ศสกร.อำเภอ “อมก๋อย” หนุนปลูกกาแฟสร้างอาชีพ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยราษฎรพื้นที่สูง เนื่องจากป่าต้นน้ำลำธารถูกบุกรุกทำลาย ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร จึงพระราชทานโครงการพระราชดำริ “โครงการสร้างป่า สร้างรายได้” เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลําธารที่ถูกทําลายจนเสื่อมโทรมให้คืนสภาพป่าที่สมบูรณ์ มีทั้งไม้ป่าดั้งเดิมของท้องถิ่น ใช้หลักวิชาการกําหนดรูปแบบการปลูกลดหลั่นกันไปตามระดับชั้นเรือนยอด ที่มีสภาพใกล้เคียงป่าธรรมชาติ ในแปลงปลูกไม้ป่ายังส่งเสริมปลูกพืชเกษตร เช่น กาแฟ ชาอัสสัม กล้วย มะคาเดเมีย อะโวกาโด ฯลฯ เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ สกร. (ชื่อใหม่ของสำนักงาน กศน.) รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชน เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมสนับสนุนโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งสร้างจิตสํานึกให้ราษฎรเป็นผู้รักษาป่า สามารถยังชีพอยู่กับป่าอย่างกลมกลืนแบบมีส่วนร่วม เพื่อรักษาป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์มิให้ถูกทําลาย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

นักเรียนของ ศศช.บ้านห้วยปูหลวง

ศสกร.อำเภอ “อมก๋อย” 

ดอยมูเซอ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่แม่น้ำแม่ตื่นที่เป็นสายน้ำหลักของประชาชน 9 หมู่บ้านในพื้นที่ตำบลแม่ตื่น ตำบลอมก๋อย ตำบลยางเปียง (ชนเผ่ากะเหรี่ยง) และตำบลม่อนจอง (ชนเผ่ามูเซอ) หากมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณบ้านดอยมูเซอ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในบริเวณลุ่มน้ำแม่ตื่นอย่างกว้างขวาง

ในช่วงที่ผ่านมา อำเภออมก๋อยดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดอยมูเซอ โดยใช้กระบวนการประชาคม และการนำกลุ่มผู้นำทั้งทางจิตวิญญาณ และผู้นำหมู่บ้านไปศึกษาดูงาน ในพื้นที่ดอยช้าง ดอยวาวี จังหวัดเชียงราย รวมทั้งมอบหมายให้ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภออมก๋อย หรือ ศสกร.อำเภออมก๋อย (ชื่อใหม่ กศน.อำเภออมก๋อย) สังกัดสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่ประสานงานในพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน

เด็กนักเรียน ศศช.บ้านห้วยปูหลวง ที่ร่วมกิจกรรมปลูกกาแฟ

ศสกร.อำเภออมก๋อย สร้างองค์ความรู้เรื่องการปลูกกาแฟให้แก่ชาวเขา และปลูกจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่า พร้อมผลักดันให้เกิดการลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาปลูกไม้เศรษฐกิจทดแทน โดยเลือกกาแฟเป็นพืชนำ เพราะกาแฟเป็นพืชที่ต้องการร่มเงา ต้องการรับแสงแค่ร้อยละ 5% ศสกร.อำเภออมก๋อย ได้นำกลุ่มผู้นำชุมชนในหมู่บ้านไปทัศนศึกษาดูงานการปลูกกาแฟหลายแห่ง เช่น ดอยช้าง ตำบลวา อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านปางของ ตำบลห้วยชมพู อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ฯลฯ ปรากฏว่า โครงการส่งเสริมปลูกกาแฟในแปลงปลูกไม้ป่าประสบความสำเร็จ ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟเพิ่มขึ้น และลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (กะหล่ำปลี มะเขือเทศ) เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งอาชีพและรายได้

ศสกร.อำเภออมก๋อย ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มทํากิจกรรมลดรายจ่าย สร้างรายได้ จัดกระบวนการให้ราษฎรมีความรู้จัดการผลผลิตจากโครงการสอดคล้องกับตลาด และมีอาชีพเสริมที่ช่วยสร้างรายได้ในครัวเรือน ทำให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่าอย่างกลมกลืน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีที่ทํากินเป็นหลักแหล่ง ไม่รุกทําลายพื้นที่อื่นต่อไป

กาแฟต้นแรก ของหนู

ศศช.บ้านห้วยปูหลวง

บ้านห้วยปูหลวง หมู่ที่ 4 ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนเผ่ากะเหรี่ยง ปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) คุณระกา ฐิตถาวร ชาวบ้านชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ทำอาชีพเกษตร ปลูกข้าว ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างหาของป่า ความเป็นอยู่ค่อนข้างยากจน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการปลูกมะเขือเทศ กะหล่ำปลี โดยมีนายทุนให้การสนับสนุนและทำงานรับจ้างที่หน่วยจัดการต้นน้ำขุนแม่หาดหลังฤดูการเก็บเกี่ยว

คุณเสาวรักษ์ ศรีทนต์ ครูอาสาสมัคร กำลังสอนเด็กๆ ในห้องเรียน

ศศช.บ้านห้วยปูหลวง มีครู 2 คน แบ่งกันดูแลด้านการเรียนการสอน ภารกิจ ครู ศศช.บ้านห้วยปูหลวง ไม่ใช่งานเล็กๆ ต้องดูแลจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนและดูแลชุมชนไปพร้อมกัน เนื่องจากบ้านห้วยปูหลวง เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ในอดีตชาวบ้านถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดและพืชผักเลื่อนลอย พอมีโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ชาวบ้านเริ่มเห็นคุณค่าของป่า หวงแหนป่าต้นน้ำมากขึ้น

ศศช.บ้านห้วยปูหลวง ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนและชาวบ้านในชุมชนได้เรียนรู้การผลิตกาแฟแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การเก็บ การโม่ การตากเมล็ดกาแฟ จนถึงการจำหน่ายผลผลิตกาแฟ ตอบโจทย์ โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ต้องการให้คนอยู่กับป่าได้อย่างสมดุล สามารถสร้างรายได้จากป่า โดยไม่ทำลายป่า

เด็กๆ ได้เรียนรู้วิชาปลูกดูแลกาแฟ กับพ่อหลวงระกา

คุณระกาทำหน้าที่เป็นครูภูมิปัญญา สอนเด็กนักเรียน ศศช.บ้านห้วยปูหลวง ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน เรื่องการปลูกกาแฟ ร่วมกับไม้ป่าไม้ผลอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการปลูกกาแฟทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะเมล็ดกาแฟจนเป็นต้นกล้า วิธีการปลูกดูแล จนกระทั่งการเก็บเกี่ยวผลกาแฟ

ครู ศศช.บ้านห้วยปูหลวง จัดพื้นที่ว่างเปล่าส่วนหนึ่งในศูนย์ฯ จำลองเป็นพื้นที่ป่าให้เด็กนักเรียนจำนวน 60 คนได้ร่วมปลูกพืชผักและต้นกาแฟ เด็กๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะกล้ากาแฟ โดยเด็กนักเรียนทุกคนต้องปลูกต้นกาแฟของตัวเอง จำนวน 1 ต้น ดูแลพรวนดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย จนต้นกาแฟเติบโต เก็บผลผลิตได้ ครู ศศช. จะให้เงินเป็นค่าขนมเล็กๆ น้อย โดยตั้งเป้าหมายให้เด็กๆ ปลูกกาแฟปีละ 100 ต้น ทยอยปลูกเพิ่มไปเรื่อยๆ

Hany Poo Coffee ผลิตภัณฑ์กาแฟของ ศศช.บ้านห้วยปูหลวง

กาแฟแบรนด์ Hany Poo Coffee ของ ศศช.บ้านห้วยปูหลวง มีความพิเศษเพราะเกิดจากน้ำพักน้ำแรงและความใส่ใจของเด็กๆ ตั้งแต่การปลูกจนถึงขั้นตอนการแปรรูป จนเกิดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ระหว่างเรียน ความอร่อยของกาแฟฝีมือเด็กๆ เหล่านี้ก็ไม่น้อยหน้ากาแฟจากแหล่งอื่นๆ เลย

หากใครสนใจกิจกรรมการเรียนการสอน ของ ศศช.บ้านห้วยปูหลวง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่รายการ เรียนนอกรั้ว ตอน ติดตามโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ กาแฟดีที่ ศศช.บ้านห้วยปูหลวง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ คลิปวิดีโอ  https://www.youtube.com/watch?v=HSsrwWLmv_k

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก ศศช.บ้านห้วยปูหลวง ศสกร.อำเภออมก๋อย สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเชียงใหม่