วช. นำสื่อมวลชนดูงานวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน ณ จังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานวิจัย “ประเทศไทย
ไร้หมอกควัน : HAZE FREE THAILAND” ระหว่าง วันที่ 11 – 12 กุมภาพันธ์ 2562 ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่


ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน แต่งานวิจัยที่ผ่านมาเป็นการวิจัยขนาดเล็กที่เป็นลักษณะงานวิจัยแยกส่วน จึงทำให้ยังไม่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ระดับภูมิภาคและระดับประเทศได้

วช. จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยขนาดใหญ่แบบบูรณาการ เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ และบูรณาการองค์ความรู้จากสหสาขาวิชาการต่างๆ ที่ผลงานวิจัยมีความสำเร็จพร้อมประยุกต์ใช้ได้ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ภายใต้แผนงานวิจัยตอบสนองต่อนโยบาย/เป้าหมายรัฐบาล โครงการวิจัยท้าทายไทย ในหัวข้อ “ประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand)” ในปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นมา และมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแกนหลักร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการเกษตรในภาคประชาชน และสร้างอาชีพใหม่ๆ ที่ช่วยเสริมและทดแทนอาชีพเดิมที่ปลูกพืชหมุนเวียนที่ต้องเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดปัญหาหมอกควันทุกปี และปีนี้กลุ่มคลัสเตอร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติโดยเข้ามาทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรดิน การพัฒนาและอนุรักษ์ดินให้เป็นรูปธรรมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว ซึ่ง วช. หวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาหมอกควันในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร. เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง หัวหน้าโครงการวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน (HAZE FREE THAILAND) กล่าวว่า โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน (HAZE FREE THAILAND) เป็นการขยายผลการดำเนินงานวิจัยและกิจกรรมต่อจากปี 2559 โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อลดปัญหาหมอกควันอย่างเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดน่าน ด้วยการจัดทำแผนการบริหารจัดการบริโภคในระดับครัวเรือน ลดปัญหาหนี้สินโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรมีอาชีพทางเลือกมากขึ้น และการติดตามประเมินภาวะหมอกควันเพื่อการบริหารจัดการโดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจกับการเกิดมลพิษทางอากาศ และพัฒนาเครื่องมือช่วยตัดสินใจในการกำหนดนโยบายและกลไกลเชิงพื้นที่เพื่อลดสาเหตุหมอกควันในภาคเหนือ ด้วยการศึกษาบริบทของพื้นที่ที่มีผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากปัญหาการเผาไหม้ที่จะนำข้อมูลไปเผยแพร่สู่สาธารณชนและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการให้ปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินอันส่งผลต่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ที่เป็นการจัดการปัญหาหมอกควันทางต้นน้ำได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน

Advertisement