อาสาสมัครผู้สูงอายุ คลังภูมิปัญญาแผ่นดิน

ปี 2565 ประเทศไทยมีผู้สูงวัย 12 ล้านกว่าคนหรือ 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเข้าตามหลักเกณฑ์การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี 2582 จะมีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น 28% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

สังคมผู้สูงอายุส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายมิติ ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ภาวะจิตใจของผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยว ภาครัฐต้องใช้งบประมาณดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุจำนวนมาก ดังนั้น การก้าวไปสู่สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ จึงเป็นโจทย์ท้าทายของภาครัฐบาล ปี 2565 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนากำลังคน พัฒนาระบบบริการและกิจกรรมรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐบาลเปิดตัว “อาสาสมัครผู้สูงอายุกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.)” 

ศธ. เปิดตัว “อาสาสมัครผู้สูงอายุ”

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนโครงการ “อาสาสมัครผู้สูงอายุกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.)” รองรับคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล และส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ โดยเปิดโอกาสให้ครูเกษียณที่มีความเชี่ยวชาญและกลุ่มผู้สูงวัยจิตอาสามาทำหน้าที่เป็น “อส.ศธ.” เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาทุกกลุ่มวัยในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ

นางสาวตรีนุชมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดประชุมชี้แจงบทบาทหน้าที่ ของ อส.ศธ. ซึ่งจะทำงานประจำศูนย์การเรียนชุมชน ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่ ทุกจังหวัด โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มสนับสนุนงานด้านการศึกษา และกลุ่มคลังภูมิปัญญาผู้สูงอายุ

พ.จ.อ. พัฒน์ ผดุงญาติ ชื่นชมผลิตภัณฑ์ กศน.พรีเมี่ยม

กลุ่มสนับสนุนงานด้านการศึกษา ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ และให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับเด็กที่อยู่ในวัยเรียน และผู้ที่มีความต้องการเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชน

กลุ่มคลังภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ/ทักษะชีวิตในการส่งเสริมการรู้หนังสือ สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้จากการฝึกอาชีพทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาวให้กับเด็กในวัยเรียน ประชาชน และผู้สูงอายุในชุมชน ตลอดจนร่วมพัฒนาวิชาชีพชุมชนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

คณะครู กศน.อำเภอเมืองอู่ทอง

กศน.อ่างทอง ยกย่อง คลังภูมิปัญญาผู้สูงอายุ

พ.จ.อ. พัฒน์ ผดุงญาติ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดอ่างทอง สนองนโยบายรัฐบาลและสำนักงาน กศน. โดยมอบหมายให้สถานศึกษาในสังกัดดำเนินโครงการการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงพัฒนาทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ ใน 4 มิติ (มิติสุขภาพ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ และมิติสภาพแวดล้อม) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี สามารถดูแลสุขภาพและช่วยเหลือตนเอง ได้แก่ กิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เช่น อบรมการทำไม้กวาดสำหรับผู้สูงอายุ เน้นการใช้สมาธิ ฝึกการเกร็งกล้ามเนื้อมือและแขน เพื่อลดภาวะความซึมเศร้า ส่งเสริมการเข้าสังคม เสริมสร้างการพัฒนาทางกายและสมอง

สินค้าขายดีของกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น

กศน.อำเภอเมืองอ่างทอง เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดอ่างทอง มีหน้าที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต กศน.อำเภอเมืองอ่างทอง จัดทำข้อมูลภูมิปัญญาที่เป็นผู้สูงอายุถ่ายทอดองค์ความรู้ ประจำตำบลในพื้นที่ 14 ตำบลของอำเภอเมืองอ่างทอง ประกอบด้วย ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ สาขาความรู้ สถานที่ตั้ง ช่องทางการติดต่อประสานงาน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญประจำตำบล

นางปราณี จันทวร (คนกลาง) ถ่ายทำรายการ “เรียนนอกรั้ว” 

เครื่องจักสานจากผักตบชวา

นางปราณี จันทวร สืบทอดความรู้การทำ “เครื่องจักสาน” มาจากบรรพบุรุษ โดยใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ต่อมานางปรานีได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้รับรู้ปัญหาผักตบชวาว่า เป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างปัญหากีดขวางการสัญจรทางน้ำ และเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในแม่น้ำลำคลอง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมติดตามมา

นางปราณีนำก้านของผักตบชวามาเป็นวัสดุจักสานเครื่องใช้ในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดกลุ่มอาชีพเครื่องจักสานจากผักตบชวาในชุมชนในชื่อ “กลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น” ในอดีตชาวบ้านทำเครื่องจักสานประเภทตะกร้า กระเป๋า เครื่องใช้สอยต่างๆ นางปราณีได้พัฒนาต่อยอดเปลี่ยนรูปแบบเครื่องจักสานเป็นบรรจุภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น นางปราณีเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องเครื่องจักสาน รูปแบบแปลกใหม่ให้กับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นายศิษฏิพงศ์ สุภิสิทธิ์ โชว์ผลงานแทงหยวก 

สกุลช่างแทงหยวก

งานแทงหยวก เป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ ซึ่งคนรุ่นใหม่บางคนไม่ทราบว่าการแทงหยวกนั้นหมายถึงงานชนิดใด รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ในอดีต มักใช้งานแทงหยวกสำหรับวางหีบศพ และใช้ในงานบุญต่างๆ เช่น นำหยวกไปประกอบโต๊ะหมู่บูชา ทำแท่นเบญจา ประกอบธรรมาสน์เทศน์ ประกอบบายศรี ทำแว่นเทียน และอื่นๆ อีกมากมาย

งานแทงหยวก นิยมใช้ต้นกล้วยตานีหรือน้ำว้าก็ได้ เลือกต้นที่ไม่ตกเครือ (กล้วยสาว) เพราะกาบจะอ่อน ไม่แตก ไม่กรอบ แทงง่าย หากเป็นกล้วยที่ออกเครือแล้ว ลำต้นจะกรอบ แข็งแทงยากแต่ทน ไม่เหี่ยวง่าย การดูแลรักษาเพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ดี หยวกเมื่อแทงประกอบแต่ละแผง ต้องรีบรดน้ำทันที มิฉะนั้นหยวกจะดำ เหี่ยวง่าย ถ้าใช้ผ้าเปียกคลุมจะดีมาก

แทงหยวก ลายฟันสาม

ผู้สนใจงานแทงหยวก ต้องเรียนรู้วิธีการจับมีดให้ถูกต้อง โดยจับส่วนด้ามมีดไว้ที่อุ้งมือ แล้วกำด้ามมีด ให้ปลายมีดปักลงบนกาบกล้วยในลักษณะใบมีดตั้ง 90 องศา แล้วแทงฉลุไปตามลายที่ต้องการ ซึ่งลายของหยวกที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่ ลายฟันปลา ลายฟันบัว ลายฟันสาม ลายฟันห้า ลายกระจังตาอ้อย ลายกระจังตารวน ลายน่องสิงห์ ลายอก ลายเสา ลายเกสรบัว

นายศิษฏิพงศ์ สุภิสิทธิ์ เรียนจบปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์บัณฑิต เอกเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา มีความสามารถพิเศษทางด้านวาดภาพและเขียนตัวอักษร นายศิษฏิพงศ์เริ่มเป็นช่างแทงหยวกเมื่อปี พ.ศ. 2558 เป็นวิทยากรร่วมกับทีมงานสกุลช่างแทงหยวกอ่างทอง ที่สถาบันอยุธยาศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นวิทยากรพิเศษศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) วิชาศิลปะการจักหยวก

นายชาญ สุทัพโต (คนหลังสุด) อบรมการขยายพันธุ์พืช 

เศรษฐกิจพอเพียง

นายชาญ สุทัพโต เป็นเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง เรียนจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก กศน.อำเภอเมืองอ่างทอง ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนสภาเกษตรของอำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำส้มควันไม้ การปลูกเห็ด การปลูกผักปลอดสารพิษ และได้ศึกษาเรียนรู้การทำไม้กวาดทางมะพร้าวจนมีความชำนาญ ผลิตสินค้าออกขายให้กับร้านค้าในชุมชนในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด

ทุกวันนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เสี่ยงเจอปัญหาสารเคมีตกค้างส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งตัวผู้ใช้และผู้บริโภค ดังนั้น การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ โดยไม่ใช้สารเคมี ทั้งยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฯลฯ จึงเป็นทางเลือกในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม เพราะเป็นการปลูกพืชโดยยึดหลักของธรรมชาติ ตั้งแต่การเตรียมแปลง การกำจัดวัชพืช การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช การปลูกพืชแบบผสมผสาน การปลูกพืชหมุนเวียน และการปลูกพืชสมุนไพรในแปลง ฯลฯ

ปัจจุบันนายชาญได้เป็นวิทยากรให้ความรู้การปลูกพืชปลอดสารพิษแก่ชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆ เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ สอนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพสูตรต่างๆ และการทำเกษตรอินทรีย์ สอนวิธีการใช้ปุ๋ย การทำแปลงผักปลอดสารพิษ การทำไม้กวาดก้านมะพร้าว และการทำไม้กวาดดอกหญ้า

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก ประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ เฟซบุ๊ก : กศน.อำเภอเมืองอ่างทอง สำนักงาน กศน.จังหวัดอ่างทอง