ไอเดียเจ๋ง ! สกัดสีเมล็ดเงาะ-ลูกจาก ใช้ย้อมสีผ้าบาติก-ผ้ามัดย้อม

อาชีพการทำผ้าบาติกและผ้ามัดย้อม เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎธานีได้เป็นอย่างดี มีการพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้  

แต่กระบวนการผลิตผ้าบาติกมีการใช้ทั้งสารเคมีที่ใช้เป็นสารกั้นสีและใช้ในการระบายสี ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนผลิตมีราคาสูง สารกั้นสีเป็นองค์ประกอบหลักสำคัญของการผลิตผ้าบาติก สารกั้นสีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ น้ำเทียน ซึ่งได้มาจากการผสมของพาราฟินและขี้ผึ้ง เป็นองค์ประกอบหลัก สารกั้นสีที่ได้จากเทียนต้องใช้ความร้อนในการทำละลายก่อนที่จะนำไปใช้

จากงานวิจัยพบว่า เทียนและเทียนหอม ที่ทำขึ้นจากพาราฟินหรือขี้ผึ้งที่เป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมนั้น มีสารที่ก่ออันตรายกับมนุษย์ได้ ในการใช้น้ำเทียนเป็นสารกั้นสี ต้องใช้น้ำสะอาดปริมาณมากในการซักล้าง อีกทั้งต้องผ่านกระบวนการต้มเพื่อขจัดเทียนออก ซึ่งจะมีคราบไขมันลอยจับผิวน้ำ และมีกลิ่นเหม็น จากนั้นก็จะระบายสีตามที่ได้ออกแบบไว้ โดยสีที่ใช้ในการผลิต ผ้าบาติกต้องใช้เป็นสีรีแอคทีฟย้อมเย็นเป็นสีสังเคราะห์ ที่สามารถทำปฏิกิริยากับผ้าเซลลูโลสได้ดีที่อุณหภูมิห้อง เมื่อนำไปซักล้างทำความสะอาด จะปล่อยน้ำเสียที่มีสารเคมี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้บริหารอาชีวศึกษาร่วมชื่นชมผลงาน 

คิดค้นวิธีย้อมสีธรรมชาติ ทดแทนการใช้สารเคมี

นางสาวจิราภรณ์ สุดสิน ครูพิเศษสอน แผนกวิจิตรศิลป์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดในการผลิตผ้าบาติก ใช้สารกั้นสีจากแป้งเมล็ดเงาะ ทดแทนสารกั้นสีจากน้ำเทียน และสกัดสีจากเปลือกลูกจาก มาใช้เป็นสีระบายทดแทนสีจากสารเคมี เพื่อลดการปล่อยน้ำเสียที่มีสารเคมีสู่สิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลพิษทางน้ำ เป็นนวัตกรรมทางเลือกหนึ่งที่นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกที่เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่าให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้

ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย “ลายผ้าศรีพุนพิน”

ผลการศึกษาพบว่า สูตรสารกั้นสีที่เหมาะสมจากแป้งเมล็ดเงาะ สำหรับใช้ทำผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกสีธรรมชาติ มีส่วนผสมประกอบด้วย แป้งเมล็ดงาะ ต่อ กาวกระถิน ต่อ น้ำยางพารา ต่อ เจลาติน ต่อ น้ำ เท่ากับ 25 : 35 : 2 : 5 : 200 โดยความคมชัดของเส้น มีความคมชัดสม่ำเสมอ เมื่อแห้งไม่เปราะ แตกง่าย ขนาดเส้นเหมาะสม ไม่หนาหรือบางเกินไป

โชว์ผลงานในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ

สำหรับสูตรที่เหมาะสมในการใช้สีย้อมจากเปลือกลูกจากในการจัดทำผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก มีส่วนผสมประกอบด้วย เปลือกลูกจาก ต่อ น้ำ ต่อ เกลือ เท่ากับ 20 กิโลกรัม : 20 ลิตร : 200 กรัม เนื่องจากสีไม่เป็นตะกอนสามารถทำน้ำหนักได้หลายน้ำหนักสี เมื่อผู้วิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการจัดทำผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติสีลูกจาก สู่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากใจผ้ามัดย้อม ชุมชนสามารถดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติสีลูกจากได้ด้วยตนเอง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเชิงพาณิชย์

นักเรียนสนใจร่วมกิจกรรมย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ

คิดค้นลายผ้า “ศรีพุนพิน” อัตลักษณ์ประจำถิ่นสุราษฎร์ธานี

จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในพุทธศตวรรษที่ 13 ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี ได้แก่ เมืองเวียงสระ เมืองคีรีรัฐนิคม และอำเภอพุนพิน เป็นส่วนหนึ่งที่มีมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งตำบลศรีวิชัย ตำบลหัวเตย และตำบลพุนพิน เดิมเป็นชุมชนโบราณเป็นแหล่งสะสมทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของชาติตามพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นและการรณรงค์ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งถือว่าเป็นการสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของชาติ อนุรักษ์ฟื้นฟูผ้าทอชนิดต่างๆ ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ตลอดจนทรงส่งเสริมการผลิตการแปรรูป และจำหน่ายผ้าไทย ทำให้ประชาชนและชุมชนมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ยกระดับผ้าไทยสู่สากล ภายใต้วิสัยทัศน์ “วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน”

ลงพื้นที่สอนชาวบ้านเรียนรู้นวัตกรรม

นางชนัญญา สุวรรณวงศ์ ครูเชี่ยวชาญ แผนกวิชาวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี จึงได้ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอสีย้อมจากธรรมชาติ ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยอาชีวศึกษา สู่การใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชน ใช้สีย้อมจากเปลือกไม้เคี่ยมอัตลักษณ์ประจำถิ่นตั้งแต่การพัฒนาสีย้อม และนำภูมิวัฒนธรรรมดั้งเดิมมาออกแบบลวดลายสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย “ลายผ้าศรีพุนพิน” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดต่อยอดการเผยแผร่อัตลักษณ์ท้องถิ่น ส่งเสริมรายได้สู่ชุมชนจำนวน 3 ลวดลาย ได้แก่ ลายศรีจักร ลายศรีนารายณ์ ลายศรีพ่านพ่าน ที่มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

แม่พิมพ์ลวดลายผ้าศรีพุนพิน

“ลายศรีจักร” ได้นำอัตลักษณ์ภูมิวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของโบราณวัตถุจักรสัมฤทธิ์ที่ตำบลศรีวิชัยนำมาพัฒนาเป็นอัตลักษณ์ ต้นแบบแนวคิดลวดลาย “ศรีจักร” นอกจากนี้ ได้นำอัตลักษณ์ภูมิวัฒนธรรม จากสิ่งที่หลงเหลืออยู่จากเขาศรีวิชัย โบราณวัตถุ จักรสัมฤทธิ์รวมกับจุดเด่นของเทวรูปพระนารายณ์จึงนำมาพัฒนาเป็นลวดลายร่วมสมัยชื่อ “ลายศรีนารายณ์” ขณะเดียวกัน ได้นำอัตลักษณ์ภูมิวัฒนรรรมในอำเภอพุนพิน ได้แก่ ตำบลพุนพิน ตำบลหัวเตย และตำบลศรีวิชัยคนจีนในสมัยโบราณมักเรียกพุนพิน ว่า “ผ่านพ่าน” จึงใช้ชื่อลวดลายว่า “ศรีพ่านพ่าน”

โชว์การย้อมสีผ้าด้วยแม่พิมพ์ไม้

นางชนัญญานำคณะครูและนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับผ้ายกลายประจำถิ่น ลายศรีนารายณ์ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม คัดเลือกให้ โรงทอผ้าศรีวิชัย-ทับเที่ยง เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ประจำปี 2566 ภายใต้ชื่อ ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอมืออาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งได้จัดโครงการ เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไทย

โครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักวิจัย ได้แก่ ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์ณัฐชนา นวลยัง อาจารย์นภทชนก ขวัญสง่า อาจารย์ประจำหลักสูตร สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ และทีมงาน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา มาร่วมพัฒนางานมัดย้อม งานบาติก เทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อให้กลุ่มชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ได้นำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดต่อไป

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก เว็บไซต์วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)