เปิดเส้นทางยกระดับคุณภาพชีวิต “บ้านนาเชือก” สู่ผลิตภัณฑ์ Unseen Thailand ย้อมผ้าด้วย “ขี้ควาย”

อาจจะเคยได้ยินผ่านหูกับชื่อ “บ้านนาเชือก” ด้วยความโดดเด่นในมุมของหมู่บ้านที่มีแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง มีความสามัคคี มีความร่วมมือภายในชุมชน มีองค์ความรู้ที่สามารถส่งเสริมพัฒนาอาชีพการทำผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมมูลควาย จนมีชื่อเสียง และได้รับคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ Unseen Thailand ในปี 2556 ทั้งยังเป็นหมู่บ้านที่มีแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยยังดำรงไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมเดิม

ความสำเร็จในแต่ละกิจกรรม ไม่ได้มีมาแต่การก่อตั้งหมู่บ้าน แต่เพราะมีการปรับตัวของชุมชน ความร่วมมือที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ส่งผลให้สภาพของหมู่บ้านเปลี่ยนจากสภาพติดลบขึ้นมาบวกถึงขีดสุด สิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง คือ ระหว่างการปรับเปลี่ยนบ้านนาเชือกมีการพัฒนาอย่างไร

ผศ.ดร.สุดารัตน์ สกุลคู อาจารย์สาขาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร หัวหน้าโครงการหมู่บ้านราชมงคล (บ้านนาเชือก) กล่าวย้อนถึงบ้านนาเชือกในอดีตให้ฟังว่า บ้านนาเชือก ตั้งอยู่ที่ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากอำเภอพังโคน 26 กิโลเมตร ติดกับลำน้ำอูน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ (วัว ควาย) เพราะที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นที่ราบสูง หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็ไม่สามารถทำนาได้ เพราะไม่มีน้ำ แต่ถ้าฝนตกชุกก็จะประสบภาวะน้ำท่วม ทำให้หนุ่มสาวในหมู่บ้านทิ้งภูมิลำเนาไปทำงานยังถิ่นอื่น

ผศ.ดร.สุดารัตน์ สกุลคู
ผศ.ดร.สุดารัตน์ สกุลคู

ปัญหาที่ชาวบ้านบ้านนาเชือกประสบ เป็นตัวบั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชนลง แม้ว่าชาวบ้านที่เหลืออยู่จะยังพยายามคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น และความบั่นทอนดังกล่าวก็เป็นตัวฉุดให้ความเข้มแข็งที่ควรยั่งยืนของชุมชนลดถอยลง

พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาภิญโญภิกขุ ได้เข้ามาหาข้อมูลที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร และได้เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการสร้างอาชีพให้กับชุมชนบ้านนาเชือก ซึ่งเดิมชุมชนมีอาชีพเสริมคือ การทอผ้าและย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ มีการย้อมผ้าด้วย “ขี้ควาย” ซึ่งมีสีสันแปลกตา น่าสนใจ แต่ยังขาดทักษะการย้อมผ้าให้มีสีที่สม่ำเสมอ จากวันนั้น ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร จึงมีแนวคิดเดินหน้าเข้าช่วยพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยการกำหนดแผนพัฒนาหมู่บ้าน มีกระบวนการยกระดับชุมชนแบบมีส่วนร่วมตามกระบวนทรรศน์การพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”

ระยะเวลาเพียง 5 ปี ชุมชนบ้านนาเชือกเกิดการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ ทราบความต้องการที่แท้จริงของตนเอง โดยได้มองเห็นความสำคัญที่ความสุขของคนในชุมชนเป็นหลัก และได้กำหนดตำแหน่งของตนเองเป็น “ชุมชนพอเพียง” มุ่งที่จะพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานของสิ่งที่มีอยู่จากความเป็นตัวตนของชุมชน สร้างสรรค์งานจากชุมชน ให้มีความสุข พออยู่ พอกิน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นกาวเชื่อมโยงชุมชนให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

ภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่แปรเป็นอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านบ้านนาเชือก จากเดิมที่ขาดทักษะในการย้อมผ้าด้วย “ขี้ควาย” ให้มีความสม่ำเสมอ ปัจจุบันเราเรียกว่า “ผ้าย้อมมูลควาย” มีความพิเศษจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้และเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้บ้านนาเชือกเป็นที่รู้จัก

คุณสายสุณี ไชยหงษา
คุณสายสุณี ไชยหงษา

คุณสายสุณี ไชยหงษา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านนาเชือก ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ (ผ้าย้อมมูลควาย) เล่าให้ฟังว่า อาชีพของชาวบ้านที่นี่คือทำการเกษตรเป็นหลัก ได้แก่ ทำนา ทำสวน และทำไร่ ในอดีตชาวบ้านแต่ละหลังคาเรือนต่างคนต่างอยู่ ปัญหาที่พบคือ มีที่ทำกินน้อย ขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้ผลผลิต อีกทั้งชาวบ้านขาดความรู้ด้านเกษตรกรรม ทำให้เกิดความลำบากยากแค้น คนในหมู่บ้านจึงต้องอพยพออกไปทำงานต่างถิ่น เหลือแต่ผู้สูงอายุ ผู้หญิงที่มีลูกเล็ก

ต่อมาในปี 2522 จึงหารือกับกลุ่มแม่บ้าน จำนวน 12 คน ว่าควรหากิจกรรมทำหลังเสร็จสิ้นงานประจำ เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว แต่เนื่องจากทุกคนขาดความรู้ จึงเข้าไปขอคำแนะนำอาชีพจาก พระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาภิญโญภิกขุ แห่งวัดป่าภูมิธนารักษ์ธรรมาราม ท่านบอกว่า ถ้าทุกคนมีความสามารถด้านการทอผ้า ก็ควรนำผ้าไปย้อมด้วยมูลควาย เนื่องจากเป็นการย้อมแบบธรรมชาติ

“ตอนนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริงหรือ แต่ก็ลองทำ ลองผิดลองถูก แก้ไขปรับปรุงมาเรื่อย จนปี 2555 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 5 ดาว จนกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ได้รับความกรุณาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ให้ความรู้และข้อมูลด้านการย้อมผ้าและการออกแบบผลิตภัณฑ์”

แม้ว่าผ้าย้อมมูลควายจะเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อระดับ 5 ดาวของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แต่ชาวบ้านที่เริ่มจากการลองผิดลองถูก ก็ยังขาดความมั่นใจ กระทั่งมีคนภายนอกเข้ามาดูงานภายในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของผ้าย้อมมูลควาย หันมาสนใจเรียนรู้มากขึ้น เกิดการตื่นตัวและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

5

ผ้าย้อมมูลควาย จึงถือเป็นลำดับต้นๆ ของการพัฒนาหมู่บ้าน ที่ทำให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัวเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้น เช่น กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มเลี้ยงกบ กลุ่มเลี้ยงไก่ เพราะมองว่าสามารถสร้างรายได้จริงจากคนภายนอกที่เข้ามาดูงานแล้วซื้อกลับออกไป

ผศ.ดร.สุดารัตน์ บอกว่า เมื่อชาวบ้านเริ่มรู้ว่า ชุมชนเองมีภูมิปัญญาที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตมีความโดดเด่น ก็เริ่มมั่นใจและเริ่มหยิบจับนำสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของตนเองออกมาใช้ เพื่อสร้างรายได้ ในมุมหนึ่งคืออนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไว้ และอีกมุมคือการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและครอบครัวตนเอง เช่น การใช้ภูมิปัญญาด้านแพทย์พื้นบ้านนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาอาการต่างๆ ส่วนด้านการปศุสัตว์ ก็ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ดำ โดยมีการก่อตั้งกลุ่มขึ้น เดินทางไปศึกษาดูงานยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยืมพันธุ์ไก่ดำมาจำนวน 16 ตัว เพื่อขยายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันได้แจกจ่ายให้กับสมาชิกนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ต่อไป

“นอกเหนือจากกลุ่มอาชีพที่ชุมชนเริ่มเข้าใจ และก่อตั้งขึ้นตามความเข้มแข็งของชุมชนหลายกลุ่มแล้ว ยังรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น โครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ โครงการบ้านเรือนสวยงาม ซึ่งทุกโครงการมีเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน หรือเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน”

ผศ.ดร.สุดารัตน์ ยกตัวอย่างสวัสดิการชุมชน ที่ชุมชนมีส่วนร่วมและสร้างกติการ่วมกัน คือ กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเริ่มก่อตั้งในปี 2544 มีจำนวนสมาชิก 181 คน รายได้ของกลุ่มได้จากดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยฝากธนาคาร มีเงินหมุนเวียน 1,200,000 บาท ต่อปี สมาชิกในกลุ่มสามารถกู้ได้สูงสุด รายละ 25,000 บาท ต่อคน การชำระหนี้จะชำระหนี้และปันผลทุกเดือน ซึ่งการปันผลจะจ่ายในรูปของสวัสดิการ โดยแบ่งเฉลี่ยตามจำนวนหุ้น หรือกองทุนเยาวชน ซึ่งเป็นกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลป้องกันและแก้ปัญหาด้านยาเสพติด นำงบประมาณก้อนแรกมาสร้างสนามกีฬา เมื่อเหลืองบประมาณจึงนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเยาวชน เป็นต้น

ปัจจุบันบ้านนาเชือก ไม่แค่มีผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักแค่ผ้าย้อมมูลควาย แต่การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ การจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นภายในชุมชน สร้างความเข้มแข็งได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรียกความเชื่อมั่นหมู่บ้านกลับคืนมา หนุ่มสาวที่เคยย้ายถิ่นไปต่างกลับเข้ามาทำมาหากินในหมู่บ้านอย่างอบอุ่น

9

ด้วยสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางธรรมชาติที่เอื้อให้บ้านนาเชือกมีความสวยงาม ทำให้ชุมชนมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันในการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เปิดให้มีการตั้งเต็นท์พักแรม และพักกับชาวบ้านในรูปแบบโฮมสเตย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา ทำกิจกรรมร่วมกันกับชาวบ้านกระจายไปทั่วทุกหลังคาเรือน

8

“อยากให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบแคมปิ้ง ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน พร้อมกับได้รู้จักกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในหมู่บ้าน เช่น วัดเก่า เกาะควาย (การเลี้ยงควายบนเกาะ) ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถตั้งเต็นท์พักได้ที่บริเวณสันเขื่อน เพื่อชมความสวยงาม สัมผัสธรรมชาติ และอากาศบริสุทธิ์” คุณสายสุณี กล่าว

ทั้งนี้ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านนาเชือก ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) เป็นโครงการน้องใหม่ล่าสุด ที่ชุมชนบ้านนาเชือกพร้อมใจดำเนินโครงการ และเชื่อว่าความเข้มแข็งของชุมชนจะสามารถนำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวบ้านนาเชือกไปในทิศทางที่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน