เร่งสร้างและพัฒนาเครือข่ายพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาหารศึกษา มุ่งเป้าในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา จัดประกวดโครงการส่งต่อองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหาร

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า โครงการสร้างระบบอาหารศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มุ่งเป้าเพื่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาหารศึกษา ในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาโดยการพัฒนาองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหารกับอาจารย์ในสถานศึกษาเขต ภาคะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 10 แห่ง เพื่อให้อาจารย์นำความรู้ดังกล่าวไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนในสถานศึกษา

ซึ่งมีการดำเนินการใน 3 เรื่อง 1. การประสานความร่วมมือ (Network Building) 2. การพัฒนาองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหารกับอาจารย์ในสถานศึกษา 3. การสร้างเครือข่ายส่งต่อองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหารในสถานศึกษา

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เล็งเห็นและได้ผลักดันการพัฒนาด้านการมาตรฐานอย่างครบวงจรในห่วงโซ่อาหารมาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค เพื่อสร้างกระแสความต้องการสินค้าคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งโรงเรียนหรือสถานศึกษา เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการให้ความรู้ด้านการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย เนื่องจากการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพทางโภชนาการและปลอดภัยต่อสุขภาพ ตลอดจนพอเพียงกับความต้องการของร่างกายจะส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัยแล้ว เด็กนักเรียนจะได้รับความรู้ ความเข้าใจเรื่องบริโภคอาหารที่ปลอดภัยแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งเด็กเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างโรงเรียนกับที่บ้านและชุมชน

นางสาวเสริมสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา มกอช. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหาร คือ 1. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สร้างระบบอาหารศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร” เมื่อวันที่ 3 – 4 เมษายน 2561 ที่จังหวัดขอนแก่น 2. จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน “การทำการเกษตรตามหลักการปฏิบัติที่ดี และเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2561 ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จังหวัดปทุมธานี ทั้ง 2 กิจกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหารกับอาจารย์ในสถานศึกษาโดยให้ความรู้ใน เรื่อง ของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประยุกต์ใช้ในสถานศึกษา, การเกษตรในโรงเรียนด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง การเลือกซื้อเลือกบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย และการประกอบอาหารที่มีคุณค่าสะอาดและปลอดภัยเพื่อให้อาจารย์สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมส่งต่อความรู้ในสถานศึกษาของตนเอง

“การพัฒนาองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหาร และการสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความรู้ ความเข้าใจ ในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย เพื่อลดการเกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์หรือสารเคมี มกอช. จึงได้บูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานศึกษา ดำเนินการสร้างระบบอาหารศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการมาตรฐาน โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในห่วงโซ่อาหาร การปลูกฝังทัศนคติในการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคทุกระดับ สร้างความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับในสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานภายใต้สัญลักษณ์ Q รวมทั้งยังให้การศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารกับเยาวชนในสถานศึกษาเพื่อให้องค์ความรู้และค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหาร”

เลขาธิการยังกล่าวต่อไปว่า มกอช. ได้จัดการประกวดโครงการส่งต่อองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหารให้กับนักเรียนในสถานศึกษา โดยให้สถานศึกษาวางแผนและออกแบบกิจกรรมส่งต่อองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหารให้กับนักเรียนในสถานศึกษาของตนเอง และให้เสนอโครงการดังกล่าวมาเพื่อให้คณะกรรมการของ มกอช. ร่วมกันพิจารณาสนับสนุนงบในการดำเนินโครงการส่งต่อองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหารในสถานศึกษา ซึ่งผลการตัดสินของคณะกรรมการจากสถานศึกษา 10 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนั้น รางวัลที่ 1 ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์ “โครงการการผลิตการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย” รางวัลที่ 2 ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 50 จังหวัดขอนแก่น “โครงการส่งต่อองค์ความรู้ในห่วงโซ่อาหารตามวิถีพอเพียงเพื่อสุขภาพที่ดีของลูกราชประชา 50” รางวัลที่ 3 ได้แก่ โรงเรียนศรีไผทสมันต์ จังหวัดสุรินทร์ “โครงการผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” รางวัลชมเชย ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 จังหวัดหนองคาย “โครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพนักเรียน”

การได้รับรางวัลถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบอาหารศึกษาทั้งระบบ โดยเริ่มจากโรงเรียน และเด็กนักเรียน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ซึ่งเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และปลูกฝังทัศนคติการผลิต และการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและปลอดภัยแก่นักเรียน เลขาธิการกล่าว