โรงเรียนวัดท่าชัย นครนายก ทำเกษตร ในโครงการพระราชดำริฯ

โรงเรียนวัดท่าชัย ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ก่อตั้งมาภายใต้การอุปการะของวัดท่าชัย เริ่มต้นจากการสอนบนหอฉัน ภายในวัดท่าชัย มี ครูทา จิตหนัก เป็นครูใหญ่คนแรก และเป็นครูคนเดียว นอกเหนือจากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาช่วยสอน ทำให้วัน เดือน ที่ก่อตั้งไม่ปรากฏแน่ชัด มีเพียงปี พ.ศ. ที่ระบุไว้ว่าก่อตั้งเป็นโรงเรียนประชาบาล ต่อมา พ.ศ. 2475 ชาวบ้านกับเจ้าอาวาสร่วมกันสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น 1 หลัง เป็นอาคารไม้ ใต้ถุนสูง มี 3 ห้องเรียน รับนักเรียนได้ประมาณ 90 คน

น่าเสียดาย หลังจากนั้นไม่ถึง 10 ปี โรงเรียนก็ต้องรื้ออาคารเรียนออกทั้งหมด เพราะแม่น้ำนครนายกเปลี่ยนทิศทางเดินกระแสน้ำ ทำให้พัดกัดเซาะตลิ่งพังใกล้เข้ามากับอาคารเรียน จึงจำเป็นต้องรื้อย้ายอาคารเรียนออกมาปลูกสร้างฝั่งตรงข้ามกับวัดท่าชัย โดยมีชาวบ้านมอบที่ดินให้ จำนวน 3 ไร่ เพื่อปลูกสร้างอาคารเรียน ถึงปัจจุบันมีอาคารเรียน 2 หลัง ยกพื้นสูง อาคารอเนกประสงค์ ศาลาใช้สอย และอื่นๆ ตามแต่ที่โรงเรียนควรจะมี

แม้ว่าพื้นที่จะมีไม่มากนัก แต่ที่น้อยกว่าพื้นที่ และสัดส่วนไม่พอดีกัน คือ จำนวนครูและนักเรียน

บุคลากรครูที่สอนได้มีเพียง 4 ท่าน ส่วนนักเรียน แม้ว่าจะเปิดการเรียนการสอนระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ก็มีนักเรียนอยู่เพียง 49 คน

ถึงแม้สัดส่วนพื้นที่และจำนวนบุคลากรครูและนักเรียนจะไม่สัมพันธ์กัน แต่กิจกรรมที่ทำร่วมกันกลับดำเนินไปได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ในจำนวน 3 ไร่ ที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียน แปลงเกษตร ถูกจัดสรรไว้กระจัดกระจาย ไม่ได้ต่อเนื่องอยู่บนพื้นที่เดียวกัน เพราะความจำเป็นในพื้นที่ตั้ง แต่พื้นที่ทั้งหมดที่นับเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของโรงเรียนก็มีไม่น้อย คิดเป็นพื้นที่ได้เกือบ 3 งาน ถึงแม้จะดูน้อยกว่าโรงเรียนแห่งอื่น แต่สำหรับที่ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่าเหมาะสมแล้ว

อาจารย์มณีชัย ชูราษี

อาจารย์มณีชัย ชูราษี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าชัย เล่าว่า โรงเรียนวัดท่าชัย เป็น 1 ใน 20 โรงเรียน ในพื้นที่จังหวัดนครนายก ที่เป็นโรงเรียนในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับครูและผู้ปกครอง ให้ร่วมกันทำการเกษตรในโรงเรียน แล้วนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวัน ซึ่งโรงเรียนได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมโรงเรียนวัดท่าชัยเป็นการส่วนพระองค์ โดยเสด็จเยี่ยมห้องเรียนทุกชั้นเรียน ทรงเสด็จเยี่ยมห้องสมุด ห้องศูนย์สื่อ ห้องประกอบอาหาร แปลงเกษตร เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2532 และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้โรงเรียนวัดท่าชัยเป็นโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ ดำเนินกิจกรรมตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ

“จริงๆ โรงเรียนก็ทำเรื่องของการเกษตรมานานแล้ว แต่เป็นรูปเป็นร่างจริงจังที่มีหน่วยงานมาช่วยสนับสนุนก็เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับไว้เป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ”

อาจารย์นพดล พุทธไทย

การจัดการการเกษตรภายในโรงเรียน แต่ละปี กิจกรรมจะไม่ครบถ้วนทุกกิจกรรม เนื่องจากผู้ดูแลหลักเรื่องของการทำการเกษตร มี อาจารย์นพดล พุทธไทย ซึ่งมีความรู้เรื่องการเกษตรอยู่เพียงท่านเดียว ทั้งยังมีอาจารย์ผู้สอนทั้งหมดเพียง 4 ท่าน เท่านั้น ในการเรียนการสอนทุกระดับชั้น

ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าชัย กล่าวอีกว่า เมื่อเป็นโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนจึงมีความตั้งมั่นดำเนินรอยตามพระราชปณิธาน และมุ่งมั่นทำการเกษตรอย่างครบวงจร เมื่อมีอุปสรรคก็พยายามจนสุดความสามารถ เพราะเป้าหมายสำคัญจริงๆ คือ เพื่อให้เด็กนักเรียนมีพื้นฐานการเกษตรติดตัวไป สามารถนำไปใช้เมื่อเจริญเติบโตในอนาคต

แปลงเกษตรของโรงเรียนแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นแปลงเกษตรสำหรับปลูกผักสวนครัว หรือ พืชอายุสั้น เป็นแปลงขนาดเล็ก ตั้งชื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมว่า สวนเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีโรงเห็ดนางฟ้า ทั้งแบบเพาะในโรงเรือนและเพาะในตะกร้า ถัดไปในพื้นที่ มีโรงเรือนไก่ไข่ จุไก่ไข่ได้ประมาณ 100 ตัว

ในแต่ละปีการศึกษา การเลี้ยงไก่ไข่เป็นกิจกรรมที่ไม่เคยขาด แม้โรงเรือนจะจุไก่ไข่ได้ถึง 100 ตัว แต่ก็ไม่ทุกปีการศึกษา เพราะแต่ละปีมีหน่วยงานให้การสนับสนุนพันธุ์ไก่บ้าง หรือไม่รับการสนับสนุนบ้าง หากไม่ได้รับการสนับสนุน โรงเรียนจะซื้อพันธุ์ไก่ไข่มาเลี้ยงไว้ ประมาณ 50 ตัว ในแต่ละวันจะเก็บไข่ได้ประมาณ 40-60 ฟอง หากเลี้ยงในจำนวน 50 ตัว ตามความสามารถของโรงเรียน นอกจากนี้ยังทำแปลงปุ๋ยหมักไว้ในภายในโรงเรียนเองด้วย

อีกแปลงเกษตรที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน จัดให้เป็นแปลงปลูกมะนาวนอกฤดู กล้วย สมุนไพร ใกล้กันเป็นบ่อซีเมนต์สำหรับเลี้ยงปลาดุกและเลี้ยงกบ

แต่ทุกกิจกรรมการเกษตรของโรงเรียนจะยุติลงก่อนปิดภาคเรียน เนื่องจากไม่มีบุคลากรดูแลระหว่างปิดภาคเรียน ส่วนไก่ ปลา หรือ กบ ก็จะขายให้กับตลาดชุมชนไป เมื่อเปิดภาคเรียนมาในแต่ละปีการศึกษาก็จะเริ่มเลี้ยงใหม่ แม้ว่าจะไม่ต้องการทำเช่นนี้ แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย อาจารย์นพดล พุทธไทย ครูเกษตรและผู้อำนวยการโรงเรียนก็มีความเห็นตรงกันให้ขายเมื่อปิดภาคเรียน เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของใคร

การจัดการพื้นที่เกษตรภายในโรงเรียน อาจารย์นพดล กล่าวว่า ทุกๆ กิจกรรม เมื่อได้ผลผลิตจะนำเข้าระบบสหกรณ์ของโรงเรียน เพื่อเบิกจ่ายมาใช้ในโครงการอาหารกลางวัน ส่วนที่เหลือจะมีผู้ปกครองเข้ามาซื้อถึงโรงเรียน หากยังมีปริมาณมากก็จะนำไปขายยังตลาดนัดชุมชนใกล้เคียง

“ไก่ไข่ ไม่อยากขาย แต่ก็ต้องขาย เพราะปิดเทอมเราไม่มีคนดูแล ส่วนปลาดุก ก็จะจับไปขายตลาด กบก็เหมือนกัน ระยะหลังปลาดุกและกบเลี้ยงบ้างไม่ได้เลี้ยงบ้าง เพราะต้นทุนเรื่องของอาหารสูง โรงเรียนรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว” อาจารย์นพดล กล่าว

ส่วนการดูแลพื้นที่เกษตรทั้งหมดให้เป็นหน้าที่ของเด็กนักเรียนในการแบ่งกลุ่มเพื่อทำหน้าที่รดน้ำต้นไม้ กำจัดวัชพืช ให้อาหารไก่ เก็บไข่ ให้อาหารปลา ให้อาหารกบ ทำกองปุ๋ยหมัก อาจารย์นพดลทำหน้าที่เพียงดูแลอยู่ห่างๆ หากเกิดปัญหานักเรียนจะเข้ามาปรึกษา เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาอาจารย์นพดลบอกว่า ยังไม่พบปัญหาใดๆ เพราะเด็กนักเรียนรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเด็กนักเรียนที่เข้ามาจัดการแปลงเกษตรทั้งหมด เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ก็จะเข้ามาเรียนรู้ในแปลงเกษตร เฉพาะวิชาการงานพื้นฐานอาชีพเท่านั้น

เด็กชายทวีศักดิ์ โพธิ์นอก หรือ น้องเขียว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า ผมชอบปลูกผักมากที่สุด เพราะเป็นกิจกรรมการเกษตรที่ง่าย การดูแลเรื่องการปลูกผักสวนครัวไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก่อนปลูกควรบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์ก่อน การดูแลหลังการปลูกก็มีเพียงการรดน้ำ การให้ปุ๋ยหมัก และกำจัดวัชพืชเท่านั้น เมื่อถึงได้ผลผลิตก็เก็บไปให้กับโครงการอาหารกลางวัน แบ่งปันให้น้องๆ ได้กินทั่วกัน

ด้าน เด็กชายอนุชา สังสมศักดิ์ หรือ น้องฟาร์ม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า ผมดูแลเรื่องการเลี้ยงปลาและเลี้ยงกบ แต่ก็มีเพื่อนๆ ช่วยกันตลอด ไม่ได้ให้ทำคนเดียว ต้องคอยดูว่ากบหรือปลาดุกเวลาให้อาหารกินอิ่มหรือยัง ถ้ายังก็ให้เพิ่ม ถ้าอิ่มแล้วก็ไม่ควรให้มากเกินไป เพราะจะทำให้น้ำเสีย เมื่อต้องการถ่ายน้ำก็จะถ่ายน้ำออกแล้วนำน้ำใหม่เข้าไป น้ำที่ถ่ายออกมาจะนำไปรดน้ำต้นไม้ เพราะเป็นปุ๋ยอย่างดี

ส่วน เด็กหญิงพรทิพย์ พูลมงคล หรือ น้องแพร เล่าว่า ชอบการเลี้ยงไก่ไข่ เพราะชอบเก็บไข่ และการเลี้ยงไก่ทำได้ไม่ยาก ในทุกวันตอนเช้าจะเข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ ให้อาหารและน้ำ จากนั้นช่วงบ่ายเก็บไข่ และตอนเย็นให้อาหารไก่อีกครั้ง ในแต่ละวันจะเก็บไข่ได้ประมาณ 50-80 ฟอง ขึ้นอยู่กับจำนวนไก่ที่เลี้ยงไว้ ส่วนตัวอยากนำไปทำที่บ้าน แต่ต้องใช้เงินทุนในการทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ หากอนาคตประสบปัญหาตกงานก็สามารถนำความรู้ด้านการเกษตรที่เก็บสะสมประสบการณ์มาใช้เป็นอาชีพได้

การเรียนการสอนของโรงเรียนวัดท่าชัย เป็นการเรียนการสอนที่มีบุคลากรผู้สอนน้อย จึงจำเป็นต้องจัดให้เด็กนักเรียน 2 ชั้นเรียนเรียนในห้องเรียนเดียวกัน หันหน้าเข้าหากระดานดำคนละด้าน โดยมีอาจารย์เพียงคนเดียวสอนในชั่วโมงเรียน นอกจากนี้ ยังเป็นการเรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมาจากวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ซึ่งท้ายที่สุด อาจารย์มณีชัยบอกว่า การจัดการเรียนการสอนก็ทำไปตามระบบเท่าที่บุคลากรและจำนวนนักเรียนมี ส่วนการจัดการแปลงเกษตรก็ต้องการทำให้นักเรียนได้รับความรู้เป็นพื้นฐานด้านเกษตรให้มากที่สุด และหากมีผู้ใหญ่ใจดีต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนกิจกรรมทุกรูปแบบเกี่ยวกับการเกษตร โรงเรียนก็ยินดี โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ด้านวิทยาการการเกษตรสมัยใหม่

ติดต่อได้ที่ อาจารย์มณีชัย ชูราษี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดท่าชัย หมู่ที่ 4 ถนนนครนายก-ท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก โทรศัพท์ (086) 024-1350