สาหร่ายผักกาดทะเล พืชเศรษฐกิจสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ

ที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันก่อน พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร.) และคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของฟาร์มฯ การนี้องคมนตรีและคณะ ได้รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานและการพัฒนาด้านต่างๆ จากผู้แทนกรมประมง การดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำภายในฟาร์มฯ จากผู้แทนกรมชลประทาน โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากสาหร่ายผักกาดทะเล องคมนตรีได้ให้ความสนใจพร้อมแนะนำเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลว่า ควรให้มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี เข้าร่วมและนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นเมนูอาหารจากสาหร่ายชนิดนี้

สำหรับสาหร่ายผักกาดทะเลนั้น เป็นผลมาจากที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรีและฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาจนได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นผลให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสามารถจำหน่ายได้เกิดอาชีพที่มั่นคง มีชีวิตที่ดีขึ้น ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเชิงเศรษฐกิจขึ้นมาและได้สาหร่ายชนิดใหม่คือสาหห่ายผักกาดทะเล

นายประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เปิดเผยว่า ในปลายปี 2565 ได้ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลขึ้น เพราะเป็นสาหร่ายที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีอายุการเลี้ยงสั้นเพียง 3 สัปดาห์ ได้ผลผลิตมากกว่า 3 เท่า จากจำนวนต้นพันธุ์ที่ปล่อยลงเลี้ยง มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ และยังนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้ทุกวิธี


“ศูนย์วิจัยประมงชายฝั่งได้ร่วมกับฟาร์มทะเลตัวอย่างขยายผลให้เกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรขยายผลที่มีฟาร์มสาธิต 3 ราย ซึ่งมีผลผลิตจำหน่ายในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ยังจัดฝึกอบรมในเรื่องการเลี้ยงสาหร่ายทะเลเชิงพาณิชย์ ได้อบรมแล้ว 1 รุ่น ก็คือประมาณ 70 ราย เน้นเกษตรกรของจังหวัดเพชรบุรีเป็นหลัก และคิดว่าในระยะต่อไปในเดือนกรกฎาคมจะมีการอบรมในรุ่นที่ 2 ต่อไป” นายประพัฒน์ กล่าว

ด้าน วรรภา อ่อนจันทร์ ฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นแฟมิลี่ฟาร์ม ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการเลี้ยงและจำหน่ายสาหร่ายพวงองุ่นแล้ว แต่เมื่อมีฟาร์มเพาะเลี้ยงมากขึ้นขณะที่กำลังซื้อลดลง ทำให้ปัจจุบันราคาของสาหร่ายพวงองุ่นตกลงมาก เมื่อได้รับการเชิญชวนเป็นหนึ่งใน 3 ฟาร์มสาธิต เข้าอบรมการเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลที่โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงเข้าอบรมในช่วงต้นปี 2566 ได้เรียนรู้วิธีการเลือกต้นพันธุ์ การเพาะเลี้ยงจนถึงการแปรรูป

“เริ่มต้นโดยได้ต้นพันธุ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพชรบุรี เอาต้นพันธุ์ 5 กก.มาใส่ในถัง โดยที่ฟาร์มใช้ถังไฟเบอร์ขนาด 500 ลิตร ซึ่งถัง 500 ลิตรใช้สาหร่ายครึ่งกิโลกรัม คือใส่ได้10 ถัง ในการเพาะเลี้ยงเราใช้น้ำจากบ่อที่เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น คือ ค่าความเค็มของน้ำอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือ อยู่ที่ประมาณ 28 – 32 ppt จะมีการถ่ายน้ำเข้าออก แล้วก็ช่วยเติมสารอาหารโดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพเป็นพวกปลาทะเล ที่ฟาร์มไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะฟาร์มจะขอมาตรฐานออแกนิกส์ด้วย” วรรภา กล่าว

เจ้าของฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นแฟมิลี่ฟาร์ม เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่าในการผลิตนั้นจะจำหน่ายสาหร่ายผักกาดทะเลในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตสาหร่ายพวงองุ่นมีปริมาณลดลง จึงทำให้ทางฟาร์มมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันกรมประมงได้กำหนดราคาจำหน่ายสาหร่ายผักกาดทะเลไว้ที่กิโลกรัมละ 500 บาท

สำหรับสาหร่ายผักกาดทะเล หรือ Sea Lettuce นั้นเป็นสาหร่ายที่มีศักยภาพด้านโภชนาการสูงเพราะมีโปรตีนถึง 25 – 30 กรัม และใยอาหาร 9.79 เปอร์เซ็นต์ มีไขมันและพลังงานที่ต่ำ อุดมด้วยเกลือแร่วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ มีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และ โอเมก้า 9 โดยเฉพาะ EPA และ DHA ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลายรูปแบบ ทั้ง ต้ม ผัด แกง ทอดและยำ โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ปัจจุบันมีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง