อุบลโมเดล สานฝันสู่ประเทศเกษตรกรรม 4.0 ติวเข้มเกษตรกรไร่มัน ‘รู้ดิน รู้ปุ๋ย เพาะปลูกยั่งยืน’

การผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศเกษตรกรรม 4.0 จำเป็นต้องส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เกษตรกร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเพาะปลูก เพิ่มพูนผลผลิตให้ได้คุณภาพและปริมาณที่สูงเพียงพอต่อการเก็บเกี่ยวในแต่ละฤดูกาล รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้กับเกษตรกร อันจะมีส่วนช่วยนำพาประเทศชาติและชีวิตของเกษตรกรไทยไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

โครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง หรือ อุบลโมเดล ซึ่งเกิดจากความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ระหว่างภาคเอกชนคือกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล และภาครัฐ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดินและกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาการเกษตรยุคใหม่และเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสู่ความยั่งยืน จึงได้จัดงาน “วันมหกรรมการตรวจวิเคราะห์ดิน ปี 60″ ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 300 รายก่อนเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกรอบใหม่

การจัดงาน “วันมหกรรมการตรวจวิเคราะห์ดิน ปี 60″ เป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบฐานการเรียนรู้เชิงสาธิตและนิทรรศการ ภายใต้หัวข้อหลักการอบรม “รู้ดิน รู้ปุ๋ย เพาะปลูกยั่งยืน” มุ่งเน้นให้เกษตรกรได้รับความรู้ เรื่อง “ดินและปุ๋ย” ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเพาะปลูก รวมถึงความรู้เรื่องพันธุ์มันสำปะหลังที่ได้มาตรฐานโรงงาน ให้ผลตอบแทนสูง และเปิดคลินิกรับปรึกษาปัญหาโรคแมลง และการสนับสนุนปัจจัยการปรับปรุงดิน เป็นต้น

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ รองอธิบดีด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า งานวันมหกรรมการตรวจวิเคราะห์ดิน ปี 60 จัดขึ้นเพื่อให้เกษตรกรเข้าใจถึงความสำคัญของดินที่เป็นแหล่งผลิต แหล่งอาหารพืชทุกชนิด รวมถึงมันสำปะหลัง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนแล้ง หากเกษตรกรให้ความสำคัญและหมั่นบำรุงดิน ก็จะทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ และมีปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เรียกว่า Ldd Smart Model มาใช้ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ผลดินเพื่อให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการจัดการดินและปุ๋ยได้รวดเร็ว มีความแม่นยำสูง และสามารถให้บริการเกษตรกรได้ทั่วถึง ทั้งนี้ หลังการเก็บเกี่ยวก่อนเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ มีข้อแนะนำให้เกษตรกรเก็บดินมาตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดการดินสำหรับการเพาะปลูกรอบใหม่ และเป็นประโยชน์ต่อตัวของเกษตรกรเอง

นายอัธยะ พินจงสกุลดิษฐ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านวินิจฉัยคุณภาพและกำลังผลิตพืช กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการจัดทำแผนที่ดินและพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น LDD soil guide เพื่อให้เกษตรกรได้รู้ถึงชุดดินในแปลงของตัวเอง ซึ่งดินในจังหวัดอุบลราชธานีส่วนใหญ่จะเป็นชุดดินที่มีสมบัติเป็นดินร่วนปนทราย ดังนั้น จึงต้องใส่ใจเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ การวิเคราะห์ดินจะทำให้ทราบปริมาณธาตุอาหารพืชในดิน คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ว่ามีมากน้อยเพียงใด เมื่อทราบแล้วจะนำไปสู่การใส่ปุ๋ยถูกต้องเหมาะสมได้

นายสุกิจ รัตนศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร ได้นำงานวิจัยด้านการจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินมาถ่ายทอดให้ความรู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชที่ใช้ปุ๋ยตามแบบเดิมที่เคยใช้ ทั้งนี้ พืชแต่ละชนิดมีความต้องการปุ๋ยไม่เหมือนกัน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้ทราบว่าควรปลูกพืชอะไรที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต และการจัดการปุ๋ยที่ถูกต้อง จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตดี ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้ซื้ออีกทางหนึ่ง

ด้านนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เปิดเผยว่า การจัดงานในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกษตรกรได้เรียนเสริม เรียนเพิ่ม โดยเน้นย้ำเรื่องการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตตามหลักการของกรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้ร่วมจัดอบรมในรูปแบบโครงการอุบลโมเดลมาตั้งแต่ปี 2557 โดยโมเดลต่างๆ ทางส่วนราชการจะเข้ามาบูรณาการ อย่างในโมเดลปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน มีเกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมอบรมและนำไปปรับใช้จนสามารถทำได้ 8 ตันต่อไร่ ลดต้นทุนมากกว่า 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่งเราเชื่อว่าการปลูกฝังให้เกษตรกรจัดการแปลงมันอย่างถูกวิธีโดยมีความรู้ติดตัวไปนั้น จะเป็นการสร้างรากฐานองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะเรื่อง “ดิน” เมื่อเกษตรกรรู้ต้นทางของการเพาะปลูก เกษตรกรจะเริ่มมีโมเดลความคิดในการจัดการแปลงที่ดี มีโมเดลทางสังคมที่ช่วยกันขยายผลไปโดยอัตโนมัติ จนเป็นการทำการเกษตรแบบมืออาชีพจริงๆ

การจัดกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ “อุบลโมเดล” นับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตอบโจทย์นโยบาย 4.0 ในหลายมิติ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันทันสมัยมาใช้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ด้านวิชาการ ด้วยวิธีที่เข้าใจง่าย สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

การอบรม “รู้ดิน รู้ปุ๋ย เพาะปลูกยั่งยืน” เริ่มต้นด้วยการให้เกษตรกรเก็บดินแปลงมันสำปะหลังของตนเอง ส่งมาวิเคราะห์ เพื่อตรวจผลธาตุอาหาร และเรียนรู้วิธีการเพิ่มผลผลิต โดยมีฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน ประกอบด้วย

  • ฐานรู้ดิน เรียนรู้เรื่องดินการจัดการดิน โดยให้เกษตรกรเรียนรู้ลักษณะของดิน สมบัติทางเคมีและกายภาพ รวมทั้งการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมกับชนิดพืชและสภาพพื้นที่
  • ฐานเก็บดิน เรียนรู้การเก็บดินที่ถูกต้อง โดยให้เกษตรกรทราบวิธีการเก็บดินตามชนิดพืชที่ปลูก บริเวณที่เก็บ และเวลาที่เหมาะสมเพื่อความแม่นยำของการตรวจวิเคราะห์ดิน และอัตราปุ๋ยที่ใช้
  • ฐานวิเคราะห์ดิน เรียนรู้วิธีการตรวจวิเคราะห์ดินอย่างง่าย โดยให้เกษตรกรเรียนรู้การใช้ชุดตรวจสอบดินสนาม (Ldd Test Kit) ที่ใช้งานง่าย รวดเร็ว ซึ่งเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตนเอง
  • ฐานรู้ปุ๋ย เรียนรู้การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยเกษตรกรจะได้เรียนรู้ชนิดปุ๋ย สูตรปุ๋ยและอัตราการใช้ที่เหมาะสมกับชนิดพืช รวมทั้งการจัดการปุ๋ย/ธาตุอาหารในดินที่สอดคล้องกับลักษณะดิน ในเวลาที่เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตของพืช
  • ฐานรู้พืช เรียนรู้เรื่องพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การอารักขาพืช