ธ.ก.ส. หนุนโครงการประกันรายได้เกษตรกร ช่วยชาวนาปลดหนี้ หนีวัฏจักรกู้ยืม

ผ่านมา เกษตรกรและชาวนาต้องเผชิญปัญหาสารพัด ทั้งราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ไปจนถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่ส่งผลต่อการเก็บเกี่ยว ทำให้ขาดทุนจนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาทางแก้ไขมาโดยตลอด

อย่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เปิดทางเลือกใหม่แก่เกษตรกร ผลักดัน “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรในการวางแผนการผลิตและหลุดออกจากวงจรการกู้ยืม

โครงการประกันรายได้เกษตรกร เป็นโครงการที่สร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้เกษตรกร โดยเป็นหลักประกันรายได้ขั้นต่ำในการประกอบอาชีพการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และเป็นโครงการที่ลดการแทรกแซงระดับราคาสินค้าเกษตร และโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร อีกทั้งวิธีการรับประกันนี้ รัฐบาลไม่ต้องไปจัดการกับตัวเมล็ดข้าวหรือตัวสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรสามารถจัดการกับเมล็ดข้าวได้เอง ทั้งการรอจนกว่าราคาข้าวจะดีขึ้น หรือจะส่งไปขายที่โรงสีเลยก็ได้ เกษตรกรจึงได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

นายเคือง ปะรุมรัมย์ หนึ่งในเกษตรกรที่ลงทะเบียนทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้ โดยเปิดเผยว่า ตนเองปลูกข้าวเป็นหลัก แต่มีปัญหาเรื่องการทำนาอย่างมาก เพราะสภาพดิน ฟ้า อากาศไม่เอื้ออำนวย ถึงจะมีอาชีพเสริมคือปลูกผักสวนครัว แต่ก็เป็นไปเพื่อใช้ดำรงชีวิตช่วงที่ไม่ได้ทำการเกษตรหรือทำนาเท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อการค้าขาย

“ที่ผ่านมาผลผลิตทางการตลาดก็ไม่ค่อยดีนัก ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เพราะลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีในการทำนา แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว เพราะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย  ลงทุนไปเยอะกับการทำนา 60 ไร่ แต่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แค่ 1 รอบต่อ 1 ปี เท่านั้น”

จากปัญหาที่เผชิญมาทั้งหมด ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ โดยเข้าร่วมโครงการประกันรายได้มา 3 ปีแล้ว ถึงแม้ปีแรกชาวนาทางภาคอีสานอาจยังไม่ได้รับประโยชน์อะไรมาก แต่ ธ.ก.ส. มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงการอยู่เสมอ เงินประกันรายได้ที่ได้รับมาทำให้เกษตรกรไม่เดือดร้อน เนื่องจากไม่มีการกดราคา เพราะราคาเป็นไปตามราคาตลาดกลาง อีกทั้งผลผลิตยังอยู่ในยุ้งฉางของตัวเอง เพื่อรอการจำหน่ายในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด

นายเคือง เล่าว่า ปกติจะนำข้าวไปขายที่โรงสี สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (สกต.) หรือไม่ก็พ่อค้าคนกลาง ราคาผลผลิตจึงขึ้นอยู่กับราคากลางของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ สกต. จะอ้างอิงการจ่ายเงินจากราคากลาง ราคาจึงมีขึ้นและมีลง แต่ถ้าราคาตลาดที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าราคาประกันที่กำหนด รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้เท่ากับส่วนต่างของราคาที่ประกันไว้กับราคาตลาดที่เกษตรกรขายได้

นายเคือง ยังเน้นย้ำอีกว่า ประโยชน์ของโครงการประกันรายได้คือการได้เงินก้อนมาก่อนเพื่อชำระหนี้สิน ทั้งต้นทุนต่างๆ และดอกเบี้ยธนาคาร โดยไม่ต้องเดือดร้อนหายืมเงินจากคนอื่น เพราะที่ผ่านมา พอสิ้นปีจะเป็นช่วงเวลาครบกำหนดการชำระหนี้ จึงจำเป็นต้องใช้เงิน ทำให้ไม่ว่าข้าวจะถูกหรือจะแพงก็ต้องขายไป เพื่อให้มีรายได้กลับมาจ่ายค่าหนี้สินที่กู้ยืมไป

“บางครั้งไม่พอ ทำให้ต้องกู้เงินจากญาติ พี่น้อง หรือกู้เงินนอกระบบเพื่อมาจ่ายค่าดอกเบี้ย หรือหนี้ต่างๆ พอชำระดอกเบี้ยเสร็จก็กู้เงินอีกรอบ เพื่อคืนเงินที่ยืมไปจากญาติ พี่น้อง วนไปเป็นวัฏจักรที่ไม่จบสิ้นมา 20 ปีแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นายเคืองได้เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเงินประกันรายได้ที่ได้มา ถึงจะไม่ใช่จำนวนที่มากมายสำหรับคนอื่น แต่สำหรับตนเองนั้นสามารถอยู่ได้อย่างเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในระยะเวลา 1 ปี สามารถนำเงินประกันไปจ่ายคืนทั้งหนี้ของ ธ.ก.ส. และจ่ายเงินลงทุนอีกรอบ

“ผมได้รับข้อมูลข่าวสารจากการประชาสัมพันธ์ของ ธ.ก.ส. ศูนย์กระจายข่าว และการแจ้งข่าวของหมู่บ้าน มีหลากหลายช่องทางที่แจ้งข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและข้อมูลครบถ้วน เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำอย่างดี เวลามีปัญหาอะไรหรือมีข้อสงสัยก็ถามเจ้าหน้าที่ได้อย่างสบายใจ เปรียบเสมือนครอบครัวไปแล้ว ทำให้รู้สึกว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาอย่างแท้จริง” นายเคือง บอก