ชนิดของท่อประปาและการเลือกใช้งานให้เหมาะสม

ท่อประปาเป็นสิ่งสำคัญในการจัดวางระบบน้ำประปา เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อใช้ตามจุดประสงค์ที่หลากหลาย โดยท่อประปาที่ใช้กันก็มีหลากหลายชนิด วันนี้เราจึงจะมาแนะนำให้รู้จักชนิดของท่อประปา พร้อมแนะนำการใช้งานที่เหมาะสมที่สุด

 

ชนิดของท่อประปา

1. ท่อประปาเหล็กอาบสังกะสี

ท่อประปาเหล็กชุบสังกะสี ท่อเหล็กกล้าที่ผ่านการอาบสังกะสีเพื่อป้องกันการเกิดสนิม มีความทนทานกว่าเหล็กทั่วไป ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในท้องตลาดเพราะมีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงทนทาน สามารถต๊าปเกลียวได้ง่าย เหมาะสำหรับใช้ระบบงานประปา งานเดินท่อลำเลียง ท่อชลประทาน งานเดินสายไฟนอกอาคาร และงานขึ้นรูปโครงสร้างต่างๆ สามารถใช้กลางแจ้งหรือใกล้ทะเลได้

2. ท่อ PVC

ท่อ PVC (Poly Vinyl Chloride) นิยมใช้สำหรับการเดินงานประปาและไฟฟ้าภายในบ้าน มีน้ำหนักเบา หาง่าย หากใช้งานกับระบบประปาก็จะทนต่อแรงดันน้ำได้ดี หากใช้กับระบบไฟฟ้าก็จะสามารถกันกระแสไฟฟ้าได้ เพราะไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า โดยจะแบ่งการใช้งานเป็นสีคือ สีเหลืองใช้สำหรับร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ สีฟ้าใช้กับระบบน้ำ สีเทาใช้สำหรับการเกษตรหรือน้ำทิ้ง อย่างไรก็ตาม ท่อ PVC ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานระบบน้ำร้อน

3. ท่อไซเลอร์

ท่อไซเลอร์ ท่อเหล็กบุ PE มีคุณสมบัติป้องกันสนิมอุดตัน แข็งแรง และรับน้ำหนักได้ดี น้ำที่ไหลผ่านใสสะอาด รสชาติของน้ำและความใสของน้ำไม่เปลี่ยนแปลง โดยท่อไซเลอร์เหมาะสำหรับติดตั้งในโรงแรม อาคารขนาดใหญ่ หรือโรงงานที่ต้องการใช้น้ำประปาแรงดันสูง

4. ท่อพีพีอาร์

ท่อพีพีอาร์ ท่อสำหรับงานประปาโดยเฉพาะ เพราะมีความแข็งแรง ทนแรงดันได้ดี ข้อต่อและท่อผสานเป็นเนื้อเดียวกันด้วยการหลอมให้ความร้อน ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำรั่วซึม ท่อพีพีอาร์สามารถใช้เป็นท่อน้ำดื่มได้ เหมาะสำหรับใช้ติดตั้งในบ้านพักอาศัย คอนโดฯ อาคารขนาดเล็กและใหญ่

5. ท่อ PE

ท่อ PE (Polyethylene) ท่อพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีการใช้งานเป็นทั้งท่อน้ำและท่อร้อยสายไฟ ดัดโค้งงอได้ดี เหมาะสำหรับใช้ในงานสวน งานเกษตร งานท่อประปาสาธารณะ แต่ไม่สามารถนำมาใช้งานกับระบบน้ำร้อนได้

Advertisement

การเลือกท่อประปาให้เหมาะสมกับการใช้งานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะท่อประปาแต่ละชนิดก็เหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรเลือกท่อประปาที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ระบบประปามีคุณภาพ ปลอดภัย และมีระยะเวลาการใช้งานยาวนาน