อาจารย์ – นศ.ป.โท/ป.เอก วิศวกรรมอาหาร ม.แม่โจ้ ได้รับ 4 รางวัลวิชาการระดับนานาชาติ งาน The 7th Agricultural Engineering Annual Regional Convention 2021 (7th ARC2021) ประเทศมาเลเซีย

อาจารย์ – นักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัล เหรียญทอง (Gold Medal) เหรียญเงิน (Silver Medal) และเหรียญทองแดง (Bronze Medal) รวม 4 รางวัล ในการประกวดผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติ (Poster Competition) จากงาน The 7th Agricultural Engineering Annual Regional Convention 2021 (7th ARC2021) เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ ประเทศมาเลเซีย

งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The 7th Agricultural Engineering Annual Regional Convention 2021 (7th ARC2021) เป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติของอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก ในภูมิภาคอาเซียนเข้านำเสนอผลงาน จัดโดย Universiti Putra Malaysia Bintulu Campus เมือง Sarawak ประเทศมาเลเซีย ซึ่ง อาจารย์ นักศึกษาระดับ ปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัลใน Sub Themes : Food Engineering จำนวน 3 รางวัล และ Green Technology จำนวน 1 รางวัล รวม 4 รางวัล ดังนี้

1.รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal : Food Engineering)  จากผลงานวิจัย เรื่อง จนพลศาสตร์ของการเสื่อมสภาพและการทำนายอายุการเก็บรักษาของลำไยรมแก๊สโอโซนในสภาวะห้องเย็น (Kinetics of deterioration and shelf-life prediction of ozonated Longan during cold storage) โดยนักศึกษาปริญญาเอก นางสาวศรัลยภัคร์ ชำนาญ นายนราธิป สุจินดา และนักศึกษาปริญญาโท นางสาวสุธาทิพย์ วงศ์พันธุ์เสือ มี รศ.ดร. จตุรภัทร วาฤทธิ์ และ รศ.ดร. สมเกียรติ จตุรงค์ล้ำเลิศ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ผลงานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาสภาวะการเก็บรักษาและการเสื่อมสภาพของลำไยสดที่ผ่านการรมแก๊สโอโซนความเข้มข้นสูง เพื่อปลอดเชื้อและยืดอายุการเก็บรักษาของลำไยสด ทีมวิจัยได้พัฒนาการทำนายการเสื่อมสภาพของลำไยด้วยสมการทางคณิตศาสตร์แบบโพลีโนเมียล และพบว่าลำไยที่ผ่านการรมด้วยแก๊สโอโซนอัตราการเสื่อมสภาพช้ากว่าลำไยสดปกติประมาณ 3 เท่า และจะมีอายุการเก็บรักษาในสภาวะห้องเย็นได้ยาวนานถึง 36 วัน ซึ่งนานกว่าลำไยเก็บในห้องเย็นปกติ 2 เท่า เนื่องจากแก๊สโอโซนเป็นแก๊สที่เสื่อมสลายตามธรรมชาติและไม่ก่อให้เกิดมลพิษตกค้างบนลำไย วิธีการนี้จึงเป็นวิธีการยืดอายุลำไยสดที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และยังคงเป็นเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

  1. รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal : Food Engineering) จากผลงานวิจัย เรื่อง การพัฒนากระบวนการผลิตบัลซามิกจากเนื้อผลกาแฟด้วยวิธีใหม่ (Process development of balsamic vinegar from coffee pulp with new method) โดยนักศึกษาปริญญาเอก นางสาวนฤมล บุญมี นางสาววรัญญา เฟื่องชุ่ม และนักศึกษาปริญญาโท นางสาวอัจฉรา เหล่าประเสริฐ มี ผศ.ดร. กาญจนา นาคประสม และ ผศ.ดร. นักรบ นาคประสม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ผลงานวิจัยนี้ได้ทำการพัฒนาจากการแปรรูปเนื้อผลกาแฟ มีการใช้กระบวนการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเนื้อผลกาแฟ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์บัลซามิกจากเนื้อผลกาแฟ (เครื่องปรุงรส) ที่มีรสชาติดีและเป็นเอกลักษณ์ และยังสามารถลดการสะสมไขมันในตับและคอเลสเตอรอล อีกทั้งนวัตกรรมกระบวนการผลิตใหม่ยังช่วยลดระยะเวลาในการผลิตบัลซามิกถึง 12 เท่า เมื่อเทียบกับเทคนิคทั่วไป นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคนรักสุขภาพแล้ว ยังเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งที่ได้จากกระบวนการแปรรูปกาแฟมาเพิ่มมูลค่า และช่วยลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

  1. รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal : Green Technology) จากผลงานวิจัย เรื่อง เทคโนโลยีสนามไฟฟ้าแรงสูงแบบจังหวะสำหรับการสกัดโปรตีนถั่วเหลือง (Pulsed electric field technology for soy protein extraction) โดยนักศึกษาปริญญาโท นางสาวกัญญาวีร์ คันทะมูล นางสาวปุณยาพร แสนแปง และ นายธีรชัย ปรมาพิจิตรวัฒน์ มี ผศ.ดร. หยาดฝน ทะนงการกิจ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ถั่วเหลือง เป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยโปรตีนและมีกรดอะมิโนจำเป็นครบทุกชนิด การสกัดโปรตีนจากถั่วเหลืองโดยใช้สนามไฟฟ้าแรงสูงแบบจังหวะสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงและไม่ใช้สารเคมี จึงมีความปลอดภัยทางอาหารและเป็นต่อมิตรสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เหมาะเป็นแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารต่อไป

  1. รางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal : Food Engineering) จากผลงานวิจัย เรื่อง การพัฒนากระบวนการผลิตเม็ดมุกจากเฉาก๊วย (Process development of food beads from grass jelly) โดยนักศึกษาปริญญาโท นายอาทิตย์ ดุเจโตะ นายสิปปกร สวัสดิ์สุขโข และ นายวีรวัฒน์ วงษ์ภักดี มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ผศ.ดร. นักรบ นาคประสม และ ผศ.ดร. กาญจนา นาคประสม

เฉาก๊วย เป็นขนมหวานที่ได้รับความนิยมในไทยมาช้านาน และชานมไข่มุกกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันเนื่องจากลักษณะกลมสีดำและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การผลิตเฉาก๊วยเป็นทรงกลมจึงเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ เนื่องจากเฉาก๊วยทำมาจากพืชที่รู้จักกันในชื่อ Hsian-Tsao หรือว่าหญ้าเฉาก๊วย ซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระรวมถึงสารประกอบฟีนอลิก การผลิตเฉาก๊วยรูปทรงกลมนั้นจะต้องใช้แม่พิมพ์ในการขึ้นรูป ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและแรงงานในการผลิต แต่ผลงานวิจัยนี้ได้ทำการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมการห่อหุ้ม (encapsulation) มาใช้ในการผลิตซึ่งเป็นการช่วยลดระยะเวลาและลดแรงงาน อีกทั้งยังสามารถห่อหุ้มสารต้านอนุมูลอิสระรวมถึงสารประกอบฟีนอลิกที่อยู่ภายในเฉาก๊วยไว้ได้มากกว่า 80% ดังนั้น ผู้บริโภคจะได้รับทั้งประโยชน์ และความแปลกใหม่ในการบริโภคไข่มุกเฉาก๊วยอีกด้วย

จากผลงานดังกล่าวเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ส่งเสริม สนับสนุนเรียนรู้ การศึกษาวิจัย ในทุกระดับการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มุ่งสู่กลุ่มมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 2 กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ที่ตรงตามวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ และมียุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้สู่ปีที่ 100 (2477-2577) ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต สร้างสังคมแห่งการ “กินดี” (Organiclive) “อยู่ดี” (Green growth) และ “มีสุข” (Eco System) สอดคล้องกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ของชาติ ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)