“คลุก ดิน ฟิน เฟร่อ” กับคูโบต้า

บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้จัดกิจกรรม “KUBOTA Smart Farmer Camp 2018” ภายใต้แนวคิด คลุก ดิน ฟิน เฟร่อ เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในเรื่องของการทำเกษตร ด้วยการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ พร้อมทั้งกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจการทำอาชีพเกษตรมากขึ้น

โดยกิจกรรมจะประกอบด้วยการให้ความรู้ในเรื่องของดิน ทั้งการตรวจและวิเคราะห์สภาพดิน พร้อมทั้งการบำรุงรักษาดินอย่างถูกวิธีกับเกษตรกรตัวจริง รวมไปถึงการลงพื้นที่จริงและเปิดมุมมองการทำเกษตรในยุค 4.0 (Precision Farming) ในชุมชนเกษตรต้นแบบที่มีความเข้มแข็งอย่างศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า จังหวัดอุดรธานี พร้อมทั้งร่วมรับฟังประสบการณ์ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้กล้าคิด กล้าทำ กล้าที่จะนำการเปลี่ยนแปลงแบบคนรุ่นใหม่จากผู้มีประสบการณ์

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีฐานการให้ความรู้เกี่ยวกับเกษตรต่างๆ ทั้งหมด 5 ฐาน ได้แก่ โรงสีมีดีกว่าได้ข้าว ตามรอยพ่อแบบพอเพียง ไร่นาสวนผสม 30 ไร่เงินล้าน นมคืออะไรรู้ไหมน้องจ๋า อนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อเยาวชนจะได้รู้ถึงวิธีการทำเกษตรที่แตกต่างของเกษตรกรแต่ละท่าน ได้สัมผัสการดำนา ได้ขับรถอัดหญ้าพร้อมทั้งการตรวจสอบคุณภาพของดินต่างๆ

เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้จะได้พบกับประสบการณ์แปลกใหม่ ที่หาไม่ได้ในห้องเรียนมหาวิทยาลัย น้องๆ จะได้คลุกคลีใกล้ชิดกับชุมชนที่เข้มแข็งและอบอุ่น พร้อมทั้งเรียนรู้ผ่านสิ่งที่ชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันทำจนประสบความสำเร็จและใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่นำเสนอแนวคิดและไอเดียที่จะต่อยอดให้ชุมชนเติบโตก้าวหน้าไปอีก

คุณสมศักดิ์ มาอุธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สำหรับกิจกรรม KUBOTA Smart Farmer Camp 2018 ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แล้ว ได้เห็นความสำคัญของเยาวชนและคิดว่าเยาวชนคงจะช่วยเราในเรื่องของการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศไทยให้ก้าวหน้า

ก่อนหน้านี้ก็ได้มีการเล่าให้น้องๆ ที่เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ฟังว่า ปัจจุบันในประเทศไทยเกษตรกรมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 57 ปี เกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีลูกหลานก็ไม่ได้อยากให้มาทำนาทำไร่ เพราะว่ามันลำบาก เราจึงคิดว่าปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีเครื่องจักรกลที่ลดความลำบากในการทำเกษตรเหล่านี้ลงไปได้ เป็นสิ่งที่เราสามารถชักจูงเกษตรกรในวัยหนุ่ม วัยสาว มาทำนามาช่วยในชุมชนหรือท้องถิ่นของตัวเอง

คุณสมศักดิ์ มาอุธรณ์

เคยไปเยี่ยมเกษตรกรที่ทำนาเกี่ยวข้าว ได้ถามว่าเป็นอย่างไรบ้างเวลาเกี่ยวข้าว ชาวเกษตรทุกคนส่วนใหญ่จะบอกว่าปวดหลัง แล้วทำยังไงถ้าปวดหลัง เกษตรกรก็บอกว่าต้องทำใจ ซึ่งการปวดหลังมันก็ส่งผลต่อกระดูกและสุขภาพร่างกายของเกษตรกรเอง

ปัจจุบันนี้ประเทศเราเริ่มมีการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ ประมาณ 15 ปี แล้วที่มีการใช้รถแทรกเตอร์เข้ามา สยามคูโบต้าของเราก็มีตั้งแต่รถปลูกข้าว เครื่องบำรุงรักษา เก็บเกี่ยวข้าวหรือว่าหลังเก็บเกี่ยวข้าวก็ตาม เรามีครบถ้วนหมดแล้ว เครื่องจักรกลการเกษตรเหล่านี้ก็ช่วยให้เกษตรกรลดความลำบากลงได้ เป็นแรงบันดาลใจให้กับวัยรุ่นหนุ่มสาวกลับมาช่วยพัฒนาท้องถิ่น

วันนี้ก็คงจะได้ยินนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของเกษตร 4.0 เป็นการที่เรานั้นได้พัฒนาก้าวไปอีกหนึ่งขั้น ทุกคนคงทราบกันดีอยู่ว่าเกษตรกรได้รับความเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของธรรมชาติ ความเสี่ยงของราคาพืชผลที่ตกต่ำ ความเสี่ยงของโรคแมลงทั้งหลาย สิ่งที่จะลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้คือความรู้ และการที่ทุกคนทำการเกษตรอย่างพิถีพิถันหรืออย่างประณีตนั่นเอง

แต่เดิมมีวิธีทำการเกษตรแบบดั้งเดิม หากจะทำแบบประณีตคงลำบาก นึกถึงเวลาหว่านข้าวลงในนา เวลาข้าวโตขึ้นมาก็จะไม่เป็นระเบียบวัชพืชก็ขึ้น เวลาที่จะเข้าไปกำจัดวัชพืชก็ยากต้องใช้การพ่นยา ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องของสุขภาพและคุณภาพของข้าวด้วย เพราะไม่สามารถเดินเข้าไปกำจัดวัชพืชในนาได้ แต่พอใช้เป็นเครื่องจักรในการปลูกข้าวนั้น ข้าวก็จะเป็นระเบียบมากขึ้น มีช่องว่างหรือระยะห่างที่สม่ำเสมอกัน เวลากำจัดวัชพืชก็ไม่ต้องใช้ยาสามารถเดินเข้าไปกำจัดวัชพืชได้ง่ายขึ้น การใช้ยาต่างๆ ก็ลดน้อยลง

ปัจจุบันก็มีการใช้โดรนเข้ามาช่วยก็ทำให้การทำนานั้นง่ายขึ้นมาอีกขั้น การปลูกข้าวที่เป็นระเบียบนั้นข้อดีก็คือว่าแสงอาทิตย์ส่องถึงต้นข้าวหรือลำต้นได้ทั่วถึง พวกโรคแมลงก็จะลดน้อยลงก็เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามา

เยาวชนที่เข้ามาสมัครในปีนี้มีประมาณ 1,200 คน ปีนี้เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับดิน ได้มีการเน้นย้ำในเรื่องของการรักษา มีอยู่ 3 อย่างที่อยากให้ทั้งเยาวชนและเกษตรกรเองได้รักษาเอาไว้ นั่นคือ น้ำ ดิน พันธุ์พืช ที่บอกให้ช่วยกันรักษาเพราะว่าน้ำต้องรู้จักการเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้งาน เป็นสิ่งสำคัญในการปลูกพืชที่สุด เรื่องของดินต้องดูแลให้ดินไม่เสียหาย ไม่ทำลาย หรือการบำรุงดิน การปลูกพืชหลังนาเพื่อให้ดินนั้นได้กลับมามีชีวิต อย่างสุดท้ายเป็นตัวพันธุ์พืชที่ตนเองปลูกให้ดี มีวิธีในการคัดเลือกพันธุ์ที่ดีเอาไว้

ส่วนปีนี้ได้เน้นในเรื่องของดิน เหตุที่เน้นในเรื่องของดินเพราะว่าดินเป็นแหล่งอาหารที่พืชจะเจริญเติบโต แหล่งที่จะนำพาน้ำไปสู่ต้นข้าว แหล่งที่ทำให้ต้นข้าวหรือต้นพืชต่างๆ นั้นยืนลำต้นได้แข็งแรง อาหารในดินก็มีประโยชน์ต่อพืชเหมือนกัน

ที่ผ่านมาบ้านเราก็มีปัญหาหลายอย่างที่เกี่ยวกับดิน เช่น การปลูกพืชที่ไม่บำรุงรักษาดิน ทำให้ดินขาดธาตุอาหาร ตอนนี้เราก็มีการรณรงค์ส่งเสริมในเรื่องของการปลูกพืชหลังนา ปลูกถั่วเขียวหลังนา เพื่อฟื้นให้ดินกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

การใส่ปุ๋ย

ความต้องการของพืชมีอยู่ 2 เรื่อง คือ ต้องการธาตุอาหารในปริมาณที่ตรงความต้องการของพืชและต้องการในเวลาที่ตรงต่อความต้องการของพืช แต่ที่ผ่านมานั้นความไม่ประณีตนั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ปุ๋ยที่ไม่ตรงต่อเวลา มากน้อยบ้าง พอให้มากก็เกิดปัญหาของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามมา โดยที่ใส่ปุ๋ยก็เหมือนกับเราตำน้ำพริกละลายแม่น้ำทิ้งไปโดยที่พืชไม่ได้ประโยชน์อะไร วันนี้สิ่งหนึ่งที่เราจะสอนนั่นก็คือการตรวจคุณสมบัติของดิน การตรวจธาตุอาหารในดิน เพื่อให้มีความรู้ว่าควรที่จะใส่ปุ๋ยอะไรให้เหมาะสมกับดิน เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้

เฉลี่ยปริมาณของเยาวชนต่อปี
เข้ามาสมัครโครงการน้อยหรือมากขึ้น

เนื่องจากปีนี้รับสมัครจากกลุ่มนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยก็จะอยู่อายุประมาณ 20 ปี และปีนี้เป็นปีแรกที่รับนักศึกษาสายเกษตรและวิศวกรรม ที่ผ่านมานั้นก็มีการผสมผสานหลายๆ สาย อย่างปีที่ผ่านมาคนในสายที่ต่างกันบางคนก็พูดเก่ง บางคนก็พูดไม่เก่ง บางทีเวลาที่คุยกันก็คนละภาษา เพราะฉะนั้น ปีนี้ก็เลยทดลองกำหนดเป้าหมายตรงๆ เลยว่าเอาเกษตรกรรมและวิศวกรรมมาอยู่ด้วยกันจะช่วยส่งเสริมกันอย่างไรบ้าง เป็นปีแรกที่ใช้วิธีนี้ แล้วก็มาคัดเลือกเหลือ 100 คน จาก 1,200 คน

ทางคูโบต้าร่วมกับ สสนก. (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร) ตอนนี้สามารถที่จะพยากรณ์เรื่องของน้ำ ฝน และปริมาณในลุ่มน้ำต่างๆ ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้หากสามารถที่จะเชื่อมโยงให้เกษตรกรได้รับรู้พร้อมทั้งนำมาใช้ก็จะบริหารเรื่องของน้ำได้ดีขึ้น มีโครงการพระราชดำริเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ให้ปลูกพืชสลับกันและขุดบ่อน้ำ สิ่งเหล่านี้เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็จะทำให้มีการต่อยอด ช่วยส่งเสริมให้เรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นไปอย่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ท่านทรงดำริขึ้น

ทางสยามคูโบต้าก็จะมีการติดตั้งระบบ GNSS (Global Navigation Satellite System) ที่เครื่องกลด้วย เพื่อที่จะรู้ได้ว่าเครื่องจักรนี้ทำงานอยู่ที่ตำแหน่งใด การควบคุมเครื่องจักรให้ไถได้ตรงแนว ไถให้ได้ความลึกตามกำหนด อนาคตเรื่องของระบบที่จะติดตั้งตามการเติบโตของพืชมันก็จะตามมาอีก อีกอย่างที่อยากให้เกษตรกรคือ วันนี้ต้องไม่ปลูกพืชตามยถากรรม ไม่ปลูกพืชตามดินฟ้าอากาศสภาพของพืชจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยมันไป แต่วันนี้เกษตรกรต้องเพาะปลูกด้วยความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริง ทั้งในเรื่องของเครื่องจักร เรื่องของน้ำ ดิน สภาพอากาศ การบำรุงรักษา และเรื่องของพันธุ์พืชต่างๆ คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรยั่งยืนและดูแลตัวเองได้ในต่อไป

ประสบณ์ความสำเร็จหรือไม่ในการจัดกิจกรรมนี้

คุณสมศักดิ์ บอกว่า ในความคิดของสยามคูโบต้านั้นคิดว่าประสบผลสำเร็จ เพราะดูจากตัวเลขนักศึกษาที่สมัครเข้ามาแต่ละปีเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ ปีนี้อาจมีการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปโรดโชว์ในมหาวิทยาลัยอีก ที่ผ่านมาทุกๆ ปี มีนักศึกษาไทยจากต่างประเทศมาสมัครทุกปี บินมาร่วมกิจกรรมในช่วงปิดเทอมด้วย การรู้ข่าวสารส่วนใหญ่มาจาก Facebook เว็บเพจ เป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะจดจำคูโบต้า วันข้างหน้าหากสามารถสร้างความรู้เหล่านี้ได้มากขึ้นเพียงพอที่จะเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี

โอกาสวันข้างหน้าคงจะมีทั้งเรื่องของเครื่องจักร เรื่องของดูแลการตลาดเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะเกษตรกรก็ไม่ค่อยถนัดเรื่องของการผลิตนั้นก็มีเยอะเหมือนกัน ปัญหาเรื่องการเกษตรของเยาวชนที่ขาดอยู่นั้นอาจจะเป็นเรื่องของการปลูกพืช หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าการปลูกพืชนั้นมีหลายขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น บางความรู้หากเข้าใจวิธีของชุมชนที่เขาทำมา วิธีของแต่ละชุมชนก็มาจากการจดจำหรือบรรพบุรุษบอกว่าการปลูกเป็นอย่างไร ถ้าสิ่งเหล่านี้มาเป็นความรู้ที่ตกผลึกแล้ว จะมีประโยชน์อย่างมาก

ยกตัวอย่างเช่น ชาวนาคนญี่ปุ่นกับชาวนาคนไทยอธิบายเรื่องการปลูกข้าวเรื่องเดียวกันแต่คนละภาษา ชาวญี่ปุ่นจะพูดถึงการดูว่าข้าวอายุกี่วันควรให้ปุ๋ย ให้น้ำอย่างนี้ หากจะวัดสีข้าวคลอโรฟิลล์ ในข้าวจะมีเท่าไร แต่เกษตรกรบอกว่าเขาจะดูว่าข้าวเป็นอย่างนี้จะต้องให้ปุ๋ยกับน้ำอย่างไร ดูสภาพใบข้าวเป็นอย่างไรถึงจะต้องเพิ่มปุ๋ย

พูดเรื่องเดียวกันแต่อีกคนพูดเรื่องตัวเลข อีกคนพูดเรื่องจากประสบการณ์ที่เรียนรู้มา เอา 2 อย่างนี้มาผสมกันได้และยิ่งเป็นความรู้ของข้าวไทยก็จะเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนให้เยาวชนและเกษตรกรนั้นได้ความรู้มากขึ้นไปอีก ถ้าเยาวชนสามารถกลับมายืดอายุเกษตรกรได้ก็เป็นเรื่องที่ดีของประเทศไทย

กลุ่มวิสาหกิจทำนาห้วยตาดข่า (แปลงใหญ่) หนองวัวซอ

พ่อสีลา ภูจำเริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจทำนาห้วยตาดข่า บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 8 บ้านหนองแวนฮี ตำบลหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี บอกว่า ก่อนที่ชาวบ้านจะมารวมกัน แต่ก่อนสมาชิกแค่ 70 คน ได้มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจ เพิ่มขึ้นจาก 70 เป็น 112 คน พื้นที่ทำการเกษตร 1,200 ไร่ ในชุมชนที่มารวมกันทำมีอยู่ 2-3 หมู่บ้าน

การทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตรรู้สึกว่าช่วงหลังมามันสามารถลดต้นทุนได้จริง เพราะว่าแต่ก่อนจ้างแรงงานเป็นคน ค่าแรงก็จะอยู่ที่ 300-350 บาท มีการดูแลอย่างอื่นอีก รวมถึงกับข้าวที่จะเลี้ยงแรงงานด้วย พอมีเครื่องจักรกลเข้ามาแทนแรงงานคนทำให้ลดต้นทุนได้จริง การทำงานนั้นก็มีความเร็วขึ้น สะดวก แต่ก่อนใช้คนงานเก็บเกี่ยวข้าว 10-20 คน นา 7-10 ไร่ ยังไม่เสร็จ

ทุกวันนี้มีเครื่องจักรกลมาใช้ในกลุ่มก็ทำให้การทำงานนั้นรวดเร็ว ได้การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มาก ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ชาวบ้านที่ทำนาเยอะๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องจักรกลเป็นของตัวเอง ส่วนมากเกษตรกรทั้งหลายจะเข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจมีการบริการจัดหาภายในกลุ่ม ไม่จำเป็นต้องใช้หรือซื้อหมุนเวียนกันใช้

ทางสยามคูโบต้าให้ความรู้ แต่ทุนนั้นมีการกู้มาจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การชำระคืนนั้นเป็นรายปี มีการเก็บจากเกษตรกรชาวบ้าน เช่น การเก็บเกี่ยวแบบใช้รถ 1 ไร่ จะตกอยู่ที่ 200-250 บาท ต้องดูพื้นที่ว่าหากข้าวยืนต้นไม่ล้ม เกี่ยวง่ายก็ถูกลง ถ้าเป็นข้าวล้มมันเกี่ยวยาก มีน้ำ มีตมด้วย จะอยู่ที่ 900-1,000 บาท ต่อไร่

แถวพื้นที่นี้ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเหนียว ข้าว กข ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเหนียวดำ มะลิ 105 ก็มีเหมือนกันแต่อยู่ในอันดับรองลงไป ส่วนนาของพ่อสีลาปีนี้ทำอยู่ 20 ไร่ ทำได้ปีละครั้งเพราะชุมชนอยู่นอกเขตชลประทานอาศัยธรรมชาติอย่างเดียว นอกจากนั้น ก็เป็นพืชหลังนา โครงการปลูกถั่วเหลือง ปอเทือง ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และไว้บริโภค

การทำนาของพ่อสีลา

นาของพ่อสีลาได้ถูกเลือกเป็นนาตัวอย่าง เดือนเมษายน-พฤษภาคม เริ่มเตรียมดินแล้ว พอเดือนมิถุนายนก็เตรียมกล้า บ้านเราเตรียมหว่านกล้า แต่ก่อนใช้รถดำนา ปลูกกล้าลงในถาด 1 ไร่ ก็จะอยู่ที่ 7-10 กิโลกรัม จะไม่เกินนี้ประมาณ 30 ถาด ต้องดูด้วยว่า 30 ถาดที่เตรียมไว้นั้นต้นกล้าดีหรือไม่ ถ้าต้นกล้าดีก็จะเหลือประมาณ 2-3 ถาด ต้องมีการสำรองไว้เพราะในนามันก็มีทั้งหอยและปู มีทั้งน้ำที่ระบายออกไม่หมดมันทำให้ต้นกล้านั้นเสียได้

ปีนี้พื้นที่มันแล้งพ่อสีลาจึงใช้วิธีการหยอดเป็นส่วนใหญ่ มันจะมี 2 แบบ คือการปักดำด้วยมือและใช้รถดำเอา แต่แปลงที่ต้องปักด้วยมือเป็นเพราะว่าบังคับน้ำยาก หอย ปู ก็เยอะเลยดำด้วยมือเอง หากใช้เครื่องจักรดำนานั้น 1 วันก็ได้เยอะ ถ้าปรับสภาพดินได้ดี วันเดียวดำนาได้เป็น 10 ไร่ แต่ต้องเตรียมความพร้อมให้ดี

วิธีการดูแลคือ ต้องหมั่นดูแลคันนา ดูแลวัชพืชถ้ามันเยอะก็ทำการกำจัดออก รักษาระดับน้ำด้วยการที่พ่อสีลาทำเป็นประจำจะรู้ว่าแปลงไหนสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ ใช้ความเคยชินและประสบการณ์ในการดูลักษณะของนาที่พ่อสีลาทำ ปุ๋ยส่วนใหญ่พื้นที่แถวนี้จะไม่ค่อยใช้กัน จะใช้อีกทีก็จะเป็นช่วงที่ข้าวตั้งท้องแต่น้อยที่จะใช้จริงๆ ไม่เกิน 1 เดือน

การใช้ปุ๋ยมี 2 สูตร คือ 1. สูตรเสมอ 2. ปุ๋ยยูเรีย ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหว่านบางๆ จะไม่ค่อยเป็นโรค ข้าวจะตั้ง ไม่ดีด ดูรวงมันก็จะพอดี รวมต้นทุนทั้งหมดต่อไร่ไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งรถเกี่ยวข้าวได้ใช้มา 3-4 ปีแล้ว ไม่พอสำหรับการใช้งานของเกษตรกร ทางสยามคูโบต้าได้นำมาให้ทดลองใช้เพื่อที่จะให้เยาวชนในหมู่บ้านได้มีอาชีพและรายได้ คิดว่าจะเพิ่มรถเกี่ยวอีกและได้มีการติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายอยู่เหมือนกัน

สำหรับการตลาดตั้งแต่มีกลุ่มมาส่วนใหญ่ก็จะนำมาขายที่กลุ่มเลย มีรถมารับถึงศูนย์ ทำให้มีทุนหมุนเวียนสำหรับซื้อข้าว แปรรูป และส่งให้กับคูโบต้าด้วย ข้าวของสมาชิกมีการรับซื้อราคาเท่ากับตลาด ส่วนมากจะมาขายกันที่ศูนย์เพราะไม่ต้องเดินทางไกล ไม่เสียค่าจ้างรถไปขายข้างนอก

หากข้าวเยอะเกินทางศูนย์จะมีการรวบรวมและนำไปขายให้โรงสีใหญ่ ช่วยให้ชีวิตการเป็นอยู่ดีขึ้น แม่บ้านที่ว่างงานอยู่ก็มาเป็นสมาชิกช่วยกันทำตรงนี้ ช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่งหลังการว่างงาน อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเครื่องจักรกลที่เห็นชัดๆ เลยภายในชุมชน เด็กวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี เข้ามาเรียนรู้การขับรถเกี่ยวข้าวจากศูนย์ของเรา

พ่อสีลามีหลานที่ทำอยู่ในศูนย์เรียนรู้เหมือนกัน ทำหน้าที่รับจ้างเกี่ยวข้าว ชาวบ้านคนไหนติดต่อไปเกี่ยวเขาก็จะไปพอเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง แต่ละปีมีค่าแรงในการขับรถเกี่ยวข้าวปีละแสน เขาจะมีทีมงานกี่คนก็แล้วแต่เขาจะหามา ค่าแรงที่ได้ก็จะแบ่งกัน ส่วนตัวพ่อสีลาเองก็ต้องติดตามดูเครื่องจักรกลเหมือนกัน เพราะว่าบางครั้งต่างพื้นที่เครื่องมันมีปัญหาขึ้นมา พ่อสีลาก็ต้องไปหาทางแก้ให้เขา

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในปัจจุบันมีดีจริงๆ เพราะทุกวันนี้มีแต่ผู้สูงอายุทำงาน หาวัยรุ่นจะไม่ค่อยมีแต่ให้อยู่กับพื้นที่ ทำไร่การเกษตรก็จะมีแต่อายุ 40 ขึ้นไป ทำการเกษตรมันก็มีความยากง่ายของมันอยู่ที่เราจะสามารถบริหารจัดการอย่างไรให้มันดี

ไร่นาสวนผสม 30 ไร่ ได้เงินล้าน

คุณศุภชัย เพียสามารถ อายุ 49 ปี บ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 11 บ้านแสงบูรพา ตำบลหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี แนวทางการทำเกษตรเริ่มแรกตอน พ.ศ. 2557 แต่ก่อนทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวมาก่อน ปลูกข้าวอย่างเดียวตอนนั้น 30 ไร่ พอรู้เรื่องของทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงนำแนวคิดตรงนี้มาปรับใช้ ที่เปลี่ยนมาทำทฤษฎีใหม่เพราะว่าแต่ก่อนปลูกข้าวได้ปีละครั้ง รายได้จากการขายข้าวก็ไม่สม่ำเสมอ สู้การลงทุนไม่ไหว จึงหันมาปลูกพืช ขุดร่องนา เลี้ยงปลา ปลูกผลไม้ เอาง่ายๆ ปลูกพืชต่างๆ ที่กินได้ เหลือจากนั้นเราก็ขาย

คุณศุภชัย เพียสามารถ

สัดส่วนที่แบ่งทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ 30 30 30 10 แล้วเรานำมาดัดแปลงได้พื้นที่เรา อาจจะไม่ถึง 30 แล้วก็แบ่งเป็นล็อกเป็นโซนไว้ แปลงนาเราแบ่งไว้เหลือ 5-6 ไร่ พืชยืนต้นเราก็ปลูกแบบผสมผสาน ปลูกเป็นแนวในคูสระ คูบ่อ แล้วก็ปลูกอ้อยสลับกับนา

ความแตกต่างจากที่เคยปลูกแบบเดี่ยว แตกต่างจากการปลูกแบบเดิมมากคือการอยู่การกินของเรา รายได้ ปลูกแบบผสมผสานจะมีรายได้ทุกอาทิตย์ เช่น มีกล้วย ฝรั่ง เป็นต้น นอกจากการปลูกพืชแล้วก็ยังมีการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงควาย บางอย่างเลี้ยงไว้ทั้งกินและขาย รายได้ส่วนใหญ่จะเป็นรายเดือนเฉลี่ย 4,000-5,000 บาท ทางครอบครัวจะมีบัญชีครัวเรือนเอาไว้บันทึกว่าพืชหรือสัตว์ชนิดไหนขายได้ ทำให้ครอบครัวมีรายได้พอใช้สอยต่างๆ ไปด้วย

ความคาดหวังจากนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม

คุณปัญญวุฒิ ล่วนเส้ง หรือ ไนซ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง บอกว่า รู้จักโครงการนี้จากพี่ๆ คูโบต้าที่ไปโรดโชว์ที่คณะจึงสมัคร

“เรามีความรู้ด้านวิศวกรรมแต่มาดูในเรื่องของเกษตรกรรมเพิ่มในอนาคตจะนำวิศวกรรมที่เราได้เรียนนั้นมาประยุกต์ใช้กับเกษตรกรรม การนำไปใช้ต่อยอดของเกษตรกรรมที่ผมเห็นคือ มันสามารถนำไปต่อยอดกับเกษตรกรรมมันยังล้าหลังอยู่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ผมคิดว่าสาขาวิชาที่ผมเรียนสามารถที่จะมาช่วยพัฒนาในด้านนี้ได้มาก สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้เยอะมาก แต่เราต้องรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน พื้นเพที่บ้านทำการเกษตรเป็นอาชีพรอง เลี้ยงเป็ด ปลูกยางพารา”

“สิ่งที่คาดหวังในการมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ คือผมยอมรับเลยว่าตั้งแต่มาค่ายวันแรก ผมกลายเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรม ทั้งๆ ที่ผมเรียนวิศวกรรมการเกษตร การปฏิบัติจริงๆ ยังไม่ทราบ พอมาเจอกับพ่อๆ แม่ๆ ที่นี่เขาเก่งมากน่ายอมรับและนับถือมาก แต่ผมก็มีความรู้ในส่วนของผมที่พร้อมที่จะนำมาปรับใช้เหมือนกัน สิ่งที่ผมจะนำมาเชื่อมด้วยกันก็จะมีระบบโรงเรือน การเกษตรกรที่ใช้แรงงานก็มีอยู่บ้าง มองในแง่ของผมเองตื่นมาไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะว่าเราวางระบบไว้หมดแล้ว ตอนเช้าอาจจะมีการรดน้ำ ใส่ปุ๋ยเองโดยผ่านระบบอัตโนมัติเข้ามาเกี่ยวข้องและจะทำให้ลดเวลา ลดแรงงานได้เยอะขึ้น อนาคตผมก็จะนำทั้งข้อดีและข้อเสียของเกษตรกรมาปรับใช้ให้มันดีขึ้น หลังจากจบโครงการครั้งนี้ผมก็จะนำประโยชน์ที่ผมได้ครั้งนี้ไปปรับใช้กับครอบครัวผมอย่างแน่นอน” คุณปัญญวุฒิ บอก

คุณชุติมา บำรุงเมือง หรือ อาย คณะนวัตกรรมการเกษตร สาขานวัตกรรมการจัดการเกษตร นักศึกษาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ชั้นปี 3 บอกว่า รู้จักโครงการนี้จากพี่ๆ เป็นเจ้าหน้าที่ของทางคณะส่งข้อมูลเข้าไปทางกลุ่มไลน์ของรุ่นและได้รับข่าวสารจากเพื่อนที่แนะนำข่าวสารจากเฟซบุ๊ก นำมาแชร์ต่อๆ กัน ที่ตัดสินใจในการเรียนคณะนี้เพราะว่าสนใจเรื่องของการทำเกษตร คิดว่าทางหลักสูตรของคณะค่อนข้างตอบโจทย์กับปัจจุบัน เราได้เรียนทั้งเกษตรและการตลาดด้วยกัน

ซึ่งการทำเกษตรในทุกวันนี้เราจำเป็นต้องมองการตลาดก่อนถึงจะประสบผลสำเร็จ ทางบ้านไม่ได้ทำการเกษตรส่วนนี้เป็นการชื่นชอบส่วนตัวเอง ที่ตัดสินใจร่วมโครงการครั้งนี้ด้วยความที่ว่าเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้คลุกคลีกับการเกษตรเท่าไร มีความคิดว่าถ้าเราได้มาเข้าค่ายครั้งนี้มันสามารถนำความรู้จากค่ายไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการเรียนต่อๆ ไปได้ คนรอบตัวส่วนใหญ่ที่บ้านก็จะทำการเกษตรอยู่แล้ว เราจึงมีข้อด้อยในส่วนตรงนี้

“หนูก็เลยมาหาประสบการณ์จากตรงนี้เพิ่ม จริงๆ แล้วในห้องเรียนกับการได้ออกมาอยู่โครงการนี้ไม่ได้มีความแตกต่างกันเท่าไร เพราะว่าทางคณะได้มีการพาไปลงพื้นที่จริงอยู่เรื่อยๆ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ทางดินหนูได้ไปทัศนศึกษาที่เป็นของกรมพัฒนาที่ดิน พอเรียนแล้วก็นำไปต่อยอดเพิ่มเติมอีกที ความคาดหวังของหนูคือการได้ลงมือทำก่อนที่จะไปเรียนในห้อง สิ่งที่จะนำไปปรับใช้กับการตลาดคือ ต้องดูทิศทางการตลาดทุกๆ ปีก่อนว่าปีนี้เป็นเรื่องของพืชอะไรที่เขานิยมกัน ปัจจัยทางด้านอากาศอย่างไรบ้างที่มีผลเกี่ยวกับพืชนี้และนโยบายของภาครัฐว่ามีการสนับสนุนอย่างไรบ้าง ต้องมีการเปรียบเทียบทั้งสองมุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเราถึงจะวางแผนการตลาดออกมาได้ อนาคตคิดว่าจะเป็นหนึ่งคนที่ช่วยในการขับเคลื่อนทางการเกษตรให้มีความพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป” คุณชุติมา บอก

“KUBOTA” ได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตรมาให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และพร้อมที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับสาขาวิชาที่ได้เรียนมา ความรู้ที่ได้แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน ได้สัมผัสและลงพื้นที่การทำเกษตรโดยแท้จริงอย่างที่เยาวชนหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน วิธีการทำเกษตรที่เป็นวิถีดั้งเดิมเพียงแต่นำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อลดความลำบากของเกษตรกร ทั้งนี้ เยาวชนทุกคนก็หวังว่าจะมีกิจกรรมดีๆ ที่ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเกษตรไทยให้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน อนาคตอาจจะทำให้การเกษตรของไทยก้าวหน้าเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน