ขิง สมุนไพรมากคุณค่า

ขิง เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นพืชในตระกูลเดียวกับข่าและกระชาย มีลำต้นใต้ดินสะสมอาหาร มีลักษณะคล้ายนิ้วมือ เรียกว่า “แง่งขิง”

หากยังคิดไม่ออกว่าจะปลูกสมุนไพรอะไรในบ้าน ผู้เขียนขอแนะนำให้ปลูกขิง เพราะเป็นพืชที่มีคุณค่ามากมาย ขิงชอบดินร่วนปนทราย ไม่มีน้ำขัง แต่ชอบความชุ่มชื้น เวลาปลูกจึงต้องหมั่นรดน้ำ การขยายพันธุ์ก็ใช้แง่งขิง โดยทาปูนบริเวณรอยแผล ทิ้งไว้ให้แห้ง 2-3 วัน จึงนำไปปลูก ขิงที่ใช้บริโภคมีทั้งขิงอ่อนและขิงแก่ ขิงอ่อนนำมาปรุงกับข้าวและแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ ส่วนขิงแก่ อายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป จึงจะนำมาใช้เป็นยาได้

ขิง เป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลาย ทั้งในแง่ของเครื่องเทศ อาหารทั้งคาวและหวาน และการใช้เป็นยาทั้งภายในและภายนอก ในแง่ของประโยชน์ทางอาหาร ขิงสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เป็นที่ทราบกันดีว่า ขิงใช้สำหรับปรุงอาหารให้กับมารดาที่ให้นมบุตร อาทิ ไก่ผัดขิง ปลานึ่งบ๊วยใส่ขิง ต้มไข่หวานใส่ขิง เพราะขิงเป็นตัวชูรสให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อมและกลิ่นหอม นอกจากนั้น ขิงยังสามารถนำมาแปรรูปเพื่อให้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น เช่น ขิงดอง ขิงแช่อิ่ม ขิงผง

จากการวิจัยในห้องปฏิบัติการพบว่า ในเหง้าของขิงแก่ มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำ (Water distillation) ในน้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วยสารสำคัญ คือ ซิงจิเบอรีน (Zingiberene), ซิงจิเบอรอล (Zingiberol), ไบซาโบลี (Bisabolene) และแคมฟีน (Camphene) แต่หากสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ จะได้น้ำมันเหนียวๆ หรือน้ำมันชัน ที่เรียกว่า Oleo-resin ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุน และมีรสเผ็ด ซึ่งมีสารสำคัญ ได้แก่ จินเจอรอล (Gingerol), โชกาออล (Shogaol), ซิงเจอโรน (Zingerine)

ในทางยาไทย ขิงมีรสหวานและเผ็ดร้อน จึงมีสรรพคุณในการแก้ลมจุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน และตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้อนุญาตให้มีการผลิตยาแคปซูลขิง และเป็นยาที่ระบุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย โดยระบุสรรพคุณในการใช้แก้อาเจียน แต่จริงๆ แล้วในต่างประเทศมีการใช้ขิงเป็นยาอย่างกว้างขวาง

ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี ไม่ควรรับประทานขิง และการรับประทานน้ำขิงที่เข้มข้นเกินไปจะลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้ท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย และการใช้น้ำสกัดจากขิงที่เข้มข้นมากๆ จะให้ผลตรงข้าม คือ จะไประงับการบีบตัวของลำไส้จนทำให้ลำไส้หยุดบีบตัว ดังนั้น ใครที่รับประทานขิงแล้วรู้สึกท้องอืดแน่นเฟ้อ ก็อาจจะเนื่องจากรับประทานมากเกินไป ต้องอยู่บนความพอดีถึงจะปลอดภัย

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มีการรายงานถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของขิง ว่าขิงจะเพิ่มภูมิต้านทาน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดการอักเสบของโรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ ลดการปวดกล้ามเนื้อ เอ็นและข้ออักเสบ การเจ็บคอ ตะคริว ท้องผูก ระบบการย่อย อาเจียน ความดันโลหิตสูง และความจำเสื่อม รวมถึงผลในการต้านอนุมูลอิสระและสารก่อมะเร็ง ซึ่งผลในการป้องกันมะเร็งเกิดจากสารประกอบในขิง ได้แก่ จินเจอรอล โชกาออล และซิงเจอโรน

ในด้านการต้านการอักเสบ พบว่า ขิงมีผลในการยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน ซึ่งออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้ปวดในกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า NSAIDs แต่จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้ยา NSAIDs มีการศึกษาในผู้ป่วยข้อเข่าอักเสบ จำนวน 29 คน (ผู้ชาย 6 คน และผู้หญิง 3 คน) ในเวลา 6 เดือน กลุ่มแรกได้รับขิง 3 เวลาหลังอาหาร (ผงขิงแห้ง 250 มิลลิกรัม ต่อแคปซูล) และกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอกที่เป็นแคปซูลคล้ายกัน แต่ไม่มีขิงผสมอยู่ เมื่อสิ้นสุดการรักษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับขิงสามารถลดอาการปวดและเพิ่มการเคลื่อนไหวข้อได้ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนการศึกษาฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ถึงแม้ยังไม่มีการศึกษาในคน แต่มีการศึกษาในหลอดทดลองและในหนูทดลอง พบว่าน้ำมันหอมระเหยในขิงสามารถออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ สามารถนำไปใช้ในโรคหลายชนิด เช่น การเกิดการอักเสบเรื้อรังและโรคต้านภูมิคุ้มกันตนเอง

นอกจากนั้น ในประเทศสวีเดน ให้ความสนใจขิงในการรักษาโรคหัวใจ โดยมีการอ้างอิงจากสรรพคุณในการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการแข็งตัวของหลอดเลือด และการลดความดันโลหิตและไขมันในเลือด ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในห้องทดลองและสัตว์ทดลอง ส่วนการศึกษาในมนุษย์มีจำนวนน้อย โดยขนาดที่ให้ผลในการต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดเท่ากับ 5 กรัม หรือมากกว่า

ขิงยังสามารถป้องกันภาวะตับเป็นพิษได้ มีการศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันตับอักเสบจากการรับประทานยาพาราเซตามอลของขิงในหนู พบว่าสารสกัดขิงสามารถป้องกันภาวะเป็นพิษของตับ ส่วนการป้องกันพิษที่ตับจากการดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้ขิงก็ให้ผลอย่างเดียวกัน

การศึกษาผลของขิงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือเบาหวาน โดยใช้สารสกัดของขิงดิบที่มีขนาด 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม โดยการฉีดที่ผนังหน้าท้องเป็นเวลา 7 สัปดาห์ในหนูที่เป็นเบาหวาน จากการได้รับสเตรปโตโซโทซิน ซึ่งเป็นสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวาน พบว่าขิงสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอลและระดับไตรกลีเซอไรด์ โดยเทียบกับหนูในกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวานเช่นกัน นอกจากนั้น สารสกัดขิงยังสามารถลดระดับของโปรตีนในปัสสาวะ และสามารถรักษาน้ำหนักของร่างกายให้คงที่ตลอดช่วงการทดลองด้วย

ขอบคุณข้อมูล จาก ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ในอภัยภูเบศรสาร ฉบับที่ 68-69