BCG Model สู่ BCG Tourism แนวคิดชุบชีวิตชีวิตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย ให้กลับมาเฉิดฉายได้อย่างยั่งยืน อีกครั้ง

เมื่อสถานการณ์โรค Covid-19 เกิดขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ถูกบีบบังคับให้ขับเคลื่อนไม่ได้ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป นอกจากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว วิกฤติการณ์นี้ยังทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือการที่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนที่เราใช้ไปกับการท่องเที่ยวได้โอกาสในการฟื้นฟูให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

BCG Tourism คืออะไร ? แนวคิด BCG Tourism เป็นการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์กับการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น ในการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แบ่งปันประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ประเทศไทย เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในเรื่องอาหาร วิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคมเกษตรกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายในประเทศ ถือว่าเป็นต้นทุนที่แข็งแรงต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว BCG Tourism ไปสู่ความยั่งยืน หากเข้าใจที่จะต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

การใช้แนวคิด ความยั่งยืน (Sustainability)  คือ ความใส่ใจรายละเอียดในทุกมิติที่ไม่ใช่แค่เพียงมิติด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มันต้องประกอบไปด้วย 3 มิติด้วยกัน คือ ผู้คน (People) และผลกำไร (Profit) โลก (Planet)  หรือที่เราเรียกว่า 3P ที่มุ่งเน้นการรักษาสมดุลและนำมาปรับใช้กับธุรกิจโดยครอบคลุมด้านสังคม (Social) เศรษฐกิจ (Economic) และสิ่งแวดล้อม (Environmental) ซึ่งในแนวคิดของความยั่งยืน (Sustainability) นั้นก็พัฒนามาจากการทำธุรกิจในสมัยก่อนที่เรามุ่งเน้นแต่เรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งต่าง ๆ รอบด้าน กระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้แบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ นั้นต้องหันมาใส่ใจกับการให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ที่มากกว่าเรื่องของผลกำไร รวมทั้งคนใน Generation ใหม่ ๆ ก็ให้ความใส่ใจกับแบรนด์ที่ใส่ใจโลกและสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งจะกลายเป็นตัวสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจยุคใหม่

เพื่อเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานและวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างสิ้นเปลือง หลีกเลี่ยงการสร้างมลภาวะให้สถานที่ท่องเที่ยวและพัฒนา หรือแปรรูปผลผลิตด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ จึงสามารถนำแนวคิด BCG Model มาประยุกต์ใช้ในการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีอินทรีย์ในไทยได้

ทั้งนี้การดำเนินงานภายใต้ BCG Model และยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะมีส่วนผลักดันให้เกิดรายได้ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม (Responsible Tourist) และเต็มใจใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสะท้อนภูมิปัญญาไทย ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และผ่านกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสู่แนวทาง BCG Tourism เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ BCG Model เพื่อส่งเสริมธุรกิจสีเขียว แนวทางผสมผสานความยั่งยืน (Sustainability) ได้แก่

  1. การท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน (Local Tourism)

ประเทศไทยมีรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนที่หลากหลาย เช่น เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง เป็นต้น สามารถประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการสอดแทรกแนวคิดความยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ การคัดแยกขยะ การรีไซเคิลของเสีย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ

ยกตัวอย่าง เช่น ‘ไร่รื่นรมย์’ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ที่ ต.งิ้ว อ.เทิง จ.เชียงราย บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ สร้างคาเฟ่ และฟาร์มสเตย์ ที่มีทั้งร้านอาหารออร์แกนิกใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น สด ใหม่ สะอาด ปลอดภัย พร้อมที่พักท่ามกลางธรรมชาติล้อมรอบด้วยภูเขา สามารถชมวิวได้ 360 องศา พร้อมทั้งจำหน่ายสินค้าออร์แกนิก เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ รวมถึงสินค้าเกษตรแปรรูปในแบบต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่มธัญพืช และยังมีศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และพลังงานสะอาด โดยจัดคอร์สอบรมทุกเดือน เช่น คอร์สการทำเกษตร คอร์สทำนา คอร์สทำอาหารและเบเกอรี่ อีกด้วย

โดยตั้งใจอยากเป็นเกษตรกรผลิตอาหารสะอาด ปลอดภัย เพื่อส่งมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคทุกคน พร้อมยึดมั่นในการทำธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ปลูก ผู้บริโภค และระบบนิเวศโดยรวม ช่วยเกษตรกรมีความยั่งยืน (Sustainability)

https://bangkokbanksme.com/en/6focus-rairuenrom-organic-farm

อีกหนึ่งตัวอย่าง ในการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสู่แนวทาง BCG Tourism คือ บันดาหยาแห่งเกาะหลีเป๊ะ ที่เมื่อนักท่องเที่ยวมายังเกาะหลีเป๊ะจะเกิดการใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะ มองเห็นถึงความสำคัญในการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม จึงมีการสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียแบบครบวงจร โดยใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ และยังมีระบบการจัดการแยกขยะ มีการนำเศษอาหารมาทำแก๊สชีวภาพ ตอบโจทย์การใช้พลังงานซักผ้า – อบผ้า รีสอร์ทยอมลงทุนในส่วนนี้เพื่อให้สภาพแวดล้อมมีความยั่งยืน (Sustainability)

นอกจากนี้ยังมีการทำโปรเจกต์ เซฟหลีเป๊ะ ทุกปี เนื่องจากอยากให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวได้ซึมซับธรรมชาติ แล้วสร้างกลับคืนให้กับเกาะหลีเป๊ะ เช่น บันดาหยาจะมีทริปสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งมีกิจกรรมแทรก อาทิ ปลูกปะการัง แล้วมาดูพัฒนาการเติบโตในปีหน้าว่าปะการังที่เราปลูกเป็นอย่างไรบ้าง

ต้องการปลูกฝังให้นักท่องเที่ยวมีการท่องเที่ยวแบบรักธรรมชาติ โดยใช้งบประมาณของรีสอร์ทเอง เพื่อร่วมคืนความสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้กับเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก และยังผลักดันในเรื่อง เช่น รณรงค์การเก็บขยะ มีการใช้กล่องพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มายังเกาะหลีเป๊ะมีจำนวนมาก หากไม่มีการจัดการที่ดี ไม่มีการบำบัดน้ำเสีย สิ่งแวดล้อมที่อยู่กับเราจะอยู่ได้ไม่นาน

https://www.bangkokbanksme.com/en/bundhaya-resort-koh-lipe-accommodation

  1. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)

หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 มนุษย์หันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยว จึงควรต่อยอดและยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาด ความปลอดภัย และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และร่วมมือกับชุมชนเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม เช่น โรงแรมนำเสนออาหารสุขภาพโดยอุดหนุนผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์โดยตรงจากเกษตรกร  หรือส่งเสริมกิจกรรมทางสุขภาพ เช่น ปั่นจักรยาน เดินป่า ซึ่งเจ้าของธุรกิจร่วมมือกับชุมชนเพื่อสนับสนุนพื้นที่ นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและเป็นการกระจายรายได้แก่ชุมชนอีกด้วย

ยกตัวอย่าง เช่น  ‘พบสนุกม่อนแจ่ม’ สถานที่ท่องเที่ยวที่มาพร้อมกิจกรรมสุดตื่นเต้นท้าทายท่ามกลางธรรมชาติตอบแทนสังคมด้วยการพัฒนาชุมชนโดยรอบในพื้นที่ บ้านถวาย ต.ขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ปัจจุบันการท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านถวาย ซึ่งเป็นแหล่งแกะสลักไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ค่อนข้างซบเซา จึงคิดอยากจะตอบแทนคนในท้องถิ่น ด้วยการทุ่มทุนเนรมิตพื้นที่กลางทุ่งนาของตนเองให้เกิดเป็นรีสอร์ท และร้านกาแฟ และมีกิจกรรมเพื่อให้ผู้มาท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรม ได้ออกกำลังกายกัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านถวาย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกครั้ง

ยังได้มีการจ้างงานคนในพื้นที่เข้ามาทำงาน ถือเป็นตัวอย่างการจ้างงานคนในชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และเดิมทีทุ่งนาไม่ได้พัฒนามากขนาดนี้ ก็ได้ช่วยกันพัฒนาถนน มีไฟฟ้าใช้งาน ถือเป็นโอกาสในการตอบแทนสังคมด้วย

https://www.bangkokbanksme.com/en/adventure-style-check-in-point-pobsanook-monjam

จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยเล่าเรื่องที่ทำให้นักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของสินค้าและบริการได้ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดี พร้อมทั้งต้องต่อยอดความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อทำให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในมิติด้านการท่องเที่ยวมีศักยภาพมากขึ้น

 

 3 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนใน BCG Tourism

 

เกษตรกร 

– ผลิตอาหารปลอดภัย ปลอดสารพิษ ส่งให้สถานประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร

– รับเศษขยะเหลือใช้จากโรงแรมมาทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในแปลงเกษตร

– ปรับปรุง สวน ไร่ ฟาร์มให้เป็นแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวมาพัก

– ถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านเกษตรปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

 

นักท่องเที่ยว ผู้บริโภค

-เลือกโรงแรม ร้านอาหารที่สนับสนุนธุรกิจสีเขียว เช่น ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์

-ใช้ทรัพยากรในโรงแรมให้เหมือนว่าทรัพยากรนั้นเป็นของเรา เช่น โรงแรมที่จัดอาหารแบบบุฟเฟต์ เราควรตักในปริมาณที่เรากินหมด เพื่อลดกระบวนการกำจัดขยะ

-ซื้อทริปสั้น ๆ ไปเที่ยวชมชุมชนรอบ ๆ โรงแรม เพื่อสนับสนุนชาวชุมชน ได้เอื้อประโยชน์การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนนั่นเอง

 

 

 

ผู้ประกอบการ SME ร้านอาหาร โรงแรม

 

-เลือกซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรที่ใช้วิธีปลูกแบบอินทรีย์ ออร์แกนิค

-เลือกซื้อสินค้าจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดต้นทุน ลดพลังงานจากการขนส่ง

-แยกขยะอย่างเป็นระบบ ในส่วนขยะอินทรีย์ สามารถส่งให้เกษตรกรไปทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ หรือจะแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวไปลองใช้ที่บ้านก็ได้

-สามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยว ให้เห็นถึงที่มาที่ไปของอาหาร ตั้งแต่ปลูก จนมาเป็นจานได้

-สามารถจัดอบรมให้กับฟาร์ม ไร่ ที่สนใจเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้

ใช้ BCG Model พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน

การพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย BCG Model จะช่วยให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวมีบทบาทร่วมกันในการดูแลแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน เชื่อว่ายังมีอีกหลายชุมชนที่ต้องการทำแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นวิถีอินทรีย์ด้วยแนวคิด BCG Model ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผลิตภัณฑ์และสินค้าต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ ส่งเสริมโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปรู้จักกับผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้า GI ซึ่งจะทำให้เกิดกระจายรายได้สู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ในพื้นที่ และยังสามารถเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป

การผลักดันแนวทางในการส่งเสริมเมืองรองและชุมชน เพื่อกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง โดยนำเสนอ Local Experience เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจมาสัมผัสประสบการณ์จากพื้นที่โดยตรง ชูจุดเด่นโดยใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นและส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละจังหวัด หรือพื้นที่ในแง่มุมที่ต่างกันไป ต่อยอดความเข้มแข็งไปพร้อม ๆ จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลดของเสียให้มากที่สุด (Zero Waste) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ที่มา การท่องเที่ยวไทย

https://tatacademy.com/th/publish/articles/2393645f-50aa-43e5-930b-1b0f538e1402

https://tatacademy.com/th/publish/article/e64b2554-d206-4e07-8c83-5df6a1f4fe65

https://www.salika.co/2021/10/25/bcg-model-new-hope-for-tourism-industry/

https://osothoonline.com/bcg-tourism/#