เพาะเชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซา ร่วมกับพืชเศรษฐกิจ เก็บดอกเห็ดขาย ใต้ร่มเงาตลอดปี ชี้ผลต้นแบบงานวิจัย วช. ที่บ้านบุญแจ่ม แพร่

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกๆ ปี ป่าไม้จะถูกทำลายไปตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ วัน เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในแหล่งชุมชนหมู่บ้านของตนเอง ก็เข้าใจได้…

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง นำคณะผู้บริหารโชว์ผลผลิตจากพืชเศรษฐกิจ ที่ได้จากแปลงทดลองศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ชุมชนไม้มีค่า บ้านบุญแจ่ม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

แต่จากผลสำรวจฐานข้อมูลที่ดินในประเทศไทย ยังมีพื้นที่ว่างเปล่าอีกเยอะแยะมากมาย แต่ขาดอยู่ก็เพียงการเพิ่มพื้นที่ป่าเข้าไปทดแทนส่วนที่ถูกแผ้วถางจนโล่งเตียน นั่นเอง

จึงมีการขับเคลื่อนแนวคิดสร้างผืนป่าในชุมชน ภายใต้ชื่อ โครงการชุมชนไม้มีค่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรรวมถึงชาวบ้านได้ปลูกไม้มีค่า เพื่อเป็นการสร้างแหล่งอาหารและพัฒนาปลูกพืชเศรษฐกิจป่าไม้ในชุมชนของตนเองให้ยั่งยืน โดยมีหน่วยงานหลักเข้ามารับนโยบายในการขับเคลื่อนโครงการนี้คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ยิ้มสวยๆ ผศ.ดร.วรรณา มังกิตะ ทีมคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ กับความสำเร็จผลผลิตเห็ดไมคอร์ไรซา

ผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่ไปติดตามดูงาน พร้อมกับคณะนักวิจัยและหน่วยงานของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่ชุมชนบ้านบุญแจ่ม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ที่ผ่านมา เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการทำงานร่วมกันของคณะนักวิจัยประสบผลสำเร็จ และเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ เพื่อการขยายผลปลูกไม้มีค่า สร้างผืนป่า และต่อยอดไปสู่การสร้างพืชเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ร่มเงาไม้มีค่า อย่างเช่นการเพาะเชื้อเห็ดป่ากลุ่มเห็ดไมคอร์ไรซา ที่จะกล่าวถึงต่อไป

ผู้เขียนยังไม่เข้าใจถ่องแท้ว่า “เห็ดไมคอร์ไรซา” มันคือเห็ดอะไร จึงได้ขอขยายความรู้เพิ่มเติมจาก ดร. สุจิตรา โกศล ในฐานะหัวหน้าโครงการ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซี่งท่านให้ข้อมูลว่า

กลุ่มเห็ดตับเต่าที่เจริญเติบโตง่ายและเก็บขึ้นมาก่อนกำหนด

“เห็ดป่าไมคอร์ไรซา มีหลากหลายชนิดที่ออกดอกในพื้นที่ป่าตามธรรมชาติในช่วงฤดูฝน เป็นที่นิยมรับประทานเนื่องจากมีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง นอกจากนั้นแล้ว เห็ดป่านับว่าเป็นทรัพยากรชีวภาพที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่ป่าจากการเก็บเห็ดขายในแต่ละปีมีรายได้เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเห็ดป่าไมคอร์ไรซาที่มีมูลค่าสูงและนิยมนำมาบริโภค ได้แก่ เห็ดเผาะ (บางพื้นที่เรียกว่า เห็ดถอบ) กลุ่มเห็ดระโงก (ระโงกขาว ระโงกเหลือง และระโงกแดง) กลุ่มเห็ดตะไค (เห็ดตะไคขาว เห็ดหล่มกระเขียว) เห็ดหน้าม่อย เห็ดแดงน้ำหมาก กลุ่มเห็ดมันปู เห็ดน้ำแป้ง และเห็ดตับเต่า เป็นต้น”

เห็ดเผาะ-เห็ดถอบ ที่ได้รับความนิยมตามท้องตลาด

คำว่า “เห็ดป่าไมคอร์ไรซา” เป็นชื่อเรียกของกลุ่มเห็ดในวงศ์เดียวกันกับเห็ดที่กินได้ไม่มีพิษ โดยผ่านกระบวนการเพาะเชื้อเห็ด ทำหัวเชื้อเห็ดในห้องทดลองและวิจัย แล้วนำหัวเชื้อในกลุ่มเห็ดไมคอร์ไรซา แต่ละชนิดนั้นไปใส่ในต้นไม้ พืชป่า รวมถึงต้นกล้าพืชไม้ผลกินได้ชนิดต่างๆ ที่จะปลูกลงดิน ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดเมื่อใส่หัวเชื้อเห็ดก็จะอาศัยอยู่ในรากฝอยของต้นไม้และเจริญเติบโตอยู่ร่วมกันไปอย่างเกื้อกูลกัน

ดร.สุจิตรา ให้ข้อมูลต่ออีกว่า การเจริญของดอกเห็ดไมคอร์ไรซาทุกชนิดต้องอาศัยรากต้นไม้เป็นพืชอาศัย โดยเส้นใยของเห็ดป่าไมคอร์ไรซาจะเจริญอยู่ที่ระบบรากฝอยของพืชชั้นสูงที่เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ เช่น ไม้ป่าวงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) เช่น ยางนา ยางเหียง ยางพลวง เต็งรัง พะยอม ตะเคียนทอง สักทอง เป็นต้น ซึ่งต้นไม้กลุ่มดังกล่าวจะเป็นที่อาศัยของเห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดแดงน้ำหมาก เป็นต้น

ความสมบูรณ์ของเห็ดตับเต่า ใต้ต้นไม้ที่มีอายุ 1-2 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตได้

โดยเห็ดแต่ละชนิดจะอาศัยจับคู่กับชนิดพืชที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนของเห็ดตับเต่าจะมีความจำเพาะกับพืชกลุ่มไม้ผล อาทิ ไม้ดอกพืชไร่ และพืชผัก เช่น มะยงชิด มะปราง ลำไย มะกอกน้ำ หว้า มะม่วง ขนุน ละมุด มะไฟ อะโวกาโด น้อยหน่า หางนกยูงไทย เสลา อินทนิน ตะแบก ชงโค เสี้ยว กาหลง ผักหวานบ้าน แคบ้าน และพืชตระกูลส้ม เช่น มะนาว มะกรูด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ เป็นต้น

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรรณา มังกิตะ หนึ่งในทีมคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอยู่ในพื้นที่และใกล้ชิดกับชุมชนบ้านบุญแจ่มแห่งนี้มากที่สุดให้ข้อมูลในเชิงลึกและเล่าถึงการทดลองในการผลิตหัวเชื้อเห็ดจากดอกเห็ดสดแบบง่ายๆ โดยเริ่มจาก การคัดเลือกเห็ดที่จะนำมาทำหัวเชื้อต้องเป็นดอกเห็ดแก่มีความสมบูรณ์ และเลือกใช้เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเห็ด (หมวกดอก) เพราะจะมีสปอร์อยู่ภายในดอก ซึ่งสปอร์ของเห็ดเป็นส่วนที่จะเจริญพัฒนาไปเป็นเส้นใยเห็ดและไปยึดเกาะติดกับรากของพืช แล้วเส้นใยเห็ดก็จะเจริญพัฒนาไปเป็นดอกเห็ดในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

ภาพแสดงเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดไมคอร์ไรซาที่เกื้อกูลกันกับรากของต้นไม้

เมื่อเก็บดอกเห็ดป่ามาได้ก่อนที่จะนำไปผลิตเป็นหัวเชื้อควรปัดเอาเศษดิน เศษทราย ที่ติดมากับดอกเห็ดออกให้หมด แต่ไม่ควรนำไปล้างน้ำ เนื่องจากสปอร์ที่เกาะติดอยู่ใต้ดอกเห็ดจะถูกชะล้างออกไปด้วย

จากนั้นนำดอกเห็ดสดแก่ 1 ส่วน มาผสมน้ำเปล่าที่สะอาดปราศจากคลอรีน หรือน้ำธรรมชาติ 2 ส่วน ใส่ลงในเครื่องปั่นผลไม้ แล้วปั่นส่วนผสมให้ละเอียดเข้ากันก็จะได้หัวเชื้อเห็ดจากดอกเห็ดสด และสามารถนำไปใส่ลงในต้นกล้าไม้หรือต้นไม้ชนิดที่เป็นพืชอาศัยของเห็ดชนิดนั้นๆ ได้เลย (ดังที่กล่าวไว้ในชุดข้อมูลของ ดร.สุจิตรา โกศล หัวหน้าโครงการ)

นอกจากการผลิตหัวเชื้อเห็ดจากดอกเห็ดสดแบบง่ายๆ แล้ว ในห้องทดลองยังทำการผลิตหัวเชื้อเห็ด ในรูปแบบเส้นใยเห็ดบริสุทธิ์ บนอาหารเลี้ยงเชื้อ ในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ได้หัวเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ 100

% ปราศจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ อาทิ เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือยีสต์ ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะไปทำลายหัวเชื้อเห็ดหรือไปยับยั้งการเจริญเติบโตของกลุ่มหัวเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในรากฝอยของต้นไม้ชนิดนั้นๆ เมื่อนำลงปลูกในแปลงดิน

มาถึงหัวข้อสำคัญ เป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อผลิตหัวเชื้อเห็ดได้แล้ว เป็นขั้นตอนในการใส่เชื้อเห็ดลงในกล้าไม้ ขั้นตอนการปลูกกล้าไม้ และขั้นตอนการบำรุงดูแลต้นไม้ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

คุณนพพร มิ่งสุวรรณ เกษตรกรบ้านบุญแจ่ม กับผลผลิตเห็ดในแปลงทดลองของตนเอง

1. การใส่เชื้อเห็ดลงกล้าไม้

โดยกล้าไม้ที่นำมาใส่เชื้อเห็ดต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ควรมีอายุประมาณ 30-60 วัน ความสูงที่ 20-50 เซนติเมตร และดินในถุงบรรจุกล้าไม้ต้องมีความชื้นเหมาะสมไม่แห้งหรือชื้นแฉะจนเกินไป เพื่อให้เส้นใยเห็ดสามารถเจริญเติบโตไปยึดเกาะกับระบบรากฝอยของกล้าไม้ได้อย่างสมบูรณ์ นั่นเอง

ขั้นตอนต่อมานำหัวเชื้อเห็ดที่เตรียมไว้ใส่ลงในกล้าไม้ ในปริมาตร 20 ซีซี หรือ 2 ช้อนโต๊ะต่อต้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของกล้าไม้และความสูง และอายุของต้นกล้านั้นๆ กับสัดส่วนเชื้อเห็ด 10 ซีซีต่อความสูงของกล้าไม้ 10 เซนติเมตร และควรใส่หัวเชื้อเห็ด 2 รอบ ก่อนจะนำลงปลูกในดิน โดยเว้นระยะแต่ละรอบ 15-30 วัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากล้าไม้จะเจริญเติบโตโดยมีหัวเชื้อเห็ดเกาะติดกับระบบรากไปพร้อมๆ กันด้วย โดยจะสังเกตง่ายๆ เมื่อต้นไม้ที่มีเชื้อเห็ดจะเจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรงกว่าต้นไม้ที่ไม่ได้ใส่เชื้อเห็ด

2. การใส่เชื้อเห็ดลงในต้นไม้ที่ปลูกลงดินไปก่อนหน้านี้แล้ว

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ร่วมปลูกต้นไม้ยางนา

การใส่หัวเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซากับต้นไม้ที่ปลูกลงดินไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงต้นไม้ในธรรมชาติที่เจริญเติบโตและมีขนาดใหญ่ จะต้องใช้หัวเชื้อเห็ดในปริมาณมากๆ เลยทีเดียว แต่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความใหญ่โตของต้นไม้นั้นๆ เนื่องจากระบบรากของต้นไม้ได้พัฒนาขยายแผ่ไปในดิน ตามทรงพุ่มของต้นไม้ อีกทั้งประสิทธิภาพการเกาะติดรากของเชื้อเห็ดที่ใส่ลงไปในภายหลังบริเวณโซนรากของต้นไม้จะมีประสิทธิภาพน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการใส่เชื้อเห็ดลงในกล้าไม้ที่ยังมีอายุน้อยในถุงเพาะชำก่อนนำปลูกลงดิน

ทั้งนี้ เนื่องจากในดินบริเวณที่ต้นไม้เจริญเติบโตในธรรมชาติอยู่นั้นมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ รวมทั้งไมคอร์ไรซาชนิดอื่นๆ มีอาศัยอยู่มาก่อนแล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้น โอกาสที่เชื้อไมคอร์ไรซาซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่ใส่ลงไปใหม่ที่บริเวณโซนรากก็จะไปยึดเกาะกับรากพืชและแข่งขันกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ในดินอยู่ก่อน โอกาสที่เชื้อเห็ดใหม่ที่ใส่ลงไปจะติดกับรากพืชจึงมีโอกาสน้อยลง

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ปลูกต้นไม้ลงดินไปก่อนหน้านี้แล้วและประสงค์จะใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาเพิ่มเติมเข้าไปใหม่เพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและเพื่อผลผลิตของต้นไม้ และคาดหวังว่าจะมีโอกาสเกิดดอกเห็ดขึ้นในพื้นที่ป่าหรือต้นไม้ของตนเอง ก็สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

ผลผลิตเห็ดตับเต่าในแปลงทดลองใต้ต้นหางนกยูงไทย

ขั้นตอนแรก เตรียมหัวเชื้อเห็ดที่ต้องการให้เหมาะสมกับชนิดพืชต้นไม้ชนิดนั้นๆ ซึ่งเป็นที่อาศัยของเห็ด แล้วนำหัวเชื้อเห็ด 1 แก้ว หรือประมาณ 250 ซีซี ผสมกับน้ำเปล่าสะอาด ปริมาตร 5 ลิตร ผสมคนให้เข้ากันในบัวรดน้ำ จากนั้นนำไปรดรอบโคนต้นไม้ให้พอชุ่ม แล้วใช้จอบเปิดหน้าดินบริเวณโดยรอบโคนต้นไม้ก็จะเห็นรากฝอย แล้วราดเชื้อเห็ดตรงบริเวณโซนรากฝอยอีกครั้ง จากนั้นใช้หน้าดินเดิมกลบกลับคืนรอบๆ โคนต้น แล้วนำฟางหรือใบไม้มาคลุมทับโดยรอบอีกชั้น ทิ้งไว้ในระยะ 3 วันแรก ไม่ควรรดน้ำหลังใส่เชื้อเห็ด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เชื้อเห็ดส่วนที่เป็นเส้นใยจะเริ่มตั้งตัวและพัฒนาไปเกาะติดกับรากพืช ใต้ต้นไม้ต้นนั้นต่อไป

3. การดูแลกล้าไม้หลังจากใส่เชื้อเห็ดในถุงเพาะชำ

ในส่วนของกล้าไม้ในถุงเพาะหลังจากนำเชื้อเห็ดไปใส่แล้ว ให้นำไปวางไว้บริเวณที่ร่มที่มีแสงแดดรำไร ไม่ควรรดน้ำในระยะ 1-3 วัน เพื่อให้เส้นใยเห็ดได้ตั้งตัวและเจริญเกาะติดที่ระบบรากของกล้าไม้ในถุงเพาะ และอย่าให้ดินในถุงกล้าไม้แห้ง ควรรดน้ำพอชุ่ม อย่ารดน้ำจนแฉะ ผ่านไป 1 สัปดาห์ใบของกล้าไม้อาจจะแสดงอาการเหลืองเหี่ยวแสดงว่าเชื้อเห็ดเข้าไปอยู่ในระบบรากของกล้าไม้แล้ว จากนั้นต้นไม้ในถุงเพาะจะค่อยๆ ฟื้นตัวภายใน 1-2 สัปดาห์ ให้พักต้นกล้าไว้ประมาณ 1 เดือน เมื่อต้นไม้แข็งแรงจึงนำไปลงดินปลูกต่อไป

นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา และเมล็ดพันธุ์พืชต้นกล้าแต่ละชนิด

คราวนี้ก็มาถึงการเลือกสถานที่พื้นดินพร้อมที่จะนำกล้าไม้ที่ใส่เชื้อเห็ดแล้วนำปลูกลงดิน ควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้นค่อนข้างสูงและห่างไกลจากการใช้สารเคมี ยาปราบศัตรูพืช และต้องเป็นพื้นที่ดินร่วนปนทรายหรือดินเหนียวปนทราย และควรเลือกปลูกในช่วงฤดูฝนหรือต้นฝน ซึ่งเหมาะกับสภาพอากาศที่ชุ่มชื้นไม่ร้อน ต้นกล้าก็จะตั้งตัวได้เร็ว โดยกำหนดระยะห่างที่ปลูก 4×4 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการแย่งน้ำ ธาตุอาหาร และแสงแดด ส่วนกล้าไม้ชนิดพืชดอก เช่น ต้นแคบ้าน ต้นหางนกยูงไทย ซึ่งมีขนาดลำต้นไม่ใหญ่มาก สามารถปลูกที่ระยะห่าง 2×2 หรือ 3×3 เมตรก็ได้

การขุดหลุมปลูกควรขุดให้ลึกกว่าถุงเพาะกล้าไม้ ลงไปอีก 2 เท่า และรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ผสมคลุกเคล้าจนเข้ากันกับหน้าดิน แล้วกลบจนเต็มหลุมรดน้ำและปล่อยให้บริเวณโคนต้นเป็นร่องเพื่อกักเก็บน้ำ ไม่ให้ไหลออก

กลุ่มเห็ดตับเต่าที่เจริญเติบโตง่ายและเก็บขึ้นมาก่อนกำหนด

เมื่อนำกล้าไม้ที่ใส่หัวเชื้อเห็ดลงดินปลูกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วง 1-3 ปีแรก ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีใดๆ ทั้งสิ้น และไม่ควรรบกวนหน้าดินให้ดินแน่นและหาเศษใบไม้ใบหญ้ามาคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้รากได้ฟูขึ้นมาหาอาหารบริเวณหน้าดิน ซึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นให้เห็ดออกดอกได้เร็วขึ้นกว่ากำหนด

ในกรณีตัวอย่างต้นหางนกยูงไทย ในแปลงทดลองของเกษตรกรบ้านบุญแจ่ม คุณนพพร มิ่งสุวรรณ ที่ใส่เชื้อเห็ดตับเต่า เมื่อต้นหางนกยูงไทยอายุได้ 1-2 ปี ก็มีผลผลิตดอกเห็ดตับเต่าออกมาให้เห็น ส่วนต้นมะขามป้อมเห็ดจะออกเมื่ออายุ 2-3 ปี และถ้าให้น้ำเพิ่มความชื้นอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้การออกดอกเห็ดได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะเห็ดตับเต่าสามารถให้ผลผลิตมีดอกเห็ดได้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว 

คุณนพพร มิ่งสุวรรณ เกษตรกรบ้านบุญแจ่ม กับผืนป่าด้านหลังที่กำลังเจริญเติบโตพร้อมกับเห็ด

คุณนพพร บอกว่า เห็ดตับเต่าในแปลงของตนเองมีขนาดแตกต่างกันไป น้ำหนักราว 100-700 กรัมต่อดอก และที่สมบูรณ์ที่สุดในบางพื้นที่มีน้ำหนักถึงกิโลครึ่งเลยทีเดียว ส่วนราคาขายตกกิโลกรัมละ 250 บาท ด้านรสชาติของเห็ดก็จะเหมือนกับเห็ดป่าในธรรมชาติทั่วไปที่ออกดอกปีละครั้ง ส่วนเห็ดในแปลงทดลองของตนเองจะออกตลอดทั้งปี (คุณนพพรว่าอย่างนั้น)

นับเป็นความสำเร็จไปอีกขั้นในการสร้างผืนป่าคืนระบบนิเวศและปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาในพื้นที่ต้นแบบศูนย์เรียนรู้ เพื่อการเกื้อกูลของทุกภาคส่วนและชุมชนต้นแบบ ที่บ้านบุญแจ่ม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่

สอบถามข้อมูล ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบได้ที่ คุณนพพร มิ่งสุวรรณ เกษตรกรบ้านบุญแจ่ม โทร. 091-068-7903 ยินดีให้ข้อมูล