่น การเกิด เมื่อเริ่มตั้งท้อง ผู้หญิงไทยสมัยก่อนจะดูแลตนเองตั้งแต่เริ่มท้อง โดยการใช้ขมิ้นทาท้อง ดูแลท้องที่ตึงจนคลอด การคลอดโดยมีหมอตำแย หรือบางท้องถิ่นเรียกภาษาชาวบ้านว่า “แม่ทาน” เป็นหมอพื้นบ้านทำคลอด ในอดีตยังไม่มีใบมีดเหมือนปัจจุบัน พืชที่นำมาใช้คือไม้ไผ่รวก นำมาเจียนจนเป็นแผ่นคมๆ แล้วใช้แง่งไพรเป็นตัวรองสายสะดือเพื่อตัด หลังจากคลอดแล้ว ต่อมาวิธีการ “อยู่ไฟ” ก็ถือเป็นวิถีไทยอีกแบบที่ผู้หญิงคุณแม่อยู่ไฟ โดยนำพืชเข้ามาเกี่ยวข้องคือ มีพืชต่างๆ หลายชนิดมาอบตัว หรือเข้ากระโจม ดังคำเขียนของ “ทมยันตี” ในนวนิยายเรื่อง “ร่มฉัตร” ตอนที่ว่า

…แม่นอนอยู่บนกระดานไฟ ผ้าโจงกระเบนที่เคยนุ่งห่มมิดชิด กลับกลายเป็นผ้าผืนนิดเดียวมองเห็นหน้าท้องซึ่งทาปูนแดงกับขมิ้นไว้หนา…ฯลฯ

…ที่แม่เข้ากระโจมเพื่อให้เหงื่อออกไงลูก ผิวจะได้สะอาด ตอนที่แม่ออกวาดกับน้อง แม่ต้องเข้ากระโจมทุกวัน แต่เครื่องยามีมากกว่านั้น เช่น ผักบุ้งล้อมเปลือกส้มโอ ว่านน้ำ ตะไคร้ ใบส้มป่อย…ฯลฯ

สำหรับการประทินผิวปัจจุบัน เราอาจจะยังเห็นหรือรู้จักคำว่ากระโจม แต่สิ่งที่แพร่หลายคือการประคบด้วยลูกประคบ หรือการอาบสมุนไพร

การตายประเพณีที่ยังชัดเจนอยู่ก็คือ พืชเกี่ยวข้องในพิธีกรรมเป็นน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ นิยมใช้ก่อนเผา แต่บางท้องถิ่นอาจจะใช้ล้างหน้าศพก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังเมรุเผา เพราะเชื่อว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ ชำระล้างสิ่งอัปมงคลได้ ส่วนพิธีเคลื่อนศพก็นิยมใช้ไม้ไผ่สานเป็นแคร่ สำหรับหาบ หรือหาม เรียก “ห้างลอย”

ผลหมาก

สมัยก่อนที่นิยมกินหมากก็จะมีการตำหมากใส่ปากศพ เชื่อว่าเป็นการแก้ทุกข์ เพราะกินแล้วรู้สึกสบายใจ เหมือนได้กินสิ่งที่เคยโปรดปราน

การอาบน้ำศพก็ต้องใช้พืชหลากหลายชนิดมารวมกันเพื่อต้มน้ำอาบศพ เช่น ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบหนาด หรือฟอกด้วยส้มมะกรูด แล้วพอกด้วยขมิ้น

การเผาศพสมัยก่อนก็อาจจะใช้พื้นโล่ง หรือบางวัดก็มี “เชิงตะกอน” เป็นเมรุเฉพาะ พอจะลับตาได้บ้าง แต่วัตถุดิบที่ใช้ก็คือไม้ฟืน ตามแต่ผู้มาร่วมจะถือติดมือกันมา เรียกว่า ไม้ฟืนเผาศพ ในบางท้องถิ่นก็เรียกว่า “ไม้ทู้” นำมาสุมรวมกัน เพราะไม่มีเมรุเตาไฟฟ้าอย่างปัจจุบัน ก็เป็นความสามัคคีประเพณีเผาศพสมัยก่อน รวมทั้งจะต้องมีไม้ท่อนยาวแข็งแรง ทนความร้อนได้เพื่อใช้กดหรือดันศพ ซึ่งอาจจะมีการขยับตัวเมื่อโดนความร้อน ทำให้เอ็นหนัง หรือชิ้นส่วนของตัวศพลุกงอ ลุกนั่งได้ จึงต้องมีไม้ท่อนยาวนี้กดไว้ แต่ทุกอย่างพฤติกรรมประเพณีก็เป็นการแสดงออกถึงความรักสามัคคีของผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคมชุมชน ที่ต้องอาศัยชนิดของพืชนั้นๆ ตามความเชื่อประเพณี

พืชในศิลปวัฒนธรรมก็มีบทบาทที่ถูกถ่ายทอดในเชิงศิลปะลวดลายต่างๆ แบบไทย จนถูกถอดแบบจากความหลากหลายในธรรมชาตินั้นๆ เช่น ลายกระจังต่างๆ ลายดอกไม้ซึ่งเป็น 4 กลีบ ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายกนก โดยมีต้นกำเนิดจากรูปทรงของดอกบัวหลวง รวมถึงงานเขียนในกวีนิพนธ์ ในวรรณกรรมภาษา บทกวี นิราศต่างๆ จะนำต้นไม้ ดอกไม้ พืชที่อยู่ในชีวิตประจำวันรอบๆ ตัวมาร้อยเรียงสะท้อนเรื่องราว รวมทั้งวัฒนธรรมภาษา สำนวนไทยๆ มาเปรียบเปรย เช่น น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง หรือถ้าย้อนยุคจริงๆ น้อยคนอาจจะเคยได้ยิน “ภาษีผักบุ้ง” ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ก็มีตำนานเล่าสู่กันฟังว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องเสียเพราะผักบุ้ง

ใบมะยม

ความเชื่อในศาสนาจะนึกถึงดอกบัวบูชาพระ แต่หากลึกลงในความเชื่อตามวัฒนธรรมประเพณีก็มีความหลากหลาย ปัจจุบัน การไหว้พระมักจะพับดอกบัว ถ้าสังเกตในพิธีครูโขนละคร ดอกบัวที่ใช้บูชาเครื่องดนตรีจะต้องไม่ใช้ดอกบัวที่พับ ต้องเป็นดอกบัวยอดแหลม การเรียกชื่อพืช ขนุน มะขาม มะยม ก็มีนัยยะความเชื่อ กล้วย อ้อย ที่ใช้ในพิธียกขันหมาก งานสู่ขอแต่งงานก็เป็นประเพณีวัฒนธรรมเช่นกัน

ดอกเข้าพรรษาก็มีตำนานความเชื่อในพุทธศาสนาตามตำนานที่ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาแล้วมีรอยพระบาทประทับ และมีประเพณีตักบาตรดอกไม้ ล้างเท้าพระที่วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ปัจจุบัน มีการส่งเสริมสายพันธุ์พืชสกุล Globba มาเพิ่มเติมจากการเก็บในป่า

มะพร้าวซอขอบคุณภาพจากhttpssites.google.com

มะพร้าวในงานศิลปะดนตรีก็เป็นพืชที่อยู่ในเครื่องบูชาและสังเวยในพิธีครอบครู ดนตรีไทยและนาฏศิลป์ หรือหากใช้ทำเครื่องดนตรีก็หายาก เช่น มะพร้าวซอ ซึ่งมีที่เดียวที่อัมพวา คือลักษณะของกะโหลกมะพร้าวซอ มีความพิเศษเป็นพู คล้ายก้อนเส้าสาม ซึ่งตัวมะพร้าวซอใช้ทำซออู้ ในรัชกาลที่ 2 มะพร้าวซอหายาก จึงได้ออกพระราชบัญญัติว่าห้ามเก็บภาษีกับชาวสวนที่ปลูกเพื่อส่งเสริมให้เก็บมะพร้าวซอเอาไว้

มะตูม ในพิธีครอบครูดนตรีไทย ซึ่งครอบทั้งสามศีรษะ จะมีศีรษะครูตั้งศีรษะครูฤาษี และครอบศีรษะครูที่รูปหน้าเป็นยักษ์คือพระพิราบ เป็นสัญลักษณ์ครูโขน ส่วนศีรษะสุดท้ายใช้เชิดของโนรา เป็นสัญลักษณ์ของครูนาฏศิลป์ไทย พอครอบเสร็จพราหมณ์ที่จะทำพิธีจะนำสิ่งที่อยู่ในพานทัดหูให้ คือใบมะตูมพันกับหญ้าแพรก ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมงคลในพระราชพิธีต่างๆ แม้กระทั่งปัจจุบันเอกอัครราชทูตไทยลาไปปฏิบัติงานต่างประเทศ พระเจ้าอยู่หัวก็จะทรงทัดใบมะตูมให้ ใบมะตูมมีสามแฉก ตามตำราว่าเหมือนตรีศูลของพระศิวะตามศาสนาฮินดู หรือบางตำราว่าสามแฉกนั้นแทนตรีมูรติ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ซึ่งเป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นมงคล ส่วนพืชอื่นๆ ในพิธีสังเวยบูชา ก็ได้แก่ อ้อย ถั่ว งา กล้วยน้ำว้า พานหมากพลู

สำหรับพืชที่สัมผัสในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่โบราณจนปัจจุบัน และไม่ต้องกล่าวถึงในอนาคต เพราะเชื่อว่าต้องเป็นปัจจุบันตลอดไป ก็คือข้าว ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในวัฒนธรรมไทยตลอดมา เช่น พิธีกรรมพระราชพิธีแรกนา ประเพณีสู่ขวัญข้าวทำบุญคูนลาน เรียกขวัญข้าว หรือพระแม่โพสพ ที่ตกลงหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการขอบคุณและขอขมาพระแม่โพสพ บางท้องถิ่นมีการทำขวัญข้าวตั้งแต่ข้าวกำลัง “ตั้งท้อง”

มีข้อสังเกตว่าพืชในวัฒนธรรมไทยเป็นพืชที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต แต่ด้วยสภาพในธรรมชาติจากอดีต แตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง พื้นที่พักที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวปัจจุบัน อาจจะหรือหมดสิทธิ์ที่จะปลูกพืชมงคลรอบบ้าน เช่น ขนุน มะยม มะขาม มะพร้าว มะตูม ไม่ว่าเป็นนอกเรือนชาน หรือปลูกพืชผักสวนครัวหลังบ้านได้เลย เพราะคำถามทักทายของคนรุ่นใหม่มักจะมีว่า… “คุณอยู่คอนโดฯ ชั้นที่เท่าไหร่?”