5 แนวคิดสร้าง “แบรนด์ชุมชน” พิชิตใจผู้บริโภคยุคดิจิทัล

ปัจจุบันชุมชนสามารถสร้างงานและมีรายได้เพิ่มจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งค้าขายและท่องเที่ยว เนื่องจากชุมชนมีจุดแข็งของศักยภาพด้านปัจจัยการผลิต มีแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น รวมทั้งคนในชุมชนมีความเข้มแข็งช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังขาดการสนับสนุนในการสร้างจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักได้ เนื่องจากปัญหาที่สำคัญคือ ชุมชนไม่มีสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ (Branding) และส่วนใหญ่ยังขาดความสร้างสรรค์-รสนิยมเข้าไป ทำให้ไม่เกิดจุดเด่นและเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ซื้อและนักท่องเที่ยว รวมถึงการได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ชุมชนยังขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาเติบโตและขยายผล ตลอดจนขาดทักษะความรู้ ความสามารถในการประกอบการ ขาดการวางแผนการดำเนินงานที่ดี ขาดการสนับสนุนด้านการตลาดเพื่อการแข่งขัน รวมไปถึงขาดงบประมาณสนับสนุน

ดังนั้น การนำจุดอ่อนที่สามารถแก้ไขได้ มาเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ประสบความสำเร็จ ต้องเข้าใจในผลิตภัณฑ์จึงจะสามารถสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้ ซึ่งการสร้างแบรนด์ถือเป็นหัวใจหลักการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีตัวตน โดยจะต้องทำการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์-อัตลักษณ์ต่างๆ เพื่อสร้างภาพจำให้แก่ผู้พบเห็น-ให้เกิดความประทับใจ โดยอาศัยหลักการและแนวคิด 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ (Leadership)

ชุมชนมีปัจจัยการผลิต ทรัพยากร แรงงาน ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หากมีผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ ความคิดก้าวหน้า เห็นทรัพยากรในท้องถิ่นที่มีอยู่นำมาปรับเปลี่ยนแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ค้นหาความโดดเด่นในด้านเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อเพิ่มมูลค่า ก็จะมีส่วนสำคัญทำให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

2. กระบวนการคิดการออกแบบ (Concept Design)

เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญต้องเน้นการสื่อสารการออกแบบ (Design) ของผลิตภัณฑ์ให้มีสไตล์-รสนิยม เพิ่มเสน่ห์ของชุมชน ใส่ความสร้างสรรค์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสกับผลิตภัณฑ์และมาท่องเที่ยวในชุมชน

3. การสร้างแบรนด์ (Branding) ของชุมชน

มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสินค้าให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งชุมชนที่ต้องการขายผลิตภัณฑ์จะต้องนึกถึงการสร้างแบรนด์มาเป็นอันดับแรก เพื่อให้เป็นภาพจำที่เกิดประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น ทั้งนี้ จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ให้มีความสร้างสรรค์ ใส่รสนิยม สื่อสารภาพที่อยู่ในแบรนด์อย่างตรงไปตรงมา และนำแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนที่สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ

4. บรรจุภัณฑ์สินค้า (Packaging)

จะต้องมีความแข็งแรง ทนทาน รูปทรงสวยงาม รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์จะต้องมีรูปภาพที่โดดเด่นสมดุลกับหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ มีสีสันสวยงามใช้คู่สี (Pantone) ซึ่งการออกแบบต้องคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งาน (User Friendly) และมีความเป็นมาตรฐานสากลด้วย

5. การสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จต้องคำนึงถึงธีมคอนเซ็ปต์ (Theme)

เพื่อร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกัน เริ่มจากชุมชนหมู่บ้าน ผลิตภัณฑ์ชุมชน และกิจกรรมที่สร้างสรรค์ DIY (Do It Yourself) เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงคุณค่าของสินค้า ส่งผลให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน

“การสร้างแบรนด์” เป็นหัวใจหลักสำคัญในการสร้างภาพจำให้แก่ผู้บริโภค คือการสื่อสารแบบตรงไปตรงมา แล้วเพิ่ม Lifestyle ใส่รสนิยมลงไป จากนั้นร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่า (Storytelling) ด้วยเสน่ห์ของชุมชนท้องถิ่น เพื่อทำให้ผู้บริโภคเห็นรูปภาพบนผลิตภัณฑ์แล้วเกิดความเข้าใจได้ง่าย

“ชุมชน” ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องควรดำเนินการสร้างแบรนด์ (Branding) ของชุมชน ทั้งในส่วนของสินค้า-บริการ และการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้วิสาหกิจชุมชน-ผู้ประกอบการในจังหวัดประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ-ที่ปรึกษา ที่เป็นมืออาชีพทำงาน เพื่อปรับรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐาน คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร และนำแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนที่สอดคล้อง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ เพื่อการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

แหล่งอ้างอิง : กลุ่มพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

________________________________________

Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ

สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิกหรือสายด่วน 1333