ธ.ก.ส. ชูโครงการ “ชำระดีมีคืน” ทุ่มงบ 1,200 ล้านบาท คืนดอกเบี้ย 20% บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร

ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรและชาวนาคือ เรื่องการกู้ยืมเงินและภาระทางการเงินที่ตามมา ยิ่งช่วงที่ราคาผลผลิตสวนทางกับต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงออกนโยบายและโครงการมากมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เช่น การพักชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าตามศักยภาพ

ล่าสุด ธ.ก.ส. เพิ่มอีกหนึ่งโอกาสใหม่แก่เกษตรกร ชูโครงการ “ชำระดีมีคืน” ทุ่มงบ 1,200 ล้านบาท คืนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง เพื่อบรรเทาภาระทางการเงิน และสร้างวินัยทางการเงินแก่เกษตรกรและชาวนา

โครงการชำระดีมีคืน เป็นโครงการที่ ธ.ก.ส. มุ่งหวังบรรเทาความเดือดร้อนและลดความกังวลในด้านภาระหนี้สินจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยวงเงินราว 1,200 ล้านบาท คาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับผลประโยชน์นี้กว่า 4.1 ล้านราย โดยธนาคารจะคืนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 1,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรและชาวนาโดยตรง มีเงื่อนไขคือเกษตรกรต้องชำระหนี้ครบจำนวน เมื่อชำระหนี้แล้ว สามารถรับการสนับสนุนสินเชื่อใหม่เพื่อนำไปลงทุนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพเพื่อสร้างรายได้

นายสมอาจ เล็กประโคน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและทำสวนผสมผสาน จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นในการเข้าร่วมโครงการชำระดีมีคืนครั้งนี้ โดยเผยว่า กลับมาทำนาได้ 5-6 ปีแล้ว แต่ระหว่างทำนาก็เจอกับอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ฝนตกหนัก ยิ่งฝนตกหนักเท่าไร ราคาปุ๋ยยิ่งขึ้นสูง บางครั้งจ่ายค่าปุ๋ยไป 1,000 บาท เหลือทอนมาแค่ 1-2 บาท ก็เคยมาแล้ว

“การทำนาสมัยก่อนจะใช้แรงงานวัวและกระบือ แต่เดี๋ยวนี้หันมาใช้รถไถนาเพราะสะดวกรวดเร็วกว่า แต่ต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะการจ้างรถไถนารอบหนึ่งเสีย 300-400 บาท แล้วต้องไถนา 2-3 ครั้ง ก่อนจะหว่านข้าว ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อรถไถนา แต่จ้างรถไถและรถเกี่ยวต่อรอบแทน การเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำนาก็จะเพิ่มต้นทุนตรงนี้เข้ามาอีกเยอะ แต่ถ้าใช้การทำนาด้วยวัวหรือกระบือก็ไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน”

ปัจจัยการผลิตที่สูงทำให้เกษตรกรต้องประสบความยากลำบากในการทำนาทุกๆ ปี สวนทางกับราคาผลผลิตที่ต่ำ เงินลงทุนกับรายได้จึงไม่สอดคล้องกัน ซึ่งนายสมอาจกล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นทุนการทำนาต่อหนึ่งครั้งมีราคาที่สวนทางกับรายได้ที่เข้ามา โดยปกติตนเองนำข้าวไปขายที่โรงสี ซึ่งราคาข้าวบางทีก็ 5-7 บาทต่อกิโลกรัม แถมยังมีค่าเก็บเกี่ยว ค่าไถ ค่าหว่าน ขาดทุนทุกปี แต่ก็ต้องจำใจขาย เพราะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่รอการชำระอยู่

ธ.ก.ส. เห็นปัญหาเหล่านี้ที่เกษตรกรต้องพบเจออยู่ทุกปี จึงหาทางแก้ไขโดยจัดโครงการชำระดีมีคืน จัดระเบียบและสร้างวินัยทางการเงินให้เกษตรกร โครงการชำระดีมีคืนช่วยลดภาระดอกเบี้ยของเกษตรกร และช่วยแบ่งเบาภาระของเกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องชำระ ซึ่งมีเงินคืนกลับไปให้สามารถใช้ในครัวเรือนได้ หวังช่วยเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีมากกว่าเดิม

“พอได้ยินว่า ธ.ก.ส. มีโครงการนี้จึงไปศึกษาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และเดินเข้าไปสอบถามที่สำนักงาน ธ.ก.ส. เองเลยว่า มีโครงการนี้จริงไหม รายละเอียดเป็นอย่างไร เพราะมีชาวบ้านหลายคนสนใจ แต่ยังไม่เข้าใจถึงเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากที่ ธ.ก.ส. มีการอบรมและประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ชาวบ้านทุกคนเข้าใจเงื่อนไขโครงการนี้ และรู้ถึงข้อมูลโครงการใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว”

นายสมอาจยังกล่าวเสริมอีกว่า มองว่าโครงการชำระดีมีคืนของ ธ.ก.ส. เป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรทุกคนสร้างวินัยทางการเงินมากขึ้น ส่วนใหญ่ชาวนาและเกษตรกรจะจ่ายหนี้แบบเหลือต้น หรือเหลือดอก น้อยคนที่จะชำระหนี้แบบเต็มจำนวน ผลมาจากหนี้สินของชาวนาที่สะสมเป็นดินพอกหางหมูเป็นระยะเวลานาน แต่โชคดีที่โครงการของ ธ.ก.ส. มีอีกหลายโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรและชาวนา เช่น โครงการประกันรายได้ เกษตรกรจึงมีรายได้เข้ามาเพื่อชำระหนี้ แถมยังสร้างประวัติที่ดีให้ตนเองว่าใครจ่ายดีก็จะมีคืน ถึงเงินที่ได้มาจะช่วยได้เล็กน้อย แต่ดีตรงที่อย่างไรชาวนาก็ต้องจ่ายหนี้ให้ ธ.ก.ส. อยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ดีกับชาวนาที่มีวินัยในการใช้หนี้คืน

“โครงการชำระดีมีคืน ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เข้ามาช่วยเรื่องเงินสนับสนุนแก่เกษตรกร ถ้าถามว่าเงินที่ได้มามันเยอะไหม มันไม่เยอะ แต่อย่างน้อยเงินที่ได้ก็สามารถนำมาช่วยเหลือครอบครัวเพิ่ม แถมยังสร้างประวัติการกู้ยืมเงินที่ดีขึ้นเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต” นายสมอาจ กล่าวปิดท้าย