โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระบรมราชานุเคราะห์ น่าน เสริมทำเกษตรแบบ GAP สร้างมาตรฐานอินทรีย์

จังหวัดน่าน ยังคงเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์และมีวัฒนธรรมเมืองยังคงอยู่ แม้ว่าสภาพความเป็นเมืองจะรุกคืบเข้าไปมากแล้วก็ตาม ยิ่งเมื่อออกนอกตัวเมืองไป ความเป็นอัตลักษณ์ของผู้คนยิ่งเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังคงมีเด็กนักเรียนมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามาศึกษากระจายไปยังโรงเรียนหลายแห่ง

โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระบรมราชานุเคราะห์ บ้านปางค่า หมู่ที่ 4 ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นโรงเรียนอีกแห่งที่ก่อตั้งมายาวนาน และเปิดให้การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนเอกชน แต่ปรับรูปแบบเข้าสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 37 มีนักเรียนจำนวน 468 คน

อาจารย์สุเชษฐ์ สิทธิสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระบรมราชานุเคราะห์ ให้ข้อมูลโรงเรียนว่า เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามพระราชประสงค์ และสงเคราะห์นักเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา เน้นสร้างอาชีพและสร้างรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งมีการทำนาข้าวอินทรีย์ ปลูกหม่อนกินผล ปลูกผักกางมุ้ง เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ เลี้ยงปลา เป็นต้น

มีนักเรียนพักนอน ร้อยละ 60 ของจำนวนนักเรียนในแต่ละปีการศึกษา นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวบิดามารดาหย่าร้าง บิดามารดาเสียชีวิต และครอบครัวที่ขาดความพร้อม ทั้งทักษะชีวิตและด้านการเงิน และมีภูมิลำเนาห่างไกลโรงเรียน ทั้งยังมาจากชาติพันธุ์หลายชนเผ่า เช่น ม้ง เมี่ยน ลั๊วะ ลื้อ ปกากะญอ (กะเหรี่ยง) ขมุ อาข่า และชาวเขา (ชนพื้นราบ)

เพราะโรงเรียนเน้นเรื่องการสร้างอาชีพและการสร้างรายได้ระหว่างเรียน ประกอบกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีโครงการส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยมฯ จึงเป็นโอกาสดีที่มกอช.เลือกเป็น 1 ในจำนวนโรงเรียน 6 แห่ง ของจังหวัดน่าน เพื่อนำร่องในการส่งเสริมมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice)

อาจารย์สุเชษฐ์ บอกด้วยว่า การที่มกอช.เข้ามาส่งเสริมการทำมาตรฐาน GAP ในโรงเรียน ก็ถือเป็นการดี เนื่องจากการผลิตอาหารตามโครงการอาหารกลางวัน ที่ก่อตั้งมากว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น ยังถือว่าไม่ได้มาตรฐาน แต่เพื่อการกินอยู่ที่พอเพียงของนักเรียน จึงดำเนินโครงการไปตามที่สามารถดำเนินได้

เมื่อมกอช.เข้ามาส่งเสริมการทำมาตรฐาน GAP ในโรงเรียน ก็เป็นเรื่องดี เพราะช่วยสร้างจิตสำนึกการผลิต การบริโภคสินค้าและอาหารที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ไปปฏิบัติได้จริง ด้วยการฝึกปฏิบัติไปพร้อมๆ กับการให้ความรู้จากวิทยากรของมกอช.ในมาตรฐาน GAP ด้วย

คุณนลินทิพย์ เพณี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช.

คุณนลินทิพย์ เพณี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช. กล่าวว่า โรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นเพียง 1 ใน 6 โรงเรียน ที่มกอช.เข้าไปส่งเสริมการทำมาตรฐาน GAP ในโรงเรียน ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต คือ ต้องการให้สถานศึกษาในประเทศไทย บรรจุเรื่องการปฏิบัติการเกษตรที่ดี GAP ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน

เพื่อให้เยาวชนที่จะเป็นเกษตรกรในอนาคต เป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ ผลิตสินค้าที่สามารถเพิ่มมูลค่า (ผลิตน้อย แต่ขายได้ราคาสูง) เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นกว่าสมัยก่อน เกษตรกรไทยในอนาคตก็จะเป็นผู้ที่มีรายได้สูง เป็นอาชีพที่มีเกียรติ

“เมื่อประเทศไทยมีเกษตรกรที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ก็ทำให้ผู้บริโภคในประเทศสามารถเข้าถึงและซื้อสินค้าที่มีคุณภาพได้ และเพิ่มการส่งออกได้มากขึ้น คนในประเทศก็มีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะการเลือกบริโภคแต่สิ่งที่มีประโยชน์ ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการรักษาพยาบาลได้ นอกจากนี้ ในส่วนของเยาวชนที่ได้เรียนรู้เรื่อง GAP แม้จะไม่ได้เป็นเกษตรกรในอนาคต แต่ก็สามารถรู้และเข้าใจ มีความตระหนักถึงการเลือกบริโภคได้มากขึ้นด้วย”

ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกด้วยว่า เด็กนักเรียนของโรงเรียนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทำลายป่า เราจึงอยากให้นักเรียนรู้จักการทำเกษตรแบบยั่งยืน เมื่อเราต้องการให้เกิดความยั่งยืนจึงบรรจุหลักสูตรวิชา นาข้าวอินทรีย์ สำหรับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อให้ได้เรียนทุกขั้นตอนของการทำนา

เพราะเป็นอาชีพของบรรพบุรุษ เพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ โดยข้าวที่ใช้ปลูกในแปลงนาข้าวอินทรีย์ มี 2 สายพันธุ์ คือ สันป่าตอง และ กข 6 ทั้งนี้ พื้นที่ที่แบ่งให้กับการเกษตรของโรงเรียนมีทั้งสิ้นประมาณ 9 ไร่

“หลังเลิกเรียนทุกวัน เด็กนักเรียนจะต้องลงแปลง ครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้นก็ต้องลงไปควบคุมกำกับดูแล แต่ไม่ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนในวิชาเรียน ให้ครูประจำวิชาพิจารณาจากความตั้งใจของนักเรียนเอง”

นางสาวกัญญารัตน์ สันกีม หรือ น้องมิ้นท์

นางสาวกัญญารัตน์ สันกีม หรือ น้องมิ้นท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้ากลุ่มปลูกผักบุ้ง เล่าว่า พื้นฐานที่บ้านปลูกผักสวนครัวหลายชนิด เช่น ผักบุ้ง พริก กะหล่ำปลี มะเขือเทศ ฟักทอง คะน้า ปลูกไว้มาก เน้นบริโภคในครัวเรือน

เมื่อเหลือก็ขายให้กับคนในหมู่บ้านที่เข้ามาถามขอซื้อ เพราะคนในหมู่บ้านจะรู้ว่า ผักที่ปลูกปลอดสารพิษ นอกจากนี้ หมู่บ้านที่อาศัยอยู่มีการหมุนเวียนทำการเกษตร เช่น การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักชีวภาพ แต่ละบ้านจะช่วยกันลงแรงในการทำเกษตรที่ต่างกัน เมื่อได้ผลผลิตจะนำไปแบ่งกัน เช่น การทำปุ๋ยหมัก เมื่อใช้ได้ก็จะนำมาแบ่งแต่ละครัวเรือนในหมู่บ้าน

“การปลูกผักสวนครัว ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งก่อนอื่นต้องพิจารณาว่าดินมีความสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน จากนั้นต้องบำรุงดินก่อน ถึงจะลงมือปลูกผัก และเมื่อพบแมลงศัตรูพืชในผัก ก็ให้เด็ดทิ้ง หรือใช้น้ำหมักชีวภาพพ่นกำจัด ผลผลิตที่ได้ก็ปราศจากสารเคมีแล้ว”

นายศุภกฤต มะโนราช หรือ น้องแม็ก

ด้าน นายศุภกฤต มะโนราช หรือ น้องแม็ก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้ากลุ่มถั่วฝักยาว เล่าว่า ได้รับเลือกเป็นหัวหน้ากลุ่มถั่วฝักยาว เป็นเพราะที่บ้านปลูกถั่วฝักยาว ผักคะน้า หอมด่วน ต้นหอม ผักชี พริก และมะเขือเทศ ส่งขายยังตลาดชุมชน โดยพืชผักที่กล่าวถึงจะปลูกหมุนเวียนไปตามฤดูกาล

ที่ผ่านมาจำเป็นต้องใช้สารเคมีบางระยะ หรือหากสามารถกำจัดโดยไม่ใช้สารเคมีได้ก็จะทำ เช่น พบแมลงศัตรูพืชก็ตัดใบส่วนนั้นทิ้ง ซึ่งการเข้ารับการอบรมกับวิทยากรของมกอช.ที่ส่งมาอบรมนั้น ก็ทำให้ทราบถึงข้อดีและคุณประโยชน์ของการทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ตนเองปรับเปลี่ยนแนวคิดการใช้สารเคมีกับแปลงผัก แม้ว่าจะใช้สารเคมีเป็นส่วนน้อย แต่การงดใช้สารเคมีจะดีกว่าแน่นอน

“การปลูกถั่วฝักยาวที่โรงเรียน ผมนำความรู้เดิมจากบ้านในการปลูกถั่วฝักยาวมาใช้ ยิ่งเมื่อได้รับความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ยิ่งทำให้ผมอยากทำมากขึ้น เพราะผลที่ตามมา นอกจากจะทำให้ได้บริโภคผักปลอดสารแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าเมื่อนำไปจำหน่ายได้อีกด้วย”

นางสาวจิดาภา แซ่ว่าง หรือ น้องโอเปิ้ล

ส่วน นางสาวจิดาภา แซ่ว่าง หรือ น้องโอเปิ้ล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หัวหน้ากลุ่มนาข้าวอินทรีย์ กล่าวว่า มกอช.เข้ามาให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะยังไม่ได้ลงมือในแปลงนาข้าว แต่ก็ใช้เป็นข้อมูลสำหรับการทำนาข้าวอินทรีย์ที่จะเกิดขึ้นของระดับชั้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับที่บ้าน ซึ่งปลูกข้าวและข้าวโพด และหากสามารถทำตามข้อแนะนำหรือข้อกำหนดในการทำเกษตรอินทรีย์ มาตรฐาน GAP ได้นั้น ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าในผลผลิตที่ได้ไม่น้อยทีเดียว

นางสาวกนกพร แซ่เฮ้อ หรือ น้องหมี

สำหรับ นางสาวกนกพร แซ่เฮ้อ หรือ น้องหมี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หัวหน้ากลุ่มผักคะน้า บอกว่า แปลงผักของโรงเรียนเริ่มปรับสภาพดินปลูกแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงปลูกในสัปดาห์ถัดไป ในการทำงานเกษตร จำเป็นต้องวางแผนเช่นเดียวกับการผลิตสินค้าชนิดอื่น เพื่อให้ได้คุณภาพ และผลผลิตขายได้ราคา

ซึ่งมกอช.อบรมและให้ข้อมูลเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐาน GAP มาแล้ว ทำให้เราเห็นภาพ เพราะอยู่ในพื้นที่ เช่น การปรับสภาพดินก่อนลงปลูกด้วยการนำมูลสัตว์ใส่ในดินให้เกิดแร่ธาตุ ดินก็ดีขึ้น ผลผลิตที่ได้ก็ดีขึ้น ผู้บริโภคก็ได้บริโภคผลผลิตที่ดี ไม่ว่าจะกินเองในครัวเรือนหรือนำไปขาย ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระบรมราชานุเคราะห์ จะเป็น 1 ในโรงเรียนที่ได้รับการส่งเสริมสนันสนุนการทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน จากมกอช. แต่เพื่อประโยชน์ของการทำเกษตรอินทรีย์ จะช่วยให้นักเรียนและโรงเรียนมีความยั่งยืนในการผลิตอาหาร และการสร้างรายได้ ทั้งรายได้เข้าโรงเรียนและตัวของนักเรียนเอง

ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารจัดการภายในโรงเรียนสามารถดำเนินไปได้ แต่ก็ยังขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกบางประการ ได้แก่ อาคารที่พักของนักเรียนที่มีภูมิลำเนาห่างไกล จึงจำเป็นต้องก่อสร้างอาคารพักสำหรับนักเรียนเพิ่ม

หากท่านใดต้องการบริจาคทรัพย์หรือร่วมทำบุญก่อสร้างอาคารพักสำหรับนักเรียน สามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์สุเชษฐ์ สิทธิ์สันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนันทบุรีวิทยา ในพระบรมราชานุเคราะห์ โทรศัพท์ (084) 809-9944 ได้ตลอดเวลา