กทม. ปัก ‘ไม้ไผ่’ ทำ ‘ที-กรอยน์’ 3 เดือน แผ่นดินหนาขึ้น 30 ซม.

ผู้ว่าฯ กทม. นำภาคีเครือข่าย ‘ปลูกป่าชายเลน’ นำร่องพื้นที่ 10 ไร่ ย่านบางขุนเทียน เผยปัก ‘ไม้ไผ่’ เป็น ที-กรอยน์ธรรมชาติ เพียง 3 เดือน แผ่นดินสูงขึ้น 30 เซนติเมตร มั่นใจป้องกันคลื่นกัดเซาะฝั่งได้

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการฟื้นฟูและบำรุงรักษาทะเลกรุงเทพฯ เป็นประธานเปิด “โครงการปลูกป่าในใจคน ตามศาสตร์พระราชา” และเปิดเส้นทางศึกษาและชมธรรมชาติป่าชายเลนชายทะเลบางขุนเทียนพร้อมนำคณะผู้บริหาร กทม. ภาคีเครือข่ายประชาชนและสื่อมวลชน ร่วมปลูกป่าชายเลนบนพื้นที่นำร่อง 10 ไร่

พล.ต.อ. อัศวิน เปิดเผยว่า กทม.ได้เริ่มปลูกป่าชายเลนและป่าไม้ไผ่เพื่อทำหลักกันคลื่นลมทะเลกัดเซาะมาเป็นระยะเวลา 5 เดือนแล้ว โดยปักไม้ไผ่ในลักษณะสลับสับหว่างคล้ายฟันปลา เพื่อให้น้ำทะเลพัดทรายเข้าไปอยู่ในแนวไม้ไผ่ ตามวิธีการที่เรียกว่า “ที-กรอยน์ธรรมชาติ” ต่อมาพบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน บริเวณดังกล่าวมีพื้นดินหรือทรายสูงขึ้นประมาณ 30 เซนติเมตร (ซม.) และเชื่อว่าในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า จะมีพื้นดินเพิ่มขึ้นอีก 50 เซนติเมตร และในส่วนของการปลูกป่าชายเลนก็จะขยายบริเวณการปลูกต้นไม้ให้ได้ 1,000 ไร่ ในปีนี้

“ที่ผ่านมา ได้รับบริจาคต้นไม้จากทุกภาคส่วน ทั้งภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป ซึ่ง กทม. ไม่ได้บังคับว่าต้องบริจาคเป็นจำนวนมาก เพียงคนละ 2-3 ต้น ก็ได้ และต่อมาในเรื่องของเงินบริจาค กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการ 5 คน เป็นตัวแทนจากชุมชน 2 คน ที่เหลือคืออาจารย์ ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน และหัวหน้าฝ่ายรายได้ของเขต เพื่อทำให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างโปร่งใส” พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวและว่า โครงการนี้นอกจากช่วยให้ กทม. ได้พื้นดินเพิ่มแล้ว ในกระบวนการการอนุรักษ์ยังเป็นการสร้างอาชีพเสริมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย โดย กทม. จะจ้างงานปลูกต้นไม้ สร้างแนวไม้ไผ่กันน้ำทะเลกัดเซาะ ขูดเพรียงที่กัดกินต้นไม้ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ยังสามารถเรียกคืนระบบนิเวศกลับมา ห่วงโซ่อาหารในชายทะเลบางขุนเทียนสมบูรณ์ขึ้นด้วย

พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของเส้นทางธรรมชาติ กทม.มีแผนให้ก่อสร้างเส้นทางขึ้นมาอีกหนึ่งเส้น เพื่อกำหนดให้เป็นทางเข้าแบบวันเวย์ ซึ่งในส่วนนี้จะขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนต่างๆ ให้ร่วมช่วยกันสร้าง เชื่อว่าในอนาคตอีก 1-2 ปี นับจากนี้ บางขุนเทียนจะเป็นที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน พบว่า ในทุกปีจะเสียผืนดินจากการถูกน้ำทะเลกัดเซาะปีละ 10 เมตร จากข้อมูลปี 2518-2556 พื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนถูกกัดเซาะมีความยาว รวม 4.7 กิโลเมตร สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนว่าแนวฝั่งเริ่มหายไปตามแรงคลื่นลมทะเลคือ บริเวณหลักเขตกรุงเทพมหานคร หลักที่ 28 ที่แบ่งพื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กทม.กับจังหวัดสมุทรปราการ และหลักเขตที่ 29 ที่แบ่งพื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กทม. กับจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งนี้ พื้นที่ที่ถูกชายทะเลกัดเซาะอดีตเคยเป็นบ่อกุ้งของชาวบ้าน ประชาชนบางส่วนเปิดเป็นร้านอาหาร และประตูระบายน้ำของเขตบางขุนเทียน

 

Advertisement