รองอธิบดีกรมการข้าว เผยทิศทางพัฒนา Smart Farmer เสริมศักยภาพการผลิตข้าวให้เกษตรกร

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้ดำเนินงานโครงการ Smart Famer ด้านข้าว ตั้งแต่ปี 2556 ตามนโยบายการพัฒนาเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการสร้างเกษตรกรไทยให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการทำการเกษตร ตระหนักถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พัฒนาศักยภาพการผลิต การแปรรูปและการตลาด ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากแหล่งเรียนรู้ ด้านการผลิตข้าวที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้การบูรณาการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐในด้านวิชาการและเทคโนโลยี

ในปี 2557 – 2564 กรมการข้าวได้จัดทำโครงการตามนโยบายพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง และดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer โดยสำรวจและคัดกรองเกษตรกรตามคุณสมบัติพื้นฐานตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของเกษตรกรแต่ละกลุ่มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการตอบโจทย์ความยั่งยืนในหลายมิติ

โดยกำหนดเป้าหมายการสำรวจคุณสมบัติและรายได้ครัวเรือนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ สมาชิกองค์กรชาวนา หรือเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนาในพื้นที่ 77 จังหวัด จำนวนรวม 50,879 ราย เพื่อคัดกรอง และจัดชั้นเกษตรกร ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) Model Smart Farmer ด้านข้าว คือ เกษตรกรปราดเปรื่องต้นแบบด้านข้าว มีวิธีปฏิบัติที่ดี มีความโดดเด่นในการทำนา 2) Existing Smart Farmer คือเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer ซึ่งผ่านคุณสมบัติพื้นฐานครบถ้วน โดยผ่านตัวบ่งชี้ อย่างน้อย 1 ตัวบ่งชี้ในแต่ละคุณสมบัติ และ 3) Developing Farmer เกษตรกรที่ยังไม่เป็น Smart Farmer เนื่องจากยังไม่ผ่านคุณสมบัติพื้นฐาน จึงเป็นเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ ตามความต้องการของเกษตรกรแต่ละราย

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินนโยบาย Smart Farmer จะเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตข้าว การบริหารจัดการ การแปรรูป การตลาด การเป็นวิทยากรด้านข้าว รวมไปถึงสามารถพัฒนาเกษตรกรให้ได้รับทักษะการผลิตข้าวตามมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงและเข้มแข็งให้แก่ชาวนา

นอกจากนี้ กรมการข้าวยังมีการดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) เพื่อสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีความพร้อมในการทำหน้าที่ผลิตข้าว และเป็นผู้นำ การเปลี่ยนแปลงในการประกอบอาชีพทำนา อีกทั้ง เป็นผู้สืบทอดอาชีพการทำนาจากเกษตรกรรุ่นเก่าให้มีเกษตรกรรุ่นใหม่ประกอบอาชีพการทำนาต่อไปได้