ที่มา | เทคโนฯ อาชีวะ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
เมื่อเอ่ยถึงสิ่งประดิษฐ์ด้านอนุรักษ์พลังงาน หลายคนนึกถึง วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) ศรีสัชนาลัยเพราะมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ด้านอนุรักษ์พลังงานที่โดดเด่น คว้ารางวัลจากเวทีประกวดทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เช่น รถไถไฟฟ้าลดมลภาวะประหยัดพลังงาน ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับชาติ “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” ปี 2562 วีลแชร์ไฟฟ้าป้องกันโรคติดต่อควบคุมด้วยรีโมต ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติ จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โฟล์ค EV ศรีสัชนาลัย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับภาค จาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
สถานีชาร์จรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์
อีกหนึ่งผลงานเด่นของวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย คือ สถานีชาร์จรถสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ได้รับรางวัลเหรียญทองระดับชาติ ปี 2566 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และรางวัล The Best International Invention Award. จากประเทศฮ่องกง
นวัตกรรมดังกล่าว เป็นผลงานของนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย ประกอบด้วย นายพงศ์ธร แก้วมณี นายธนกฤต สอนขาว นายสารนาถ เพ็ญจันทร์ แล ะอาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่ อาจารย์ไพลรัตน์ ลำลี และ อาจารย์ชูเกษม ถิรพงศ์พันธ์
สถานีชาร์จรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ถูกพัฒนาขึ้นตามหลักการทำงานของโซลาเซลล์ คือ ผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อมีแสงแดดและผลิตไฟฟ้าออกมาในรูปแบบไฟฟ้ากระแสตรงจึงนำประโยชน์จากไฟฟ้ากระแสตรงนี้นำไปประจุลงแบตเตอรี่ได้เลย ทีมนักวิจัยได้นำหลักการนี้มาใช้ประโยชน์ในการชาร์จรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโดยสร้างชุดควบคุมไฟฟ้ากระแสตรงในรูปแบบการชาร์จแบบเร็ว
เนื่องจากรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน จะใช้ระบบการชาร์จแบบธรรมดาโดยอาศัยหม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดมากับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้านำมาชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้จากการไฟฟ้า ข้อเสียต้องใช้ระยะเวลาในการชาร์จนาน สถานีชาร์จรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า มีจุดเด่นที่เป็นประโยชน์ คือ ชาร์จเร็ว การตั้งสถานีชาร์จในสถานที่ที่ไม่จำเป็นต้องมีไฟฟ้าก็ได้ เพียงให้มีแสงแดด การตั้งสถานีชาร์จคุ้มค่ากับการลงทุนโดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียวทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานอย่างคุ้มค่า และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย
ความโดดเด่นของสิ่งประดิษฐ์
นวัตกรรมนี้ เป็นสิ่งประดิษฐ์สถานีชาร์จรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โดยอาศัยพลังงานสะอาดด้วยพลังงานจากแสงแดดมาผลิตไฟฟ้า คือโซลาร์เซลล์ โซลาร์เซลล์นี้จะผลิตไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งนำประโยชน์จากไฟฟ้ากระแสตรงนี้ประจุลงแบตเตอรี่ได้เลย จึงเป็นการลดขั้นตอนการแปลงไฟฟ้าจากไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้จากการไฟฟ้า เป็นการชาร์จแบบธรรมดา ข้อเสียต้องใช้ระยะเวลาในการชาร์จนาน ดังนั้น ผู้วิจัยจึงนำมาสร้างการประจุไฟฟ้าแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรงจากแสงแดด ประโยชน์หลัก ชาร์จเร็ว อีกทั้งยังตั้งสถานีชาร์จในสถานที่ที่ไม่มีไฟฟ้าก็ได้ ขอให้มีแสงแดดโดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียว ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานอย่างคุ้มค่า
คุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์
สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นการชาร์จประจุไฟฟ้าด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC) สามารถชาร์จประจุไฟฟ้าจาก 0-80% ได้ในเวลาประมาณ 20-60 นาที (ขึ้นอยู่กับปริมาณของแบตเตอรี่) ชาร์จประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่แบบลิเยมได้ทุกชนิด ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานสะอาดที่ใช้ประจุไฟฟ้า
กลุ่มเป้าหมายในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์
นวัตกรรมนี้ เหมาะสำหรับนำไปใช้งานในภาครัฐ โดยติดตั้งสถานีชาร์จรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในหน่วยงานราชการได้ ส่วนภาคเอกชนหรือภาคการผลิตก็สามารถติดตั้งสถานีชาร์จรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในหน่วยงานภาคเอกชน ห้างร้าน บริษัทต่างๆ ได้ หากนำไปใช้กับภาคประชาชน ภาคสังคมหรือชุมชน โดยติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในสถานที่ต่างๆ ให้กับประชาชนทั่วไปได้
ประโยชน์ของผลงานประดิษฐ์
นวัตกรรมนี้ สามารถติดตั้งจุดบริการสถานที่ใดก็ได้ที่มีแสงแดด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า เป็นการใช้พลังงานสะอาดจากแสงแดดผลิตเป็นไฟฟ้า เพื่อชาร์จให้กับพาหนะเคลื่อนที่ได้ โดยไม่ก่อมลภาวะในอากาศ เพราะใช้พลังงานสะอาด ด้วยแสงแดด สามารถผลิตไฟฟ้าแบบไฟฟ้ากระแสตรงได้ และสามารถชาร์จแบบเร็วได้ ประหยัดค่าใช้จ่าย การใช้พลังงานทดแทนอย่างคุ้มค่า
นอกจากนี้ อุปกรณ์ติดตั้งมีจำนวนน้อย ติดตั้งง่ายไม่ซับซ้อน สามารถดูแลรักษาโดยช่างทั่วไปได้ ขณะเดียวกัน สามารถต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์ใด้ ในการจัดตั้งสถานีชาร์จได้ คิดการบริการได้ สามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ให้เป็นระบบชาร์จขนาดใหญ่ เพื่อการชาร์จกับรถไฟฟ้าส่วนบุคคลได้
หากใครสนใจนวัตกรรมดังกล่าว สามารถแวะเยี่ยมชมผลงานได้ที่ วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย เลขที่ 362 หมู่ที่ 3 ถนนพัฒนาการ ตำบลสารจิตร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โทรศัพท์ 055-675-123
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก เฟซบุ๊ก : ไพลรัตน์ สำลี และ www.siec.ac.th