คนมอญปรากฏในจารึกพงศาวดาร เมืองนครศรีธรรมราช

อาจารย์บัณฑิต สุทธมุสิก ปราชญ์เมืองนครศรีธรรมราช ได้เล่าเรื่องราวพร้อมแสดงข้อมูลที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับหอสมุดแห่งชาติพระนคร เลขที่ 36 ฆ บั้นกลาง จากต้นฉบับเต็มในไตรภูมิพระร่วง เรื่อง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชสร้างวัดท่าช้าง พระอารามหลวง วัดเสมาทองและวัดบริวารอีก 9 วัด มี วัดสมิทพิไชย วัดพระไทรสามต้น วัดตะปัง วัดน้ำดำ วัดปะ วัดตาหมาย วัดจันพอ วัดทุ่งพระ วัดเสมาเมือง ทั้ง 9 วัดนี้ขึ้นแก่สมเด็จเจ้าโพธิสมภาร เจ้าอธิการวัดท่าช้างอารามหลวง ซึ่งเป็นหลานปู่ของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และหลานตาของโคตรคีรีเศรษฐี

ในพงศาวดารเล่มนี้ยังได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญสี่ประการ เรื่องแรกเป็นการบอกกล่าวถึงอานิสงส์การเผาศพตั้งแต่ศพ พ่อแม่ ครูอาจารย์ พี่น้อง ลุงป้า น้าอา และการเผาศพบุคคลที่ไร้ญาติว่า มีอานิสงส์มาก ด้วยอาศัยศรัทธาตลอดจนการเผาซากศพสัตว์เดรัจฉาน

อาจารย์บัณฑิต กับ คุณชวนพิศ พาไปชมเจดีย์ยักษ์

เรื่องที่สองได้กล่าวถึง พงศาวดารพระเจ้าศรีธรรมโศกราชสร้างวัดท่าช้างอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. 1535 พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้าง รวมไปถึงประวัติการสร้างวัดเสมาทองและวัดบริวารอีก 9 วัด ในเมืองนครศรีธรรมราช

ส่วนเรื่องที่สามได้จดจาร วัน เดือน ปี ข้างขึ้นข้างแรมเกี่ยวกับวันปฏิสนธิวันสู่เนกขัมมะ วันตรัสรู้ และวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และสุดท้ายพูดถึง อสุรินทราหู ผู้มีร่างกายใหญ่ พร้อมฤทธิเดช แต่ต้องมาสยบต่อพระกิณุสัน คือ ท้าวสักกะเทวราช หรือพระอินทร์ ผู้เป็นจอมเทพแห่งเทวดา

มีหลักฐานจารึกมอญเมืองนครศรีธรรมราช ที่ คุณสุกัญญา เบาเนิด เขียนลงในวารสารเสียงรามัญ ปีที่ 5 ฉบับที่ 26 เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2553 ว่า นครศรีธรรมราช เป็นดินแดนที่ปรากฏหลักฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนมีพัฒนาการต่อเนื่องในยุคประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นภายใต้อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรตามพรลิงค์ อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา ด้วยที่ตั้งของนครศรีธรรมราชมีตำแหน่งที่อยู่เกือบกึ่งกลางของคาบสมุทรทะเลใต้ อยู่ท่ามกลางการรับอิทธิพลวัฒนธรรม จีน อินเดีย และอาหรับ ทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในช่วงยุคต้นประวัติศาสตร์ราวพุทธศตวรรษที่ 12

หลักฐานจารึกโบราณที่ใช้รูปอักษรปัลลวะจากอินเดีย แต่ใช้ภาษาที่ต่างกัน เช่น ภาษาสันสกฤต และภาษาทมิฬ ดังปรากฏในจารึกเขาพระนารายณ์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ตลอดจนโบราณวัตถุสถานที่กระจัดกระจายทั่วไปในบริเวณพื้นที่ราบระหว่างเทือกเขานครศรีธรรมราชกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่อำเภอเมืองสิชล ท่าศาลา และร่อนพิบูลย์ อิทธิพลศาสนาพราหมณ์ทั้งที่เป็นไศวนิกาย ไวษณพนิกาย และศาสนาพุทธ ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม

ชาติพันธุ์ “มอญ” เป็นหนึ่งในกลุ่มวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในดินแดนนครศรีธรรมราช ดังหลักฐานจารึกภาษามอญ จำนวน 2 หลัก คือ จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (น.ศ.3) และจารึกวิหารโพธิ์ลังกา (น.ศ.2)

ศิลาจารึกภาษามอญที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ วัดพระศรีมหาธาตุ

จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (น.ศ.3) นั้นเป็นจารึกภาษามอญโบราณ เขียนด้วยอักษรปัลลวะ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 มีลักษณะเป็นแผ่นหินสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 18.5 เซนติเมตร ยาว 84 เซนติเมตร มีอักษรข้อความเพียงบรรทัดเดียว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้อยู่ระหว่างบันไดในพิพิธภัณฑ์ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ เป็นผู้อ่าน โดยมี คุณจำปา เยื้องเจริญ เป็นผู้แปล ได้ความว่า

“รูปจำลอง พ่อมายาแห่งหัวเมืองชั้นนอก ผู้งามสว่างประดุจถ่านไฟที่กำลังลุกโชน”

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ลงความเห็นแน่ชัดว่า “เป็นภาษามอญ” ในรูปอักษรปัลลวะพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในแหลมอินโดจีน โดยเฉพาะในประเทศไทย พบในแถบจังหวัดนครปฐม ราชบุรี ปราจีนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ สระบุรี อุบลราชธานี เป็นต้น ภาษาที่จารึกด้วยรูปอักษรปัลลวะนี้ มีทั้งภาษาสันสกฤต บาลี เขมร และมอญ แต่ที่จารึกเป็นภาษามอญนั้นพบที่วัดโพธิ์ร้าง นครปฐม และในพิพิธภัณฑ์ของวัดมหาธาตุวรมหาวิหาร

ส่วนจารึกวิหารโพธิ์ลังกานั้น เป็นจารึกภาษามอญและพม่าโบราณ เขียนด้วยอักษรมอญโบราณอายุประมาณ พ.ศ. 1775-1825 จารึกมีลักษณะรูปร่างคล้ายใบเสมาขนาดกว้าง 37 เซนติเมตร ยาว 76 เซนติเมตร ปัจจุบันอยู่ที่พระวิหารโพธิ์ลังกา วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช เช่นกัน มีอักษรข้อความเพียงด้านเดียว มี 8 บรรทัด คุณเทิม มีเต็ม เป็นผู้อ่าน คุณจำปา เยื้องเจริญ เป็นผู้แปล ความตอนหนึ่งว่า

ไม้แกะสลักเป็นหงส์ บริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ
เสาหงส์ วางไว้ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ

“พญานาค 2 ตัว ชูเศียรเลิกพังพาน มีเกล็ดสีแดงดั่งเปลวเพลิง เคลื่อนไหวไปมาดุจพัดใบตาลที่กำลังโบกสะบัดด้วยอากัปกิริยาอันสง่างามและกล้าหาญ…”

จากหลักฐานดังกล่าว น่าจะเป็นข้อบ่งชี้ว่า ชาติพันธุ์มอญได้เคยมีบทบาทอยู่ในช่วงเวลานั้น สร้างที่อยู่อาศัยดำรงชีวิตอยู่หลายชุมชน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางบำเพ็ญศาสนกิจอีกหลายวัด อาจารย์บัณฑิตได้พาไปดูพื้นที่ที่เคยเป็นชุมชนโบราณและวัด แต่บัดนี้ได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นสถานีตำรวจ เขตรถไฟ ตลาดร้านค้า จวนเจียนจะหมดสิ้น คงเหลือหลักฐานเพียงน้อยชิ้นที่ยังบ่งบอกให้เห็นเป็นประจักษ์พยานอยู่ในปัจจุบัน