“ส้มจุกจะนะ” คุณภาพ ขายออนไลน์ รับจองฤดูกาลละ 100 คิว เท่านั้น

เป็นเรื่องน่าทึ่งมาก เมื่อได้พูดคุยกับ คุณดนหลีม สุนทรมาลาตี เกษตรกรทำสวนส้มจุก เจ้าของสวนคุ้งคลองวัว หมู่ที่ 5 ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถึงการทำสวนส้มจุกจะนะ ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของอำเภอ และหารับประทานได้ยาก

คุณดนหลีม สุนทรมาลาตี (ซ้าย) และคุณอาซราน เต๊ะสอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ (ขวา)

สวนคุ้งคลองวัว ได้ชื่อว่าเป็นสวนส้มจุกคุณภาพ

จะเรียกว่าได้คุณภาพคือ ผลส้มต้องมีขนาดใหญ่ น้ำหนักรวม 3 ผล ประมาณ 1 กิโลกรัม หากเกินกว่านั้นก็น้ำหนักรวม 4 ผล ประมาณ 1 กิโลกรัม หากจำนวนผลส้มต่อ 1 กิโลกรัม มากเกิน 3-4 ผล ถือว่าตกเกรด

และเท่าที่ทราบ เมื่อผลผลิตเริ่มติด จะเปิดให้จองผ่านโซเชียล และรับคิวจองเพียง 100 คิว เท่านั้น ไม่มีหน้าร้าน ไม่ได้ขายในตลาดทั่วไป ส่วนปริมาณผลผลิตที่เกินกว่าจำนวน 100 คิว ที่จองไว้ จะแบ่งจำหน่ายให้กับคนในพื้นที่

กว่าจะได้ส้มจุกคุณภาพเช่นนี้ คุณดนหลีม เล่าให้ฟังว่า ราว 37 ปีก่อน เริ่มทดลองปลูกเพื่อเรียนรู้ โดยการทดลองปลูกต้นตอด้วยเมล็ดและกิ่งตอน และการเสียบยอด เพื่อทดลองว่า ต้นตอจากส้มชนิดใด ลักษณะใด ให้ผลผลิตได้ดี มีความแข็งแรง ทนทานต่อโรค และเจริญเติบโตได้ดีกว่า การทดลองนี้ คุณดนหลีมใช้เวลา 3-4 ปี เพื่อให้ต้นส้มอยู่ในวัยที่เริ่มให้ผลผลิต จึงพิสูจน์ได้ว่า ควรใช้ต้นตอจากส้มชนิดใด และควรปลูกอย่างไร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ตามที่ต้องการ

การห่อผล

ในที่สุดข้อสรุปของการปลูกส้มจุกจะนะให้ได้คุณภาพคือ การปลูกต้นตอด้วยส้มพันธุ์พื้นเมืองหรือส้มซ่า ที่มีคุณสมบัติเมล็ดมาก รสชาติเปรี้ยวจัด นำมาปลูกในสวนที่ทำลักษณะสวนแบบยกร่อง พื้นที่ 12 ไร่ เมื่อต้นตอมีอายุ 1 ปี จึงนำส้มจุกมาเสียบยอด แม้ว่าต้นตอจะมีคุณสมบัติอย่างไรก็ไม่มีผลต่อส้มที่นำมาเสียบยอด ทั้งยังช่วยให้ต้นส้มหาอาหารเก่ง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

การปลูกส้มจุกแบบเสียบยอด มีผลให้ต้นส้มสูงไม่เกิน 3 เมตร ดูแลง่าย เมื่อให้ผลผลิตไม่ต้องค้ำกิ่ง เก็บผลผลิตง่าย ไม่สิ้นเปลืองแรงงาน และให้ผลผลิตเร็ว ภายใน 2 ปีครึ่ง

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกระยะห่างระหว่างต้นและแถว 6×7 ทำให้ได้จำนวนต้นส้ม 50 ต้น ต่อไร่

คุณดนหลีม บอกว่า “จำง่ายๆ 8 เดือน เสียบ 2 ปีครึ่งเก็บ ได้ผลผลิต ต้นละ 40-50 กิโลกรัม”

ส้มจุกคุณภาพ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม มี 3 ผล

เมื่อถามว่า ส้มเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ดูแลยาก และมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวน คุณดนหลีม เล่าว่า สภาพดินก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องปรับวิธีการดูแล เช่น พื้นที่ร่องสวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นดินเหนียว อีกส่วนหนึ่งเป็นดินร่วนปนทราย การให้น้ำต้นส้มก็ไม่เหมือนกัน

เช่น ดินร่วนปนทราย ไม่จำเป็นต้องให้น้ำมาก เพราะดินเก็บน้ำได้ ส่วนดินเหนียวควรให้น้ำมาก เพราะหากปล่อยให้แห้ง ดินจะแตก ทำให้ต้นโทรม แต่ข้อดีของดินเหนียวคือ ผลผลิตที่ได้จะมีความหอมเข้มและหวานเข้ม

โรคที่พบมากที่สุดในส้มจุกคือ โรคต้นแตก ลักษณะของโรค มีรอยแตกตามต้น มียางใสเหนียวออกมา ในอดีตแก้ปัญหาด้วยการนำขี้วัวสดและเปลือกต้นสมัคร หรือใบหว้า นำมาหมักด้วยกัน 20 วัน จากนั้นคลุกให้เข้ากัน แล้วบีบเอาเฉพาะส่วนน้ำ นำโคลนมาเทรวมให้เข้ากันอีก แล้วนำไปทาบริเวณต้นที่แตก แต่สำหรับคุณดนหลีมแล้ว วิธีดังกล่าวใช้เวลาและยุ่งยาก คุณดนหลีมค้นพบวิธีใหม่ รักษาต้นแตกหายได้ โดยการนำสีเคลือบเงาไปทาบริเวณต้นที่แตก จากนั้นต้นจะหยุดแตก และเกิดเนื้อเยื่อขึ้นตามปกติ

ยกร่องสวน เพื่อการควบคุมน้ำ

“แปลงส้มที่นี่ จะใช้เคมีกระตุ้นเรื่องการแตกยอดเท่านั้น ส่วนขั้นตอนอื่นปลอดเคมีทุกขั้นตอน ดังนั้นต้องระวัง แม้ว่าเราจะต้องการปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ ก็ต้องดูว่าสัตว์นั้นๆ กินอาหารเม็ดสำเร็จรูปจากโรงงานหรือไม่ หากกินอาหารสำเร็จรูป ก็ถือว่าได้รับสารที่ส่วนเจือปนกับเคมีมา ก็นำมาใช้ไม่ได้ เพราะจะเสี่ยงต่อโรครากเน่าตามมา”

แต่คุณดนหลีมก็ยอมรับว่า ส้มจุกเป็นพืชในตระกูลส้มที่ดูแลยากกว่าส้มชนิดอื่น

“การให้น้ำในส้ม ให้มากยิ่งดี โดยเฉพาะช่วงติดลูก เพราะหลังติดลูกเพียง 8-9 เดือน ผลส้มจะสุก ยิ่งไว้นานก็ยิ่งรสชาติดี แต่ให้ระวัง เพราะช่วงที่ติดผล 8-10 เดือน อาจจะเป็นช่วงฝน ถ้าเป็นฤดูฝน ไม่ควรไว้นาน เพราะจะทำให้ส้มรสชาติจืดลง”

ที่ผ่านมา สวนคุ้งคลองวัว ไม่ได้บังคับให้ส้มติดผลนอกฤดู ปล่อยให้ส้มติดผลตามฤดูกาล หากสภาพอากาศเริ่มแล้ง ก็ปล่อยให้แล้ง หากต้องการให้ส้มติดก็เริ่มให้น้ำ เมื่อให้น้ำ ส้มจะติดดอกและให้ผลผลิตตามลำดับและระยะเวลาของส้ม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เคมีใดๆ ช่วย

หลังส้มติดผลประมาณ 1 เดือน ให้เริ่มตัดแต่งผล เลือกผลสวย จุกสวย ผิวสีเขียวเข้ม โครงสร้างผลดีไว้ และประเมินว่ากิ่งส้มรับน้ำหนักผลส้มได้เท่าไร ก่อนจะปลิดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง เพื่อให้ได้ผลส้มที่มีคุณภาพ

เมื่อผลผลิตมีอายุ 2 เดือน เริ่มห่อผลด้วยโฟม ป้องกันแมลงและช่วยให้ผิวดี

ที่ผ่านมา ส้มอายุ 3-4 ปี ให้ผลผลิต 50-60 กิโลกรัม ต่อต้น

เมื่อส้มอายุมากขึ้น จะให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน ต้นส้มอายุ 7 ปี ให้ผลผลิตมาก แต่ตัดแต่งแล้วเหลือผลผลิตที่ได้คุณภาพประมาณ 150 กิโลกรัม ต่อต้น

ควรตัดแต่งต้นส้มเมื่อต้นส้มมีอายุ 3 เดือน ให้กิ่งด้านในโล่ง โปร่ง ไม่ถูกรบกวนจากแมลง

โดยสรุป การปลูกส้มจุกไม่ได้ยากอย่างที่คิด แม้ว่าส้มจุกจะเป็นพืชตระกูลส้มที่ดูแลยากที่สุดกว่าส้มชนิดอื่น เมื่อส้มอายุมากขึ้นก็ตัดออก แล้วปลูกต้นตอตามด้วยเสียบยอดใหม่เข้าไป

“การปลูกส้มไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องละเอียดและใส่ใจทุกขั้นตอน พื้นที่ 12 ไร่ ที่ปลูกส้มจุกปัจจุบัน ใช้แรงงาน 2 คน คือผมกับลูกชาย ผมเป็นหลักในการดูแล ลูกชายช่วยเรื่องการตลาด ลงขายออนไลน์ในเฟซบุ๊ก เปิดให้จองออนไลน์ตั้งแต่ 3 ปีก่อน ฤดูกาลละ 100 คิว เท่านั้น ในจำนวน 100 คิว ที่จองเข้ามาเมื่อครบจะปิดรับ และลูกค้า 100 คิว จะได้ส้มจุกคุณภาพ ที่มีน้ำหนัก 3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนส้มจุกขนาดอื่น เราก็แบ่งขายให้กับคนในพื้นที่ได้กินของดีบ้าง หรือนำไปวางขายในตลาดบ้าง”

ลูกค้าที่จองคิวออนไลน์เข้ามา มีทั่วประเทศ การซื้อขายก็เป็นไปตามการตลาดออนไลน์ทั่วไป สั่งจอง โอนเงิน และส่งของยังปลายทางให้กับลูกค้า

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำสวนต้องใช้ต้นทุนสูง คุณดนหลีม บอกว่า แท้จริงแล้วการทำสวนที่ใช้ต้นทุนสูง เพราะใช้เคมีเป็นส่วนประกอบ แต่เมื่อไม่ใช้เคมี ต้นทุนจะลดลง เช่น สวนคุ้งคลองวัวแห่งนี้ ปลูกส้มจุก 12 ไร่ ใช้เงินลงทุนแต่ละปี ประมาณ 10,000 บาท แต่ขายได้ฤดูกาลละกว่า 100,000 บาท

เห็นเช่นนี้แล้ว อาจจะอยากเรียนรู้วิธีการดูแลสวนส้มจากคุณดนหลีม ทางคุณดนหลีมยินดีให้ข้อมูลในทุกประเด็นคำถาม ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณดนหลีม สุนทรมาลาตี หมู่ที่ 5 ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หรือสวนคุ้งคลองวัว โทรศัพท์ (089) 878-0382 หรือสืบค้นข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ส้มจุก บ้านแคเหนือ ได้ตลอดเวลา