ที่มา | ประชาชาติธุรกิจ |
---|---|
เผยแพร่ |
ราคาข้าวหอมมะลิปี’62/63 ดีดขึ้นตันละ 3,000 บาท ข้าวเปลือกตันละ 19,000 บาท ข้าวสารตันละ 36,000 บาท หลังวิกฤตน้ำท่วมทับแล้งอีสาน คาดผลผลิตข้าวเปลือกมะลิวูบ30-40% หากน้ำยังสูงเกี่ยวยากผลผลิตออกล่าช้าครึ่งเดือน แถมข้าวป่นไม่สมบูรณ์
หลังจากเกิดภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อช่วงกรกฎาคม สร้างความเสียหายในพื้นที่ปลูกข้าวหลายจังหวัด เช่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น แต่ยังไม่ทันจะชดเชยความเสียหายก็เกิดวิกฤตน้ำท่วมอย่างรุนแรงในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนแต่เป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการปลูกข้าวหอมมะลินาปี 2562/2563 และพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวโดยเบื้องต้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางจังหวัดอุบลราชธานีประเมินความเสียหายพื้นที่ปลูกข้าว 4 แสนกว่าไร่
แหล่งข่าวจากกลุ่มโรงสีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า เดิมจากภาวะภัยแล้งคาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกจะเสียหาย 20% เพราะมีบางส่วนที่ยืนต้นเหลืองจะตายแต่ฝนตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้ประเมินผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมยากเพราะปริมาณน้ำที่ท่วมสูง และตัดขาดเส้นทางคมนาคมในหลายจังหวัด ทำให้การติดตามสถานการณ์เป็นไปอย่างล่าช้าหากปริมาณน้ำที่ยังท่วมขังในนาจะกระทบการเก็บเกี่ยว รถเกี่ยวไม่สามารถลงนาได้ ทำให้ผลผลิตออกมาล่าช้าออกไปจากปกติที่จะเริ่มเกี่ยวในช่วงกลางเดือนตุลาคมเป็นพฤศจิกายน และความสมบูรณ์ของเมล็ดข้าวจะลดลงจากภาวะอากาศที่แปรปรวน ถึงแม้ว่าเกี่ยวได้แต่จะทำให้สีออกมาเป็นข้าวสารเต็มเมล็ดได้น้อย
ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกในพื้นที่จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามราคาของสมาคมโรงสีข้าวไทย มีบางจังหวัดปรับขึ้นไปสูงสุดตันละ 19,000 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 16,000 บาท ขณะที่ราคาต้นทุนข้าวสารจากโรงสีก็ขยับขึ้นเป็นตันละ 36,000 บาท จากปีก่อนราคาตันละ 33,000-34,000 บาท หรือปรับขึ้นประมาณ 10% ทำให้ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิในปีนี้ขยับสูงขึ้นไปเกินตันละ 1,300 เหรียญสหรัฐ
“แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศนโยบายประกันรายได้ และยืนยันว่า เกษตรกรจะใช้ประโยชน์ได้นับตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.นี้ แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกรคงไม่ได้ประโยชน์จากโครงการ เพราะราคาข้าวในตลาดสูงเกินกว่าราคาอ้างอิงที่รัฐบาลประกาศประกันออกมา เมื่อนำข้าวไปขายไม่มีส่วนต่างราคาก็ไม่ได้เงินประกัน แต่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมอาจจะได้เงินชดเชยน้ำท่วมซึ่งไม่ได้มากนัก”
อนึ่ง สำหรับการจ่ายชดเชยน้ำท่วมนั้นที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นัดพิเศษที่มีนายอุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเห็นชอบรายละเอียดโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 แล้ว ทำให้ธนาคารสามารถเริ่มทยอยจ่ายเงินช่วยค่าปลูกข้าวไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ แก่ชาวนาที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปีกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.3 ล้านราย วงเงินช่วยเหลือ 24,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวไทยปรับสูงถึงตันละ 1,300 เหรียญสหรัฐ ทำให้คู่ค้าไม่สามารถยอมรับราคาได้ เพราะราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง เป็นระดับที่ทรงตัวสูงต่อเนื่อง จากบาทแข็งค่าเรื้อรังทำให้การแข่งขันลำบาก
นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิเท่าที่ประเมินจากพื้นที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 30-40% จากทั้งภัยแล้งก่อนหน้านี้ ต่อด้วยภาวะน้ำท่วม ซึ่งระดับราคามีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่ทางผู้ส่งออกก็ลำบากเพราะราคาส่งออกที่สูงมาก ๆ ถึงตันละ 1,300 เหรียญสหรัฐ ทำให้ขายลำบาก ลูกค้าหันไปซื้อเพื่อนบ้านที่ราคาถูกกว่า
ขณะที่ตลาดข้าวถุงในประเทศขณะนี้ยังไม่มีการปรับราคาตามต้นทุนใหม่ เพราะเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า แต่หากสต๊อกลอตนี้หมดก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับราคา สำหรับข้าวเหนียวขณะนี้ปรับลดลงแล้ว หลังจากกรมการค้าภายในได้จัดทำและกระจายข้าวถุงออกในหลาย ๆ จังหวัด
อีกด้านหนึ่งนายบู๊เฮียง รุ่งรัชกานนท์ เจ้าของ หจก.โรงสีข้าวเอกไพบูลย์ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ประมาณ 4 แสนไร่ คิดเป็น 10% ของพื้นที่ปลูกในจังหวัดอุบลฯ ซึ่งมี 4 ล้านไร่โดยแบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 3 ล้านไร่ ข้าวเหนียว 1 ล้านไร่ แต่ยังคงประเมินว่าฝนที่ตกลงมามากจะส่งผลดีกับนาในพื้นที่ดอน ทำให้ความเสียหายจากเดิมที่เคยคาดว่าจะเสียหาย 30% ลดลงเหลือ 15% หรือข้าวในนาดอนจะดีกว่าปกติ
หากถามว่าราคาข้าวเปลือกและข้าวสารหอมมะลิปรับขึ้นหรือไม่ ตอบได้ว่าราคาปรับขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีแล้วจนถึงขณะนี้อยู่ที่ตันละ 36,000 บาท แต่จะทรงตัวสูงต่อไปหรือไม่ต้องรอผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดปลายเดือนตุลาคมนี้
“สิ่งที่เรากังวลคือ ข้าวออกมามากกว่าปกติ แต่ราคาส่งออกเราสูง เพราะบาทแข็งทำให้แข่งขันไม่ได้ส่งออกไม่ได้ ก็จะกระทบต่อภาพรวม”
สำหรับการใช้นโยบายประกันรายได้มาช่วยเกษตรกรอาจจะไม่ครอบคลุมและไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรเพราะราคาข้าวในตลาดสูง ดังนั้นรัฐบาลควรหามาตรการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มาเสริมให้เกษตรกรด้วย
ขณะที่ ดร.ระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ราคาข้าวถุงว่ายังประเมินได้ยากว่าผลผลิตจะเสียหายจากภัยแล้งและน้ำท่วมมากน้อยเพียงใด จะต้องรอไปจนถึงเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งเบื้องต้นคาดการณ์ว่าน่าจะเสียหายไม่ถึง 15-20%
“ระดับราคาข้าวสารที่ใช้ในการผลิตข้าวถุงปัจจุบันยังรับซื้อที่ตันละ 32,000-33,000 บาท ไม่ได้ปรับขึ้น และราคาจำหน่ายเฉลี่ยข้าวหอมมะลิบรรจุถุงขนาด 5 กก.อยู่ที่ถุงละ 200-250 บาท หากอนาคตต้นทุนขยับสูงก็ขึ้น จะมีปรับราคาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละรายว่าจะแบกรับต้นทุนได้นานเท่าไรหรือจะปรับราคาขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่คงไม่การปรับขึ้นทันที ส่วนใหญ่จำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดก็ต้องแจ้งราคาล่วงหน้าประมาณ 15 วัน แต่ส่วนที่จำหน่ายในตลาดปกติหรือร้านโชห่วยสามารถขึ้นได้ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า”
นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงตราข้าวมาบุญครอง กล่าวว่า อาจต้องรอผลผลิตออกในช่วงปลายตุลาคมจึงจะประเมินได้อีกครั้งว่าผลผลิตลดลงจากภัยแล้งและน้ำท่วมมากน้อยเพียงใด และส่งผลกระทบกับต้นทุนมากน้อยแค่ไหน
แต่สถานการณ์ราคาข้าวสารล่าสุดในตลาดปรับขึ้นมาตันละ 36,000 บาท สูงกว่าช่วงต้นปีที่ราคาตันละ 32,000 บาท แต่ทางผู้ประกอบการก็ได้มีการซื้อสต็อกจำนวนหนึ่งและถัวเฉลี่ยราคา ทำให้ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ตันละ 34,000-35,000 บาท ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการปรับฐานราคา เราคงไม่เห็นต้นทุน 32,000-33,000 บาทแล้ว
“ส่วนราคาขายข้าวถุง 5 กก. มาบุญครองยังคงราคาถุงราคา 200-260 บาท ขึ้นอยู่กับช่องทางการจำหน่าย เช่น หากเป็นการจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดก็จะสูงกว่าตลาดปกติ ซึ่งเรายังแบกรับราคานี้ไประยะหนึ่งรอผลผลิตออก และยังมีการทำสัญญาและจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับห้างขายล่วงหน้า2-3 เดือน”