ศูนย์ส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ วังน้ำเขียว ปลูกสำนึก ปลุกชีวิต เยาวชนรักษ์เกษตร

พื้นที่วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่เป็นที่รู้จักในมุมของแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อากาศบริสุทธิ์อยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งยังติดอันดับเป็นพื้นที่ที่มีโอโซนสูงในระดับโลก ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวตลอดทั้งปี

คุณอำนาจ หมายยอดกลาง

แม้ว่าพื้นที่เกือบทั้งหมดยังคงเป็นพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงมีทั้งที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว และการทำเกษตรกรรม อยู่ร่วมกัน
เช่นหลายปีก่อน ที่ คุณอำนาจ หมายยอดกลาง เข้ามาเริ่มทำการเกษตรบนที่ดินที่มีสภาพเสื่อมโทรม มีการตัดไม้ทำลายป่า สภาพแวดล้อมถูกทำลายด้วยการเผาป่า เผาเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร สภาพดินเสื่อมโทรม จากการใช้สารเคมี

โดยขณะนั้นคุณอำนาจมีแนวคิดในการแก้ปัญหา เพื่อให้การดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรมได้ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน   เมื่อเกิดการรวมตัว โดยแกนนำกลุ่มที่เข้มแข็งอย่างคุณอำนาจ จึงทำให้เกิดกลุ่มกสิกรรมไร้สารพิษขึ้น

ซึ่งเมื่อรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมไปในแนวทางเดียวกัน จึงเกิดการรวมตัวในรูปของสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษ ในเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอวังน้ำเขียว จำกัด (โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ขึ้น

และยังเป็นกลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียว ผลิตผักปลอดสารพิษ โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิก 70 ราย และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รวมทั้งสิ้น 47 ราย มีโรงคัดบรรจุ ได้รับการรับรองมาตรฐานการรวบรวมผักอินทรีย์และคัดบรรจุอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร โดยผลผลิตพืชผักที่กลุ่มรวมๆ นั้น จะส่งไปขายในตลาดตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ และในเขตจังหวัดนครราชสีมา

ขณะที่พื้นที่ที่คุณอำนาจเข้ามาบุกเบิกในยุคแรก ได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่ฝึกอบรมและสาธิตกิจกรรมการเพาะปลูกโดยไม่พึ่งพาสารเคมี และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรที่สนใจการปลูกผักไม่ใช้สารเคมี ในพื้นที่คนละ 2 งาน งดเว้นการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยนำเศษอาหารที่เหลือใช้ในครัวเรือนและเศษพืชในแปลงเพาะปลูกมาหมักได้จุลินทรีย์ และทำปุ๋ยหมักชีวภาพ สารสมุนไพรไล่แมลงแทนสารเคมี

นอกเหนือจากเกษตรกรที่สนใจ ยังพบว่า เยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติก็ให้ความสนใจในแนวทางนี้ไม่น้อย เพราะระยะหลังพบว่า มีเยาวชนจากหลายสถาบันการศึกษาติดต่อเข้ามายังศูนย์ เพื่อขอเข้าฝึกอบรมและสาธิตการเพาะปลูกโดยไม่พึ่งสารเคมี และดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

คุณอำนาจ บอกว่า ระบบการศึกษาของบ้านเราส่งเสริมให้เด็กต้องมีช่วงเวลาของการฝึกอบรม ทำให้มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ให้ความสนใจทางด้านเกษตรกรรม และเห็นการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ผ่านโซเชียลมีเดีย จึงเลือกที่จะเข้ามาฝึกอบรมกับศูนย์ ซึ่งศูนย์มีระเบียบในการอยู่ร่วมกัน หากเด็กที่เข้ามาฝึกอบรมทำได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร

“เงื่อนไขที่นี่หลักๆ พยายามให้เด็กอยู่ในกรอบด้วยการตัดสินใจใช้ชีวิตของตนเอง ไม่มีกติกามาบังคับให้ปฏิบัติ เด็กอยู่ที่นี่เหมือนอยู่บ้าน ก่อนมาเราบอกก่อนว่า ที่ศูนย์มีวิถีชีวิตแบบไหน หากรับได้ก็เข้ามา เงื่อนไขง่ายๆ คือ อาหารที่กินร่วมกันในศูนย์เป็นการกินอาหารแบบมังสวิรัติ และงดอบายมุขทุกประเภท”

คุณอำนาจ บอกว่า ทางศูนย์จะอธิบายกิจกรรมภายในให้กับเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ได้เข้าใจ โดยกิจกรรมภายในศูนย์ มีเรื่องของการจัดตั้งสหกรณ์ ธนาคารหมู่บ้าน การปลูกพืชแบบผสมผสาน การปลูกข้าวเพื่อการบริโภค การทำปุ๋ยชีวภาพ การแปรรูป

รวมถึงการปลูกผักปลอดสารพิษ ที่เป็นกิจกรรมหลักนำส่งไปยังสหกรณ์ จำหน่ายไปยังกรุงเทพฯ และนครราชสีมา
เยาวชนที่ก้าวเข้ามาเรียนรู้ที่นี่ สิ่งที่ต้องเตรียมคือ ความพร้อมในการเรียนรู้ เพราะค่าที่พัก ค่าอาหาร ศูนย์ดูแลให้ครบถ้วน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มีข้อแม้ ที่คุณอำนาจบอกไว้ คือ การกินอาหารมังสวิรัตและการไม่แตะต้องอบายมุขทั้งหมด ส่วนการแบ่งกิจกรรมการเรียนรู้นั้น ขึ้นกับเด็กว่าในแต่ละวันวางแผนว่าจะศึกษาเรื่องใดอย่างไร ซึ่งหากจะให้ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการฝึกอบรม ควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยพิจารณาจากรอบผลผลิตที่สั้นที่สุด และไม่มีการประเมินใดๆ ทั้งยังแบ่งความรับผิดชอบข้างต้นไว้ตามจำนวนเยาวชน คือ เยาวชน 3 คน ต่อการจัดการแปลง 2 ไร่

ในแต่ละปี มีเยาวชนผ่านการอบรมจากศูนย์ราว 20-30 คน
ใน 1 ปี มี 3-4 รอบ แต่ละรอบมีเยาวชนมาใช้ชีวิตร่วมกัน 7-10 คน

คุณอำนาจ บอกว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเริ่มหลักสูตรการอบรมสำหรับผู้สนใจ ระยะเวลา 3 เดือน จำนวนผู้เข้ารับการอบรมต่อรุ่น จำนวน 30 คน โดยไม่กำหนดเฉพาะเกษตรกรหรือเยาวชนเท่านั้น เพราะต้องการเผยแพร่ความรู้ทางด้านเกษตรอินทรีย์ การอยู่ร่วมกันอย่างมีมิติ

เด็กชายพศวีร์ ศรีอรุโณทัย หรือ น้องน๊อป นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนปัญโญทัย กรุงเทพฯ พร้อมเพื่อนรวม 3 คน เล่าว่า โรงเรียนอนุญาตให้หาสถานที่สำหรับฝึกประสบการณ์ทางการทำเกษตรกรรมปลอดสาร เป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งที่ผ่านมา 2 สัปดาห์ ได้เรียนรู้เรื่องของการเผาถ่าน การปลูกผักโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ซึ่งหลังจากกลับไปเรียนแล้ว มีหลายสิ่งที่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ที่โรงเรียนได้

นักเรียนจากโรงเรียนปัญโญทัย กรุงเทพฯ

นางสาววรรณสิริ อนันต์ประกฤติ หรือ น้องขนุน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนปัญโญทัย กรุงเทพฯ บอกว่า รู้สึกโชคดีที่โรงเรียนมีกิจกรรมการฝึกประสบการณ์ทางการเกษตรแบบนี้ เพราะทำให้ได้ออกมาเรียนรู้ชีวิตจริง การดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ปกครองไม่ว่าทั้งยังสนับสนุน โดยส่วนตัวชอบการเกษตรมาก และคิดว่า เมื่อครบกำหนดฝึกอบรม 1 เดือน จะกลับไปปลูกต้นไม้ที่บ้านให้มากขึ้น

นายวัชระ ธรรมวรางกูร อดีตครูสอนศิลปะ

สำหรับ นายวัชระ ธรรมวรางกูร อายุ 31 ปี อดีตครูสอนศิลปะ เป็น 1 ในจำนวนเยาวชนที่เข้ามาฝึกอบรมในครั้งนี้ บอกว่า ตนและเพื่อนรวม 3 คน สนใจเรื่องของการปลูกผักอินทรีย์ การดำรงชีวิตในแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งที่นี่สอนครบทุกด้าน แม้จะไม่มีครูหรือเจ้าหน้าที่สอน และเราต้องเรียนรู้เองจากเกษตรกรตัวจริง แต่ก็ทำให้เราได้รู้จักวางแผน และลงมือปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน

กลุ่มนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรกรรมเพชรบุรี

ในจำนวนเยาวชนทั้งหมด มีนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรกรรมเพชรบุรี จำนวน 5 คน ขอฝึกประสบการณ์พร้อมกัน ได้แก่ นายสุทธิพล กล่ำชื่น นายชนาธิป หลังขาว นายมนตรี ก้งทอง นายนิรุต เรืองอร่าม และ นายจอแม้คู้ รักจงเจริญ ทั้งหมดเป็นนักศึกษาชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาพืชศาสตร์ และการเข้ามาฝึกประสบการณ์ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่เรียนมา

โดยนายสุทธิพล เป็นตัวแทนเพื่อนๆ เล่าว่า ทั้ง 5 คน ต้องวางแผนในตอนเย็นหรือค่ำของทุกวัน ว่า ในวันรุ่งขึ้นเราทั้งหมดจะไปศึกษาเรื่องอะไร ในแต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน

และต้องลงความเห็นพ้องกันในการเรียนรู้แต่ละประเภท เพราะทั้งหมดเป็นการทำงานกลุ่ม ซึ่งการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครั้งนี้ ใช้เวลา 3 เดือน ก็ต้องกลับไปสรุปให้กับอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาฟังถึงประสบการณ์ที่ได้รับ

นางสาวปรียาภรณ์ มณี

ส่วน นางสาวปรียาภรณ์ มณี หรือ น้องปริม นักศึกษาภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาพร้อมเพื่อนอีก 1 คน เล่าว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยจะได้ประสบการณ์ทางวิชาการ แต่การออกมาฝึกประสบการณ์จริงเช่นนี้ จะได้ประสบการณ์ที่แท้จริง

ซึ่งการเลือกมาฝึกยังศูนย์แห่งนี้ เนื่องจากภาคใต้ มีศูนย์ที่มีคุณภาพ แต่ก็เป็นศูนย์ที่เน้นและให้ความสำคัญไปที่พืชเศรษฐกิจสำคัญในภาคใต้ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไม้ผลอื่นที่เป็นพืชในภูมิภาค แต่เนื่องจากที่นี่ให้ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกผักอินทรีย์ หรือผักปลอดสารพิษที่ชัดเจน ทั้งตนเองและเพื่อนต้องการเรียนรู้ด้านนี้ จึงเลือกมาที่นี่

“หนูกับเพื่อน ต้องฝึกประสบการณ์นาน 3 เดือน การอยู่ที่นี่ก็เหมือนอยู่บ้าน ในแต่ละวันไม่มีใครมาบังคับเราให้เราทำอะไร แต่เราต้องรู้ตนเองว่า ทุกวันเราควรวางแผนเพื่อใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา หนูและเพื่อนรู้สึกผูกพันกับที่นี่ และได้รับประสบการณ์ที่เชื่อว่าในรั้วมหาวิทยาลัยไม่มีแน่นอน ซึ่งสิ่งที่ได้รับที่เห็นชัดเจน คือ การคิด การวางแผน การจัดการภายในแปลง และการทำการเกษตรในทุกขั้นตอน”

ในทุกๆ ปี ศูนย์ส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา แห่งนี้ ผลิตเยาวชนที่มาซึบซับประสบการณ์ทางด้านการเกษตรไม่น้อยกว่า 20-30 ชีวิต ไม่นับรวมเกษตรกร หรือบุคคลในอาชีพอื่นที่มีความสนใจในเกษตรกรรม

ซึ่งคุณอำนาจ ทิ้งท้ายไว้ว่า เราภูมิใจและดีใจที่ได้เผยแพร่ประสบการณ์อันมีค่าให้กับเยาวชนไทยและผู้สนใจทุกคน ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจากที่นี่ จะมีวิถีชีวิตที่มีความสุขกับการทำเกษตรกรรมด้วยธรรมชาติ และดำเนินตามเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างมีความสุข