10 ข้อห้าม สายแคมปิ้งควรระวังในการนอนเต๊นท์

นอกจากต้องรักธรรมชาติแล้ว การไปนอนกางเต็นท์แคมปิ้งในป่า หรือพื้นที่อุทยานต่างๆ นักท่องเที่ยวควรรู้หลักการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยเบื้องต้นด้วย มาดูกันว่า 10 ข้อ ที่คุณต้องรู้ และระวังในการนอนเต๊นท์ค้างแรมในป่ามีอะไรบ้าง
#Travel #แคมป์ปิ้ง #bangkokbank #bangkokbanksme #sme

กระแสการท่องเที่ยวกางเต๊นท์นอนอุทยานแบบแคมปิ้งกำลังมาแรง และได้รับความสนใจอย่างดีจากนักท่องเที่ยวชาวไทย ยุค New normal ที่มีความต้องการท่องเที่ยวทำกิจกรรมกลางแจ้ง สร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มเพื่อนและครอบครัวแบบใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งในวงการเรียกนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ว่า ‘สายแคมป์’ นิยามถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มที่รักกิจกรรมกลางแจ้ง ชอบนอนเต๊นท์ในสถานที่ธรรมชาติมากกว่านอนโรงแรม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร มุ่งเน้นกิจกรรมความบันเทิงในหมู่คณะหรือแม้แต่การปลีกวิเวกคนเดียว

สำหรับในไทย การจัดกิจกรรมแคมปิ้งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ป่าอุทยานฯ เนื่องจากมีความสะดวก ปลอดภัย ไว้วางใจได้ และมีทั้งในส่วนของการเปิดให้เช่าอุปกรณ์ กางเต๊นท์นอน จุดไฟ ห้องน้ำ สัญญาณโทรศัพท์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลความปลอดภัย ทำให้ไว้วางใจได้ในระดับหนึ่ง อุทยานฯ จึงกลายเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวสายแคมปิ้งให้ความสนใจ แต่ก็ควรจะศึกษาข้อควรระวังและอันตรายที่ห้ามทำระวังป้องกันไว้เป็นคู่มือ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดหรืออันตรายร้ายแรงที่อาจถึงแก่ชีวิต จาก 10 ข้อ ห้ามดังนี้

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

  1. ห้ามนำเตาไฟ เทียน ตะเกียงไฟ เข้าไปในเต๊นท์

แม้อากาศจะหนาวเหน็บจนร่างกายเรียกร้องหาความอบอุ่นเพียงใด ก็อย่าได้ประมาทเผลอนำเตาไฟเข้าไปในเต๊นท์ที่ปิดมิดชิด เพราะการเผาไหม้ของไฟจะดึงออกซิเจนไปจากอากาศที่มีอยู่ในเต๊นท์ และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจนทำให้ออกซิเจนหมดและเสียชีวิตได้ หรืออาจเกิดไฟไหม้ได้ ดังนั้น แสงสว่างภายในเต๊นท์ควรใช้โคมไฟแอลอีดีจะปลอดภัยกว่า ส่วนใครที่ขี้หนาวก็สามารถใช้แผ่นร้อนแบบพกพาจะช่วยให้อุ่นขึ้นได้ แถมปลอดภัยอีกด้วย

  1. ระวังสัตว์มีพิษตามพื้นดิน

ก่อนกางเต๊นท์ ควรปัดกวาดเศษใบไม้ทำความสะอาดพื้นที่บริเวณที่จะกางเต๊นท์นอนให้โล่งเตียน เพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลาน เช่น แมงป่อง ตะขาบ หรือแม้แต่งู ซุกซ่อนตัวตามถุงนอน กองเสื้อผ้าหรือหลืบต่างๆ ก่อนเข้านอนหรือกางเต๊นท์ควรตรวจตราให้รอบครอบ และทริคง่ายๆ สำหรับการป้องกันสัตว์มีพิษเข้าเต๊นท์ คือ ยาฉีดกันแมลง สามารถฉีดกดลงพื้นดินรอบเตีนท์เป็นจุดๆ ปกติสัตว์เลื้อยคลานจะไวต่อกลิ่น วิธีนี้จะสามารถป้องกันสัตว์เลื้อยคลานไม่ให้มาหาเราได้ในขณะที่เราอยู่ในเต๊นท์ 

  1. อย่ากางเต๊นท์ใต้ต้นไม้ใหญ่

จริงๆ ก็ไม่ใช่กฎที่ตายตัวนักสำหรับการนอนในป่ากับการกางเต๊นท์ใต้ไม้ใหญ่ แต่ก็เป็นสิ่งควรระวัง เพราะถ้าฝนตกกิ่งไม้อาจหักลงมา หรือต้นไม้โค่นล้มลงมาทับเต๊นท์ได้ รวมทั้งหากเป็นช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง จนทำให้เกิดอันตรายจากฟ้าผ่าลงกลางต้นไม้ได้ ดังนั้น ควรหาทำเลใต้ร่มเงาไม้ที่ไม่ใหญ่นัก หรือหากเลี่ยงไม่ได้ก็สังเกตก่อนว่ามีกิ่งไม้แห้งตายบนต้นไม้หรือไม่ ถ้ามีก็อย่าไปกางแถวนั้นเชียว

  1. ไม่กางเตณนท์ในพื้นที่โล่ง

จุดกางเต๊นท์ไม่ควรวางอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง โดยไม่มีโขดหินหรือต้นไม้บังทิศทางลม เพราะบนพื้นที่สูงนั้นจะมีลมกรรโชกแรง ลมตีเต๊นท์ทั้งคืนคงไม่สนุกแน่ ซึ่งอาจพัดพาเต๊นท์ปลิวหรือพังได้ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใช้สมอบกยึดเต๊นท์ทุกด้านให้แน่น โดยปักสมอบกมุมทแยงแนวต้าน 45 องศา

  1. ไม่ควรกางเต๊นท์อยู่บริเวณชายเขา

ชายเขาหรือพื้นที่ลาดเชิงเขาก็ไม่ใช่ที่น่านอนกางเต๊นท์ เพราะหากฝนตกหนัก น้ำจะไหลผ่านและถ้าหากน้ำเกิดไหลไม่หยุด จะมีน้ำมากจนเกิดอันตรายได้ หรืออาจเกิดดินสไลด์ ซึ่งหากจำเป็นควรสังเกตบริเวณโดยรอบว่าพื้นดินเป็นดินทรายปนหิน ดินร่วน หรือดินเหนียว เพราะหากเป็นดินทรายปนหินหรือดินร่วนบนทราย หากเป็นหน้าฝนอย่าได้นอนเด็ดขาด ถอยห่างให้ไกลเชิงเขาอย่างน้อย 10 เมตร ถ้าเป็นไปได้

  1. ไม่กางเต๊นท์ในทางน้ำไหล ริมน้ำหรือลำธารที่แห้งแล้ง

โดยปกติก็ไม่ควรนอนขวางทางน้ำ แม้จะเป็นทางน้ำไหลหรือแห้งก็ตาม เพราะเมื่อฝนตกไหลบ่าลงลำธาร อาจจะเกิดน้ำป่าไหลเต็มภายในไม่กี่นาที ต้องลุกย้ายเต๊นท์หนีน้ำกลางดึกคงไม่สนุก หรืออาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตถ้าเกิดกระแสน้ำป่าและโคลนถล่ม เพราะแม้หลักการกางเต๊นท์หรือพักค้างแรมในป่ามักจะต้องใกล้น้ำ แต่ก็ควรถอยห่างจากลำธารขึ้นสูงมาสักหน่อย ปลอดภัยไว้ก่อน

  1. ไม่กางเต๊นท์บริเวณทางเดินสัตว์ (ด่านสัตว์)

สมัยนี้เขตอุทยานฯ คงไม่มีด่านสัตว์ แต่หากออกนอกจุดพื้นที่ความปลอดภัยก็ควรดูรอยเท้าตามพื้นไว้บ้าง สังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัวทุกครั้งก่อนกางเต๊นท์ เพื่อเลี่ยงการปะทะกับสัตว์ป่าที่อาจออกมาหากินตามทางเดินยามค่ำคืน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ และเจ้าถิ่นที่อันตรายที่สุดคือ ช้างป่า ดังนั้น จำให้ขึ้นใจ เห็นรอยเท้าช้าง มูลช้าง อย่ากางเต๊นท์แถวนั้นเด็ดขาด เพราะเจ้าถิ่นอาจไม่ชอบใจและอาจยกพวกมากระทืบเอาได้

  1. ระวังฟืนไฟ

อุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบางพื้นที่สามารถก่อไฟปรุงอาหารได้ แต่เราควรระวังเรื่องไฟไว้ให้มาก ซึ่งเราอาจเป็นส่วนหนึ่งในการเผาป่าก็เป็นได้ ก่อนกลับต้องดับให้สนิท และอย่ากางเต๊นท์ข้างกองไฟ เพราะสะเก็ดไฟอาจไหม้เต๊นท์ได้

  1. ไม่ควรกางเต๊นท์บริเวณที่มีน้ำขังหรือหญ้ารก

บริเวณหนองบึง ที่มีน้ำขัง อาจมีสัตว์เลื้อยคลานหลบซ่อนอยู่ และเป็นแหล่งชุกชุมของยุงอาจทำให้เป็นไข้มาลาเรียได้ รวมทั้งบริเวณที่มีหญ้ารก พงหญ้าสูง ก็ไม่ควรไปถากถางเพื่อกางเต๊นท์ เพราะอาจเป็นที่อยู่ของสัตว์มีพิษ ควรหาที่โล่งเตียนจะดีกว่า

  1. รักษามารยาทอันดีที่ควรพึงมีต่อส่วนรวม

จริงอยู่ว่าการแคมปิ้งเป็นกิจกรรมสันทนาการในรูปแบบหนึ่งของกระแสนิยมในสมัยนี้ แต่ท่ามกลางธรรมชาติก็ไม่ควรส่งเสียงดังมากจนเกินไป เพราะนอกจากจะสร้างความรำคาญให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นที่พักอยู่บริเวณใกล้เคียงแล้ว เสียงอันดังอาจทำให้สัตว์ตื่นตกใจ แตกกระเจิงเข้าทำร้ายผู้อื่นหรือตัวเองได้

จริงๆ ยังมีข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติอีกมากมาย ในการไปเที่ยวป่าหรือนอนกางเต๊นท์ในป่าที่ผู้รักธรรมชาติควรต้องรู้ไว้ เช่น ขยะทุกชิ้นที่นำไปควรนำกลับไปด้วย อย่าทิ้งไว้เป็นที่ระลึกในป่าอย่างเด็ดขาด รวมถึงการอย่าแตะต้องหรือทำลายธรรมชาติไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นแบบเดิมเหมือนที่เคยเป็น และสำคัญเลยรักจะแคมปิ้งต้องรักธรรมชาติ ช่วยกันส่งต่อจิตสำนึกที่ดีให้แก่นักกางเต๊นท์หน้าใหม่ๆ ด้วย

แหล่งอ้างอิง http://portal.dnp.go.th/ 

ถ้าอยาก OK ต้องไม่พลาด 7 สถานที่ยอดฮิตในเบตง 

บุก 4 ผา 5 น้ำตก พิชิตยอดภูกระดึง

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333